สรุปตำนาน SEIKO นาฬิกาญี่ปุ่น ผู้ท้าชิงความเที่ยงตรง กับนาฬิกาสวิส

สรุปตำนาน SEIKO นาฬิกาญี่ปุ่น ผู้ท้าชิงความเที่ยงตรง กับนาฬิกาสวิส

9 มี.ค. 2023
สรุปตำนาน SEIKO นาฬิกาญี่ปุ่น ผู้ท้าชิงความเที่ยงตรง กับนาฬิกาสวิส | BrandCase
ถ้านึกอยากจะมีนาฬิกาข้อมือดี ๆ สักเรือน
หลายคนน่าจะต้องอยากได้ นาฬิกาที่ประทับตรา “Swiss Made”
เพราะสวิตเซอร์แลนด์ เป็นแหล่งกำเนิดนาฬิกาแบรนด์ดัง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Rolex, Patek Philippe
สวิตเซอร์แลนด์ ยังมีบริษัทนาฬิกาที่ใหญ่สุดในโลก อย่าง The Swatch Group ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์อย่าง OMEGA, Longines
แต่ข้ามมาในอีกซีกโลกหนึ่ง ก็มีดินแดนที่มีแบรนด์นาฬิกาที่มีชื่อเสียง และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพเหมือนกัน ประเทศนั้นคือ ญี่ปุ่น
และถ้าพูดถึงนาฬิกาแบรนด์ญี่ปุ่นที่ดัง ๆ ก็ต้องพูดถึง “SEIKO”
ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น แบรนด์นาฬิกา ที่เป็นผู้ท้าชิงความเที่ยงตรง กับนาฬิกาสวิส
เรื่องราวของ SEIKO มีอะไรน่าสนใจ ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1873 ญี่ปุ่นยังอยู่ในช่วงยุคเมจิ ที่เริ่มเปิดรับนวัตกรรมใหม่ ๆ จากฝั่งยุโรปเข้ามา
ซึ่งถ้าเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ในไทยตอนนั้น คือสมัยรัชกาลที่ 5
ในญี่ปุ่นมีเด็กที่หลงใหลในนาฬิกาคนหนึ่งชื่อ คุณคินทาโร ฮัตโตริ (Kintaro Hattori)
เขาฝึกหัดเป็นช่างทำนาฬิกาตั้งแต่อายุ 13 ปี
พออายุได้ 21 ปี เขาก็เปิดร้านเล็ก ๆ ชื่อ K.Hattori ตามชื่อของตัวเอง ในกรุงโตเกียว เพื่อนำเข้านาฬิกาจากฝั่งตะวันตกมาขายที่ญี่ปุ่น
ระหว่างที่เปิดร้านนำเข้าสินค้า คุณฮัตโตริก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกลไก และนวัตกรรมการผลิตนาฬิกาแบรนด์ดังจากฝั่งยุโรป
ทำไปเรื่อย ๆ ก็ตัดสินใจผลิตนาฬิกาออกมาจำหน่ายเอง โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า SEIKO
ซึ่งคำว่า SEIKO ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ความยอดเยี่ยม และความสำเร็จ
พร้อมกับตั้งบริษัทชื่อ Seikosha และเปิดโรงงานขึ้นในปี 1892
SEIKO เริ่มต้นจากการผลิตนาฬิกาแขวนที่ใช้ตามในบ้านก่อน
แล้วค่อยเริ่มผลิตนาฬิกาข้อมือขึ้นในปี 1913
ต้องบอกว่าในช่วงนั้น เป็นยุคที่คนญี่ปุ่น ยังต้องแต่งตัวเป็นทางการ และใส่สูทออกนอกบ้าน
เมื่อคิดได้ดังนี้ คุณฮัตโตริก็พยายามย่อส่วนของนาฬิกา พร้อมด้วยกลไกต่าง ๆ ให้มีขนาดเล็กลง
เพื่อให้สะดวกต่อการสวมใส่นอกบ้าน และเชื่อมใส่สาย กลายเป็นนาฬิกาข้อมือเรือนแรกของญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีคำว่า SEIKO บนหน้าปัดนาฬิกา
หลังจากที่ตั้งโรงงาน Seikosha เพื่อผลิตนาฬิกา SEIKO ได้ไม่นาน
โรงงานก็ดันมาพังทลายลง จากวิกฤติแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นครั้งใหญ่ ในปี 1923
