กรณีศึกษา Carrefour ห้างฝรั่งเศส ที่เคยเข้ามาในไทย

กรณีศึกษา Carrefour ห้างฝรั่งเศส ที่เคยเข้ามาในไทย

14 ก.พ. 2023
กรณีศึกษา Carrefour ห้างฝรั่งเศส ที่เคยเข้ามาในไทย | BrandCase
ในวันนี้ ถ้าเราอยากไปเดินไฮเปอร์มาร์เก็ต ซื้อของกินของใช้ เราคงนึกถึง Big C หรือ Lotus’s
แต่ถ้าเป็นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน จะมีอีกเจ้าที่ดัง ๆ คือ Carrefour
Carrefour เป็นห้างค้าปลีกข้ามชาติยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศส ที่เคยมาทำตลาดในไทย
แต่วันนี้ Carrefour ในไทย ไม่มีอยู่แล้ว..
เรื่องราวของ Carrefour ในไทย มีอะไรน่าสนใจ ?
BrandCase จะเล่าให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
Carrefour เข้ามาในไทย เมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยเปิดสาขาแรก ที่ถนนสุขาภิบาล 3 กรุงเทพมหานคร
ในตอนแรก เป็นการร่วมทุนกันระหว่าง Carrefour Nederland BV บริษัทแม่ของ Carrefour ในประเทศไทย
กับ เซ็นทรัลรีเทล ของเครือเซ็นทรัล
แต่หลังจากนั้น กลุ่มเซ็นทรัลรีเทล ก็ขายหุ้นให้กับ Carrefour Nederland BV ทั้งหมด
ซึ่งการเข้ามาบุกตลาดของ Carrefour ในประเทศไทยนั้น
ช้ากว่าห้างไฮเปอร์มาร์เก็ตคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Tesco Lotus และ Big C ที่ได้เริ่มทำตลาดในประเทศไทยในปี 2537
ถ้าให้วิเคราะห์ว่าทำไม Carrefour ถึงเสียเปรียบคู่แข่งรายอื่น ๆ อย่าง Tesco Lotus และ Big C
ก็พอจะสรุปได้เป็นประเด็นหลัก ๆ คือ
1.คู่แข่งเจ้าอื่น อย่าง Tesco Lotus และ Big C ที่แข็งแกร่งมาก ๆ ในไทย
คู่แข่งอย่าง Tesco Lotus และ Big C
ก็มีผู้ก่อตั้งที่เป็นคนไทย และมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจค้าขายกับคนไทยมานาน อย่าง
-กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ที่เป็นผู้ก่อตั้ง Tesco Lotus
-กลุ่มเซ็นทรัล ที่ก็เป็นผู้ปลุกปั้นแบรนด์ Big C ขึ้นมา
ทั้ง 2 กลุ่มนี้ เรียกได้ว่าเป็นนักธุรกิจค้าปลีกแถวหน้าของเมืองไทยในสมัยนั้น
ซึ่งพวกเขาก็ได้วางรากฐานทางธุรกิจ และสร้างกลยุทธ์การขายสินค้าที่เหมาะสมกับคนไทย
ก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540
ที่ทั้ง 2 บริษัท จำเป็นต้องขายห้างซูเปอร์มาร์เก็ต ให้กับกลุ่มทุนต่างชาติ
2.Carrefour มาช้ากว่า ทำให้เจาะตลาดไม่ทันคู่แข่ง
Carrefour เริ่มทำตลาดในไทยเมื่อปี 2539 ซึ่งเท่ากับว่า Carrefour มีเวลาขยายธุรกิจ เพียงแค่ปีเดียว
ก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540
พอพ้นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ
Carrefour ก็ยังเจาะตลาดลูกค้าใหม่ ๆ ได้ไม่มากเท่ากับ Tesco Lotus และ Big C
โดยปี 2549 หรือเป็นเวลา 10 ปีหลังจากที่ Carrefour เข้ามาในประเทศไทย
Carrefour สามารถขยายสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตไปได้เพียง 24 สาขา
ในขณะที่ Tesco Lotus มีจำนวนสาขาในขณะนั้น 72 สาขา และ Big C มี 49 สาขา
3.พอสาขาน้อย ก็ส่งผลต่ออำนาจในการต่อรอง
ธรรมชาติในการทำธุรกิจค้าปลีก คือการมัดรวมยอดสั่งซื้อสินค้าในปริมาณมาก ๆ จากคู่ค้า
