สรุปโมเดล เครือโรงแรม Marriott ที่มีโรงแรมตัวเอง ไม่ถึง 1%

สรุปโมเดล เครือโรงแรม Marriott ที่มีโรงแรมตัวเอง ไม่ถึง 1%

11 ก.พ. 2023
สรุปโมเดล เครือโรงแรม Marriott ที่มีโรงแรมตัวเอง ไม่ถึง 1% | BrandCase
Marriott International หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า เครือ Marriott
คือเชนโรงแรมลักชัวรี ที่ใหญ่สุดในโลก โดยมีโรงแรมในเครือกว่า 8,000 แห่ง รวมกว่า 1.5 ล้านห้องพัก ใน 139 ประเทศทั่วโลก
แต่รู้หรือไม่ว่า 99% ของโรงแรมในเครือ Marriott นั้น บริษัทไม่ได้เป็นเจ้าของตัวโรงแรม เหล่านั้นเลย
ทำไมแบรนด์โรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถึงแทบไม่มีโรงแรมเป็นของตัวเอง ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
Marriott เริ่มเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมในปี 1957 ด้วยการสร้างโรงแรมแห่งแรก ในรัฐเวอร์จิเนีย ในสหรัฐอเมริกา
ก่อนที่ Marriott จะเริ่มขยายเชนโรงแรมของตัวเองออกไปเรื่อย ๆ โดยเน้นสร้างโรงแรมแห่งใหม่ให้ใกล้กับสนามบิน
อีกทั้งยังใช้จุดเด่นอย่างห้องประชุมขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการจัดประชุมหรือสัมมนา สำหรับนักธุรกิจที่เดินทางอยู่ตลอดเวลา
ร่วมกับสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น ภัตตาคาร, สระว่ายน้ำ ไปจนถึงลานสเกตน้ำแข็ง จนชื่อของ Marriott เป็นที่รู้จักกันอย่างดี
แต่ปัญหาที่ตามมาคือ การลงทุนสร้างโรงแรมแห่งใหม่ในแต่ละครั้งนั้น ต้องใช้เงินลงทุนที่สูง หากต้องการที่จะขยายโรงแรมไปยังเมืองต่าง ๆ ให้ได้มากขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องกู้เงินเป็นจำนวนมาก
ในขณะที่ถ้าต้องรอจนกว่าโรงแรมเดิมจะถึงจุดคุ้มทุน ก็จะเป็นการเสียโอกาสให้กับคู่แข่งรายอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ด้วยชื่อเสียงและการบริการที่ติดตลาดไปแล้วของ Marriott
บริษัทจึงตัดสินใจ เปลี่ยนโมเดลธุรกิจ
จากเดิมที่ต้องสร้างโรงแรมและบริหารเอง เปลี่ยนไปเป็นแบบ “Asset light”
ซึ่ง Asset light ก็คือ ไม่เน้นการลงทุนสร้างโรงแรมเอง แต่เปลี่ยนไปขยายแบรนด์โดยให้พาร์ตเนอร์นำแบรนด์ตัวเองไปใช้
โดยแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
1.ระบบแฟรนไชส์
Marriott จะอนุญาตให้โรงแรมอื่น ๆ นำชื่อแบรนด์ และระบบการจัดการไปใช้
แต่จะต้องบริการด้วยมาตรฐานเดียวกันกับที่ Marriott กำหนด
โดยที่ Marriott จะได้รับส่วนแบ่งกำไร จากทั้งค่าแบรนด์, ค่าการตลาด และส่วนแบ่งจากรายได้
2.ระบบ Management Contract
เจ้าของโรงแรมที่นำชื่อโรงแรมเครือ Marriott ไปใช้ จะเป็นเพียงเจ้าของ หรือผู้ลงทุนสร้างอสังหาริมทรัพย์ และปล่อยให้ Marriott ดูแลจัดการทุกอย่าง
ตั้งแต่ระบบภายในโรงแรม พนักงานต้อนรับ, แม่บ้าน, ภัตตาคาร ไปจนถึงการดูแลรักษาตึก
โดยที่ Marriott ก็จะได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ของโรงแรม เช่นกัน
ซึ่งข้อดีของ Asset light Model ก็คือ
ทางฝั่ง Marriott เอง ไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินเป็นจำนวนมากมาเพื่อสร้างโรงแรม และสามารถโฟกัสไปกับการพัฒนาระบบการจัดการ, การตลาด, การบริการ และระบบ Loyalty Program ให้ดีมากขึ้น
ส่วนในด้านของเจ้าของโรงแรม ที่นำแบรนด์ Marriott ไปใช้ ก็ได้แบรนด์ดังไปใช้เลย ไม่ต้องปั้นแบรนด์ใหม่จาก 0
และยังได้คนที่มีประสบการณ์ไปบริหาร ในกรณีที่ให้ทาง Marriott มาบริหารให้
ยกตัวอย่าง แบรนด์โรงแรมในเครือ Marriott ในไทย ก็เช่น
Hua Hin Marriott Resort & Spa หัวหิน และ Sheraton Samui Resort
ที่มีผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในไทยอย่าง Asset world Corporation (AWC) เป็นเจ้าของ และบริหารงานโดยเครือ Marriott
ซึ่งต้องบอกว่า ในปัจจุบัน ก็ไม่ได้มีแค่ Marriott ที่ใช้โมเดลแบบนี้
เพราะเครือโรงแรมระดับโลกอื่น ๆ อย่างเช่น Hilton ก็มีโมเดลแบบไม่เน้นทำตัวโรงแรมเอง แต่เน้นให้คนอื่นนำแบรนด์ไปใช้ แล้วส่งคนไปบริหาร มากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยทุกวันนี้ มีจำนวนโรงแรม ที่ใช้ชื่อแบรนด์ของเครือ Marriott ทั้งหมด ประมาณ 7,896 แห่ง ทั่วโลก
ซึ่งในจำนวนที่ว่านี้ มีที่ Marriott International เป็นเจ้าของตัวโรงแรมเอง แค่ประมาณ 64 แห่ง หรือไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.