“ทฤษฎีกระจกแตก” ปัญหาเล็ก ที่ธุรกิจควรรีบแก้ อย่าให้บานปลาย

“ทฤษฎีกระจกแตก” ปัญหาเล็ก ที่ธุรกิจควรรีบแก้ อย่าให้บานปลาย

23 ม.ค. 2023
“ทฤษฎีกระจกแตก” ปัญหาเล็ก ที่ธุรกิจควรรีบแก้ อย่าให้บานปลาย | BrandCase
“เรื่องเล็กแค่นี้เอง ไม่เป็นไร” น่าจะเป็นสิ่งที่เรามักได้ยินบ่อย ๆ เวลาที่เกิดเรื่องเล็กน้อยขึ้น
ในหลายครั้ง หากเราปล่อยทิ้งไว้แบบนั้น โดยไม่ได้แก้ไข
มันอาจบานปลายเป็นเรื่องใหญ่ จนสร้างความเสียหายที่เราคาดไม่ถึง
ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ สามารถอธิบายได้ด้วย “ทฤษฎีกระจกแตก” หรือ “Broken Windows Theory”
แล้วเรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
ทฤษฎีกระจกแตก หรือ Broken Windows Theory ถูกคิดค้นขึ้นในปี 1982 โดยคุณ James Q. Wilson นักรัฐศาสตร์ และคุณ George L. Kelling นักอาชญาวิทยา
ทั้งคู่ได้ทำการต่อยอดจากงานของคุณ Philip Zimbardo นักจิตวิทยาที่ได้ทำการทดลองนำรถยนต์ 2 คัน ไปจอดในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน
-คันแรกจอดที่ย่าน Bronx แหล่งเสื่อมโทรมของรัฐ New York
-อีกคันจอดที่ Palo Alto ซึ่งเป็นเมืองที่มีสภาพแวดล้อมดีของรัฐ California
เพียงไม่กี่ชั่วโมง รถยนต์ที่จอดที่ Bronx ได้ถูกงัดและถูกทำลาย ส่วนรถยนต์ที่จอดที่ Palo Alto แม้จะจอดนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ แต่กลับไม่มีความเสียหายเลย
อย่างไรก็ตาม คุณ Philip Zimbardo ได้มีการทดลองต่อ โดยทุบกระจกรถคันที่จอดที่ Palo Alto
หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ก็มีคนมาสร้างความเสียหายให้กับรถเพิ่มขึ้น
คุณ James Q. Wilson และคุณ George L. Kelling ได้ใช้ทฤษฎีนี้ อธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า แม้จะเป็นการทำสิ่งไม่ดี หรือละเมิดกฎระเบียบทางสังคมเพียงเล็กน้อย
แต่หากถูกปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่ได้รับการแก้ไข มันก็อาจบานปลาย กลายเป็นปัญหาสังคมที่ใหญ่ขึ้น
หรืออย่างกรณีของตำรวจ ที่มักจัดสรรกำลังไปกับการจัดการปัญหาอาชญากรรมใหญ่ เช่น ปัญหายาเสพติดข้ามชาติ ปัญหาการค้ามนุษย์ มากกว่าการทำผิดเล็กน้อย เช่น ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ขับรถย้อนศร
หากกำลังของตำรวจ ไม่เพียงพอที่จะจัดการกับความผิดเล็กน้อยนั้น ก็อาจนำไปสู่การละเลยปัญหา ทำให้มีการทำผิดเล็กน้อยกันมากขึ้น หรือยิ่งกว่านั้น อาจเป็นเหตุให้เกิดอาชญากรรมที่ใหญ่ขึ้น
เปรียบเสมือนมีกระจกหน้าต่างในอาคารแตกเพียงบานเดียว หากปล่อยไว้โดยไม่ได้ซ่อมแซม คนก็จะมองว่าอาคารนั้น ไม่มีเจ้าของดูแล ก็จะมีการทำลายกระจกบานอื่น ๆ ตามมา หรือบุกรุกอาคาร ทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น
ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นกระจกแตกเพียงแค่บานเดียว หรือเกิดความเสียหายเพียงจุดเล็ก ๆ เราก็ควรต้องรีบซ่อมแซม ก่อนที่กระจกบานอื่นจะแตกตาม หรืออาจเกิดความเสียหายไปมากกว่านี้
ซึ่งเรื่องนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจได้เช่นกัน
-ถ้าเราเปิดร้านขายของสักร้าน แล้วมีของหายบ่อย ๆ แม้จะเป็นสินค้าที่มีราคาเพียงไม่กี่บาทก็ตาม เราก็ควรตรวจสอบดูว่า ของที่หายในร้านเกิดจากสาเหตุใด
หากมีพนักงานในร้านขโมยไป เราก็ควรที่จะรีบจัดการปัญหา เพราะการลักเล็กขโมยน้อยในวันนี้ อาจนำไปสู่การโกงมากขึ้นในอนาคต
-รวมไปถึงเรื่องการสต็อกสินค้า แม้พื้นที่เก็บสินค้าบางจุด จะมีการจัดเก็บที่ไม่เป็นระเบียบ ก็ไม่ควรปล่อยผ่าน
เพราะมันอาจจะทำให้พื้นที่ทั้งหมดไม่เป็นระเบียบตาม
นอกจากนี้ พื้นที่เก็บสินค้าที่เป็นระเบียบ ยังอาจเป็นการช่วยกระตุ้นให้พนักงานจัดเก็บสินค้าอย่างมีระเบียบ
ทำให้เราสามารถบริหารจัดการคลังสินค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีกด้วย
-หรือหากเราทำธุรกิจร้านอาหาร เราก็ต้องใส่ใจเรื่องของความสะอาดภายในร้าน
ซึ่งไม่เพียงจะช่วยรักษาบรรยากาศร้านเท่านั้น ยังอาจทำให้ลูกค้าเกิดความเกรงใจ ไม่ทิ้งขยะหรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ ภายในร้านอีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าจะให้สรุปเรื่องราวของทฤษฎีกระจกแตกแบบง่าย ๆ ก็คือ การใส่ใจกับปัญหาเล็กน้อย รีบแก้ไข และไม่ปล่อยให้บานปลาย
เพราะเรื่องเล็กในวันนี้ ถ้าไม่รีบแก้ไข ก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ จนสร้างความเสียหายในอนาคต อย่างที่เราคาดไม่ถึงได้เหมือนกัน..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.