เพราะยิ่งซื้อเยอะเท่าไร ก็จะยิ่งมีอำนาจในการต่อรอง ให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยสินค้า ลดลงได้มาก
ถ้าดูจากจำนวนสาขาที่น้อยกว่า
ก็น่าจะทำให้ปริมาณสินค้าที่ Carrefour ต้องสั่งเข้ามาขายนั้น น้อยกว่าคู่แข่งอย่าง Tesco Lotus และ Big C
ซึ่งตรงจุดนี้ ก็คงทำให้ Carrefour เสียเปรียบคู่แข่ง ในเรื่องของการต่อรองราคาสินค้าจากซัปพลายเออร์
จึงทำให้เวลาสั่งสินค้ามาขายต่อแล้ว จะต้องขายในราคาที่แพงกว่าคู่แข่ง
หรือถ้าขายในราคาถูก ก็จะได้กำไรน้อยลง
จนกระทั่งในปี 2553 ห้าง Carrefour ไม่สามารถทำกำไรได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน
จึงทำให้บริษัทแม่ของ Carrefour ในประเทศไทย
ได้ตัดสินใจขายกิจการให้กับกลุ่มกาสิโน ที่เป็นกลุ่มทุนจากฝรั่งเศส
ซึ่งตอนนั้น กลุ่มกาสิโน ก็เข้ามาเป็นเจ้าของ Big C แล้วด้วย
เพราะหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 กลุ่มเซ็นทรัล ก็เจอปัญหาการเงิน และขายกิจการ Big C ในไทย ให้กลุ่มกาสิโนไป
โดยกลุ่มกาสิโน ก็ทยอยเปลี่ยน Carrefour เป็น Big C ก็เลยทำให้ Carrefour ในไทย หายไปเลยตั้งแต่ตอนนั้น..
ก่อนที่ปัจจุบัน Big C ก็มาอยู่ภายใต้ BJC ของเสี่ยเจริญอีกที
ที่น่าสนใจก็คือ Carrefour ก็ไม่ได้ถอนตัวออกจากประเทศไทยเพียงที่เดียว
เพราะยังถอนตัวออกจากประเทศอื่น ๆ ในเอเชียด้วย
อย่างเช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย
-ในสิงคโปร์
Carrefour ได้เริ่มเข้าไปตีตลาดเมื่อปี 2546 และต้องเจอกับคู่แข่งท้องถิ่นอย่างห้าง Giant และซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นชื่อ Cold Storage และ Fairprice
ซึ่งร้านค้าเหล่านี้ ได้ยึดทำเลตามที่พักอาศัย และสามารถขายสินค้าต่าง ๆ ในราคาถูกกว่า Carrefour
จนทำให้ห้าง Carrefour แข่งขันด้วยยาก และต้องเลิกกิจการไป
-ในญี่ปุ่น
ต้องบอกว่า สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว สินค้าที่มีคุณภาพ จะสำคัญกว่าสินค้าที่มีราคาถูก
แต่ Carrefour เน้นขายสินค้าทั่วไปในราคาถูก จึงไม่ค่อยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของชาวญี่ปุ่น
ทำให้ Carrefour ต้องเลิกกิจการในญี่ปุ่น และขายห้างทั้งหมดให้กับกลุ่ม AEON ซึ่งเป็นเชนห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น
-ในจีน
Carrefour บุกตลาดประเทศจีนในปี 2538
ซึ่งตอนแรกประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนสามารถขยายสาขาได้มากกว่าปีละ 10 แห่ง
จนกระทั่ง E-Commerce ในจีนอย่าง Alibaba และ JD ได้เติบโตมากขึ้น
และได้เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนไปอย่างรวดเร็ว
Carrefour ที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้บริโภคชาวจีนได้ทัน
ก็ต้องเลิกกิจการไปในปี 2562
สุดท้ายแล้ว ในทุกวันนี้ ธุรกิจห้าง Carrefour ในเอเชีย
ยังคงเปิดเป็นร้าน E-Commerce ที่ประเทศไต้หวัน
ซึ่งเป็นประเทศเดียวในเอเชีย ที่ Carrefour ยังคงดำเนินกิจการอยู่..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.