“ไอกิโด” ศิลปะต่อสู้ญี่ปุ่น ที่กลายเป็น โมเดลธุรกิจ แบบหลบแล้วสวนกลับ

“ไอกิโด” ศิลปะต่อสู้ญี่ปุ่น ที่กลายเป็น โมเดลธุรกิจ แบบหลบแล้วสวนกลับ

1 มี.ค. 2023
“ไอกิโด” ศิลปะต่อสู้ญี่ปุ่น ที่กลายเป็น โมเดลธุรกิจ แบบหลบแล้วสวนกลับ | BrandCase
Aikido (อ่านว่า “ไอกิโด”) เป็นศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น
ที่ไม่ได้เน้นออกหมัด เตะต่อย ใส่คู่ต่อสู้เหมือนศิลปะการต่อสู้ทั่ว ๆ ไป แต่เน้นการหลบหลีก ป้องกันตนเอง แล้วค่อยสวนกลับ
ซึ่งศิลปะการต่อสู้แบบ ไอกิโด ก็ถูกนำไปประยุกต์ใช้เป็นโมเดลธุรกิจ
แล้ว ไอกิโด สามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจ ได้อย่างไร ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ศิลปะการต่อสู้แบบไอกิโด อธิบายให้เห็นภาพคือ ลองนึกถึงท่าทางอย่างเช่น การหลบคู่ต่อสู้ แล้วจับเหวี่ยงลงพื้น
หรือพูดง่าย ๆ ว่า การต่อสู้แบบนี้ เน้นการหลบหลีก แล้วค่อยสวนกลับ
ซึ่งถ้าเอามาพูดกันในเชิงการทำธุรกิจ
ท่วงท่าแบบนี้ ก็คือการปรับกลยุทธ์ของเรา ให้ไม่ไปชนกับคู่แข่งตรง ๆ
แต่พยายามเอาชนะ หรือหาทางรอด ด้วยการทำในสิ่งที่คู่แข่งยังไม่ทำ หรือเป็นช่องว่างอยู่
ซึ่งถ้าลองหยิบเอาเคสใกล้ ๆ ตัวคนไทย ที่อธิบายแนวทางการทำธุรกิจแบบไอกิโด ก็อย่างเช่น
-ร้านสะดวกซื้อ CJ Express กับ 7-Eleven
CJ Express ได้ใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมืองเป็นหลัก โดยเริ่มต้นขยายธุรกิจจากจังหวัดราชบุรี และขยายสู่เมืองรองอื่น ๆ ก่อนจะเข้ามาบุกตลาดกรุงเทพมหานคร
ซึ่งแตกต่างจาก 7-Eleven ที่เริ่มต้นขยายธุรกิจจากเมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพมหานครก่อน
นอกจากนี้ CJ Express ก็ยังเน้นขยายสาขาร้านสะดวกซื้อ ไปยังเขตชุมชนเมืองเป็นหลัก เจาะกลุ่มผู้มีรายได้ไม่ได้มาก เปรียบเสมือนร้านโชห่วยของชุมชน ที่เน้นขายสินค้าในราคาถูก
ซึ่งจะแตกต่างจากร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ตรงที่ 7-Eleven จะเน้นการทำธุรกิจเชิงรุก โดยจะเจาะกลุ่มลูกค้าทั่วไป และเน้นความสะดวกสบายเป็นหลัก
-อิชิตัน กับ โออิชิ
ตอนที่ อิชิตัน เริ่มเปิดตัว ก็ใช้กลยุทธ์ในการหลบหลีกคู่แข่งรายใหญ่ อย่างโออิชิ ด้วยการเปิดตัวเครื่องดื่มรสชาติใหม่ หรือมีจุดเด่นที่แตกต่าง
โดย อิชิตัน ทำน้ำชาเขียว จากใบชาออร์แกนิกจากธรรมชาติ เป็นรายแรกในเมืองไทย ออกจำหน่ายครั้งแรกในปี 2554
จนมาถึง เครื่องดื่มที่เปิดตัวไปล่าสุดอย่าง “ตันซันซู” น้ำซ่าไม่มีแอลกอฮอล์ กลิ่นโซจู รายแรกในเมืองไทย
การคิดค้นเครื่องดื่มรสชาติใหม่ออกมาเรื่อย ๆ
ทำให้ อิชิตัน ไม่ต้องไปแข่งขันกับแบรนด์เครื่องดื่มรายอื่นโดยตรง
-สุกี้ตี๋น้อย กับ สุกี้ MK
ต้องยอมรับว่าสุกี้ MK แข็งแกร่งในฐานะของสุกี้ภาพลักษณ์พรีเมียม เหมาะสำหรับการทานเป็นครอบครัว
สุกี้ตี๋น้อย ก็มีกลยุทธ์การแข่งขันในแบบของตัวเอง อย่างเช่น
-ทำร้านบุฟเฟต์แบบเหมาจ่าย มีรายการอาหารให้เลือกเยอะ ราคาเข้าถึงง่าย เริ่มต้น 219 บาท
-เปิดตั้งแต่เที่ยงวัน ยันตีห้า เพื่อรองรับลูกค้า เพราะรู้ว่ามีกลุ่มคนหิวและอยากกินสุกี้ตอนดึก ซึ่งตรงนี้คือจุดบอดของ MK และอีกหลายร้านสุกี้ ที่เปิดแค่ตอนกลางวัน ถึงช่วงค่ำ ๆ
ที่ว่ามา ก็คือตัวอย่างที่ยกขึ้นมาให้เห็นภาพชัด ๆ
ว่าถ้าเอาแนวคิด ไอกิโด มาปรับใช้ในเชิงธุรกิจ มันจะมีหน้าตาเป็นแบบไหน
ซึ่งหัวใจของเรื่องนี้ก็คือ การทำธุรกิจเพื่อสู้กับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน ถ้าเรารู้ว่าเขาเก่งอะไร เด่นตรงไหน ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดหน้าแลกกันตรง ๆ
เพราะอีกท่าที่ทำได้ คือหลบไปทำในสิ่งที่เขายังไม่ได้ทำ
ซึ่งมันอาจจะกลายเป็น “หมัดฮุก”
ที่เราสวนกลับคู่แข่ง ได้แบบแรง ๆ เลยก็ได้..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.