หลังจากแผ่นดินไหวเพียงแค่ 1 ปี ทางบริษัทก็ซ่อมแซมโรงงานใหม่จนพร้อม และออกจำหน่ายนาฬิกาข้อมือ ที่มีชื่อแบรนด์ SEIKO ติดที่ตัวนาฬิกาเป็นเรือนแรก
ซึ่งตอนนั้นนาฬิกา SEIKO ได้ขึ้นชื่อว่า มีความแม่นยำที่สุด แถมยังมีราคาถูก จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับชาวญี่ปุ่น
จนทำให้นาฬิกาแบรนด์ยุโรปที่นำเข้ามาขายในญี่ปุ่น ที่มีราคาแพงกว่าในเวลานั้น ต้องหายไปเกือบทั้งหมด
นอกจาก SEIKO จะทำให้เรื่องของเวลา เป็นเรื่องง่ายสำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว
SEIKO ก็ยังได้ลงทุนในโปรเจกต์ต่าง ๆ เพื่อช่วยประเทศ และรัฐบาลญี่ปุ่นในเวลานั้นด้วย
ไม่ว่าจะเป็น
-สร้างหอนาฬิกา SEIKO ที่ย่านกินซ่า (Ginza) ในปี 1932 เพื่อให้คนที่เดินผ่าน สามารถรับรู้เวลาได้
ซึ่งปัจจุบัน หอนาฬิกานี้ ได้เป็นพิพิธภัณฑ์นาฬิกาของ SEIKO และเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของย่านกินซ่าไปแล้ว
-ผลิตนาฬิกาให้กับทหารญี่ปุ่น และเปิดโรงงานเพื่อผลิตกระสุนและอาวุธ เพื่อต่อสู้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก็เป็นองค์ความรู้ ในการผลิตนาฬิกา SEIKO ให้มีความทนทานมากขึ้น
ต่อมาในทศวรรษ 1950s แบรนด์นาฬิกาสวิส ต่างก็พัฒนานาฬิการุ่นใหม่ ๆ ให้มีคุณภาพ และมีความเรียบหรูน่าใช้มากขึ้น
ซึ่ง SEIKO ในขณะนั้น ก็ได้ใช้กลยุทธ์ในการแยกแบรนด์ เป็น 2 แบรนด์หรู
นั่นคือ Grand SEIKO และ King SEIKO
โดยทั้ง 2 แบรนด์จะผลิตจากคนละโรงงานกัน
โดย SEIKO ตั้งใจให้ทั้ง 2 แบรนด์ได้แข่งขันกันเอง และพัฒนานาฬิกาในแบรนด์ของตัวเอง
ให้ดีมากพอ เพื่อเอาชนะแบรนด์นาฬิกาสวิส
แต่ก็ต้องบอกว่าในช่วงเวลานั้น SEIKO เองก็ได้เจอกับความท้าทายหลายอย่างด้วยกัน
-อย่างแรกคือ ดิไซน์ ของนาฬิกาที่ยังไม่ตอบโจทย์
แม้นาฬิกา SEIKO จะเป็นที่นิยมสำหรับชาวญี่ปุ่น แต่ก็ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมสำหรับชาวต่างชาติเท่าไรนัก
ซึ่ง SEIKO เองก็ได้พบจุดอ่อนว่า ดิไซน์ของตัวนาฬิกานั้น ดูเรียบและธรรมดาเกินไป สู้ดิไซน์ของแบรนด์นาฬิกาสวิสไม่ได้
เพื่อแก้ไขจุดอ่อนตรงนี้ SEIKO จึงได้จ้างดิไซเนอร์ชื่อดังชาวญี่ปุ่น ชื่อว่า คุณทาโร ทานากะ
ผู้มีสไตล์การออกแบบที่หวือหวา ไม่น่าเบื่อ แต่ก็ยังมีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น ให้มาร่วมทีมออกแบบนาฬิกาของ SEIKO
ซึ่งคุณทาโร ทานากะ คนนี้ ก็คือ คนที่ทำให้นาฬิกา SEIKO มีหน้าตาในแบบที่เราเห็นทุกวันนี้
-อย่างที่สอง คือ ความแม่นยำ ที่ยังไม่มากพอ
SEIKO ได้เอานาฬิกากลไกของทั้งแบรนด์ Grand SEIKO และ King SEIKO ไปทดสอบความแม่นยำ แข่งกับนาฬิกาสวิส
ผลคือ นาฬิกาทั้ง 2 แบรนด์ แพ้ในเรื่องความแม่นยำให้กับแบรนด์นาฬิกาสวิสอยู่หลายครั้ง
แต่ SEIKO ทั้ง 2 แบรนด์ ก็ยังพยายามผลิตนาฬิการุ่นใหม่ ๆ ให้มีความเที่ยงตรง และแม่นยำมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อทำการทดสอบใหม่
จนสุดท้ายก็ทำมาตรฐานเทียบเคียง และชนะนาฬิกาสวิสได้
และจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการนาฬิกา ก็เกิดขึ้น..
