กรณีศึกษา Sushiro ฝังชิปไว้ใต้จาน เอาไว้ใช้คิดเงิน และจัดการอาหาร

กรณีศึกษา Sushiro ฝังชิปไว้ใต้จาน เอาไว้ใช้คิดเงิน และจัดการอาหาร

23 ก.พ. 2023
กรณีศึกษา Sushiro ฝังชิปไว้ใต้จาน เอาไว้ใช้คิดเงิน และจัดการอาหาร | BrandCase
“ติ๊ด ติ๊ด ติ๊ด ติ๊ด ติ๊ด ติ๊ด.. จานสีแดง 13 จาน จานสีเงิน 18 จาน จานสีทอง 15 จาน จานสีดำ 12 จาน
ยอดของลูกค้า 4,664 บาทค่ะ เชิญชำระบิลได้ที่หน้าเคาน์เตอร์ค่ะ” ..
ถ้าใครที่เคยไปกินซูชิสายพาน ที่ร้าน Sushiro คงคุ้นเคยกับเสียงติ๊ด ๆ เวลาที่พนักงานใช้เครื่องนับจาน เพื่อเก็บเงินจากเราเป็นอย่างดี
ซึ่งเสียงติ๊ด ๆ ที่เราได้ยินเวลานับจาน
มันมาจากชิป ที่เรียกว่า IC tag ที่ติดอยู่ใต้จานซูชิ
แต่ทุกคนรู้หรือไม่ว่า IC tag ใต้จานซูชิที่ว่านี้ มันไม่ได้มีหน้าที่แค่นับจานเพียงอย่างเดียว
แล้ว IC tag บอกอะไรเราได้อีกบ้าง
BrandCase จะสรุปให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
เล่ากันก่อนว่า IC tag ย่อมาจาก Integrated Circuit Tag
ซึ่งมันคือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นกลม ๆ เล็ก ๆ ที่มีหน้าที่เอาไว้เก็บข้อมูล
โดยจะฝังมันเอาไว้ใต้จานซูชิทุกใบในร้าน Sushiro
โดยเมื่อเราจะเช็กบิล พนักงานก็จะใช้เครื่องมือที่มีเซนเซอร์มานับจาน โดยเซนเซอร์มันก็จะนับจานจาก IC tag ที่อยู่ใต้จานแต่ละจาน นั่นเอง
ซึ่งรู้ไหมว่า IC tag ไม่ได้บอกแค่ว่า เรากินไปกี่จาน แต่ยังทำอย่างอื่นได้อีกด้วย คือ
-บันทึกว่าซูชิประเภทไหนอยู่บนจาน
-นับระยะทาง เมื่อจานเริ่มวิ่งบนสายพาน
-บันทึกว่าลูกค้ารับจานซูชิไปตอนไหน
แล้วทางร้าน Sushiro จะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้จาก IC tag ใต้จานซูชิไปทำอะไร ?
1.ช่วยให้ร้านแทร็กได้ว่า อาหารจานไหน วิ่งอยู่บนสายพานนานเกินไปแล้ว
อย่างกรณีของร้านซูชิสายพาน Sushiro ที่มีการควบคุมความสดใหม่ของอาหารบนสายพาน IC tag ก็ช่วยเรื่องนี้ได้
โดยเมื่อมีซูชิจานไหนวิ่งบนสายพานเกิน 350 เมตร (ประมาณ 40 นาที) ซูชิจานนั้นก็จะถูกนำออกจากสายพานโดยอัตโนมัติ
2.ช่วยให้รู้ว่า ต้องทำซูชิแบบไหนมาก แบบไหนน้อย ลดขยะเหลือทิ้ง
ข้อมูลที่ได้จาก IC tag ใต้จานซูชิ จะช่วยให้เชฟรู้ว่าซูชิประเภทไหน ต้องนำไปใส่สายพานเพิ่ม หรือซูชิประเภทไหนที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ
เชฟก็จะเตรียมเมนูนั้น ได้ทันต่อความต้องการของลูกค้าที่มากินที่ร้าน
มากไปกว่านั้น ร้าน Sushiro ยังวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า หลังจากลูกค้านั่งไปแล้ว 1 นาที หรือ 15 นาที ลูกค้าจะหยิบจานซูชิออกไปกี่จาน และต้องเสิร์ฟจานต่อไปเป็นซูชิประเภทไหนต่อจากเมนูก่อนหน้า
เมื่อเป็นแบบนี้ก็จะทำให้ร้าน สามารถควบคุมสต็อกวัตถุดิบได้แม่นยำมากขึ้น
และข้อมูลจากเว็บไซต์ d3.harvard บอกว่าร้าน Sushiro สามารถลดขยะที่เกิดจากอาหารเหลือทิ้งจาก 10% เหลือแค่ 4% จากการใช้ข้อมูลที่ได้จาก IC tag ใต้จานซูชิ
3.นำไปวิเคราะห์ทำโปรโมชัน และเมนูแนะนำ
ข้อมูลจาก IC tag ใต้จานซูชิที่ได้มา ทำให้ร้าน Sushiro รู้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่ชอบอะไร และร้านก็สามารถนำเมนูเหล่านั้นไปจัดเป็นโปรโมชัน เพื่อกระตุ้นยอดขายได้
หรือถ้าลูกค้ามีแนวโน้มที่จะชอบซูชิประเภทไหนมากเป็นพิเศษ ร้าน Sushiro ก็จะได้ลองทำเมนูใหม่ หรือเมนูแนะนำให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น
สรุปสั้น ๆ คือ IC tag ใต้จานซูชิ เป็นตัวเก็บข้อมูลตั้งแต่เริ่มออกวิ่งบนสายพาน จำทุกอย่างตั้งแต่ซูชิบนจานคือประเภทอะไร
รู้ว่าจานนี้ถูกหยิบไปตอนไหน ลูกค้าคนไหนเป็นคนหยิบไป ไปจนถึงถ้าจานไหนวิ่งเกิน 350 เมตร ก็จะถูกเตะออกนอกสายพานอัตโนมัติ
ซึ่งประโยชน์ของมันก็คือ ช่วยให้ร้านสามารถควบคุมคุณภาพของอาหารได้ และจัดโปรโมชันให้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น
รวมไปถึงหลังบ้านที่สต็อกสินค้าได้แม่นยำขึ้น และควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งเกิดกระแสดราม่า
วัยรุ่นญี่ปุ่น เลียขวดซอสโชยุ และเอาน้ำลายป้ายจานซูชิ
ซึ่งถ้าเกิดว่าในอนาคต เจ้าตัว IC tag นี้ ช่วยแทร็กได้ว่า
อาหารจานไหนบนสายพานถูกทำอะไรมิดีมิร้าย
ทางร้านก็คงเอาคืนลูกค้าที่ทำแบบนั้น ได้อย่างสาสม..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.