เมื่อในปี 1969 SEIKO พัฒนานาฬิกาข้อมือระบบควอตซ์ ออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกของโลก
ชื่อรุ่นว่า “Astron 35SQ”
Astron 35SQ มีความแม่นยำมากกว่า นาฬิกากลไกขึ้นลานด้วยมือ และกลไกขึ้นลานอัตโนมัติ (Automatic) ที่ถือเป็นธรรมเนียมเดิมของนาฬิกาสวิส
จุดสำคัญคือ นาฬิกาควอตซ์ มีราคาถูกมาก
จึงทำให้นาฬิกาควอตซ์ของ SEIKO รวมถึงนาฬิกาญี่ปุ่น แบรนด์ที่ทำนาฬิกาควอตซ์ เช่น Citizen ได้รับความนิยมไปทั่วโลก อย่างรวดเร็ว
พอคนทั่วโลกหันมาซื้อนาฬิกาควอตซ์กันมาก เพราะราคามันเข้าถึงง่าย
ก็เกิดเป็นวิกฤติการณ์ควอตซ์ หรือ Quartz crisis ที่ดิสรัปต์อุตสาหกรรมนาฬิกาทั่วโลกที่ยังใช้ระบบกลไก โดยเฉพาะนาฬิกาสวิส
ที่น่าสนใจคือ Quartz crisis ก็ทำให้แบรนด์นาฬิกาทั้ง 2 แบรนด์ของ SEIKO
อย่าง Grand SEIKO และ King SEIKO ที่เป็นแบรนด์เน้นทำนาฬิกาขึ้นลาน ได้รับผลกระทบ จนต้องปิดตัวลงเช่นกัน
ส่วนในฝั่งของนาฬิกาสวิส ตั้งแต่ปี 1977-1983
มูลค่าการส่งออกของนาฬิกาสวิส ลดลงไปราวครึ่งหนึ่ง และทำให้ส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลงจาก 43% เหลือน้อยกว่า 15%
วิกฤติในครั้งนี้ ทำให้บริษัทนาฬิกาของสวิตเซอร์แลนด์ ยักษ์ใหญ่ 2 ราย
นั่นคือ ASUAG และ SSIH (เจ้าของนาฬิกาแบรนด์ดังอย่าง Omega, Longines, Tissot, Rado, Mido)
ต้องประสบปัญหาอย่างหนัก จนเกือบต้องขายกิจการให้กับบริษัทในญี่ปุ่น
แต่ในเวลาต่อมา ASUAG และ SSIH ก็แก้เกม ด้วยการควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน กลายเป็นบริษัทใหม่ ที่ชื่อว่า The Swatch Group ที่ในวันนี้กลายเป็นบริษัทนาฬิกาใหญ่สุดในโลก
The Swatch Group ก็แก้เกมเพื่อสู้ในศึกนาฬิกาควอตซ์ ด้วยการทำแบรนด์ใหม่ขึ้นมา ชื่อว่า “Swatch” ในปี 1983
โดยแบรนด์ Swatch เน้นทำนาฬิกาดิไซน์ที่เรียบง่าย ทันสมัย เน้นผลิตด้วยระบบควอตซ์
และเน้นราคาเข้าถึงง่าย เพื่อมาสู้กับนาฬิกาควอตซ์ของฝั่งญี่ปุ่น อย่าง SEIKO
ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1990s กระแสนาฬิกาหรู ที่ไม่ใช่ระบบควอตซ์ ได้เริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง
และกระแสการสะสม เป็นตัวเก็บมูลค่า เริ่มกลับมาบูมขึ้น
แบรนด์นาฬิกาจากสวิตเซอร์แลนด์ อย่าง Rolex, Longines และ Patek Philippe
รวมถึงแบรนด์ใน The Swatch Group อย่างเช่น Omega, Breguet, Longines ก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ส่วนทางด้านของแบรนด์ SEIKO ก็นำแบรนด์ Grand SEIKO มาวางหมากเป็นแบรนด์ระดับ Hi-end อย่างเต็มตัว
มาจนถึงวันนี้ SEIKO เรียกว่าเก็บตลาดนาฬิกาข้อมือได้ค่อนข้างครบ
ทั้งนาฬิการะบบกลไกดั้งเดิม และระบบควอตซ์ที่ต้องใส่ถ่าน ที่ราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักพัน ไปจนถึงหลักหลายหมื่นบาท
และยังมีนาฬิกาหรูระดับสูงในมือ อย่าง Grand Seiko ที่ขายนาฬิกาเรือนละหลักแสนบาท เน้นกลไกที่ซับซ้อน และดิไซน์คลาสสิก เอกลักษณ์สไตล์ญี่ปุ่น
ขณะที่ฝั่งนาฬิกาสวิส อย่าง The Swatch Group ก็เก็บครบเหมือนกัน โดยมีแบรนด์ในเครือ ที่ขายนาฬิกาหลายระดับราคา ไล่ตั้งแต่
ระดับ Luxury เช่น Omega
ระดับ High Range เช่น Longines
ระดับ Middle Range เช่น Tissot
ระดับ Basic เช่น Swatch
แต่ไม่ว่าทั้ง 2 ฝั่งนี้จะแข่งขันกันอย่างดุเดือดแค่ไหน
สุดท้ายทั้งคู่ก็มีคู่แข่งคนสำคัญ ที่ต้องเจอเหมือนกันอยู่ดี
นั่นก็คือ “Smart Watch” ที่มาขายฟังก์ชันการใช้งานอื่น มากกว่าเอาไว้ดูแค่เวลา..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.