ตำนาน “รามยอน” เกิดยุคขาดแคลนอาหาร วันนี้เป็น Soft Power ของเกาหลีใต้

ตำนาน “รามยอน” เกิดยุคขาดแคลนอาหาร วันนี้เป็น Soft Power ของเกาหลีใต้

11 ม.ค. 2023
ตำนาน “รามยอน” เกิดยุคขาดแคลนอาหาร วันนี้เป็น Soft Power ของเกาหลีใต้ | BrandCase
เวลาพูดถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่คนไทยคุ้นเคย
เราก็จะนึกถึง มาม่า หรือ ไวไว
ที่ทุกคนสามารถอิ่มท้องได้ ในราคาซองละไม่ถึง 10 บาท
แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราก็เริ่มเห็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลี หรือที่เรียกว่า “รามยอน” ขายกันซองละ 30-50 บาท แต่ก็ยังขายดี มีคนซื้อก็ไม่น้อย
โดยแบรนด์ดัง ๆ ก็อย่างเช่น Samyang, Nongshim และ Ottogi
ซึ่งรู้หรือไม่ว่า รามยอน เป็นเมนูที่เกิดจากวิกฤติขาดแคลนอาหารของคนในเกาหลีใต้
เรื่องนี้น่าสนใจตรงไหนบ้าง ?
BrandCase จะเล่าให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ในช่วงต้นทศวรรษ 1960s
เกาหลีใต้ เกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารอย่างหนัก หลังจากสงครามเกาหลีสิ้นสุดลง
ในตอนนั้น อาหารหลักสำหรับคนเกาหลีใต้ มีแต่ข้าว และธัญพืชต่าง ๆ ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับคนทั้งประเทศ
ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่บริษัท Samyang Food ก็ได้ก่อตั้งขึ้น
และก็เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัท ที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาล ของนายพลปัก ชอง-ฮี
Samyang เน้นผลิตสินค้าให้สามารถเก็บได้นาน รับประทานง่าย ตอบโจทย์การขาดแคลนอาหารในยุคนั้น
จนกระทั่งในปี 1963 บริษัท ก็ได้ผลิต “Samyang Ramen”
ซึ่งถือเป็นรามยอนแบรนด์แรกของเกาหลีใต้ โดยเริ่มต้นขายในราคาซองละ 30 สตางค์ ในตอนนั้น
หลังจากที่รามยอนแบรนด์แรกได้ออกจำหน่าย รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้สนับสนุนให้รามยอน เป็นอาหารหลัก ลำดับที่ 2 รองจากข้าว
จึงทำให้รามยอน มียอดขายที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นอาหารหลักทางเลือกใหม่ สำหรับชาวเกาหลีใต้
รามยอนอีกแบรนด์หนึ่ง ที่สามารถตีตลาดเกาหลีใต้ จนมียอดขายเป็นอันดับ 1 ได้ในเวลาต่อมา
คือแบรนด์ “SHIN Ramyun” ของบริษัท Nongshim
ซึ่งบริษัท Nongshim เป็นบริษัทลูกของ LOTTE
ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มแชโบลของเกาหลีใต้
บริหารโดย ชิน ชุน-โฮ น้องชายของ ชิน คยอก-โฮ ผู้ปลุกปั้น LOTTE
ต่อมาช่วงทศวรรษ 1970s ชิน ชุน-โฮ ได้เห็นโอกาสในการเติบโตของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภายในประเทศ
จึงได้เริ่มลงทุนสร้างฝ่ายวิจัยและพัฒนารามยอนอย่างจริงจังในปี 1975
ซึ่งต้องบอกว่า ชิน คยอก-โฮ ผู้เป็นพี่ชาย กลับไม่เห็นด้วยที่จะลงทุนในธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
และทำให้ทั้งสองพี่น้องไม่ลงรอยกัน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ทำให้ ชิน ชุน-โฮ ต้องแยกทางกับพี่ชาย เพื่อมาตั้งบริษัทใหม่ในชื่อ Nongshim
และทำให้มาม่าเกาหลีของ Nongshim ไม่มีคำว่า LOTTE พ่วงท้ายมาจนถึงปัจจุบัน
ก็ต้องบอกว่า ในระหว่างที่ ชิน ชุน-โฮ ออกมาสร้างแบรนด์รามยอนด้วยตัวเอง เขาก็ยังต้องเจอกับคู่แข่งที่ครองตลาดชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ในยุคนั้น อย่าง Samyang
ดังนั้น ชิน ชุน-โฮ จึงต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อพัฒนารสชาติของรามยอน ให้มีรสชาติที่เผ็ดในแบบเกาหลีแท้ ๆ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแบรนด์
จนสามารถมียอดขายแซงหน้า Samyang ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในปี 1985
ปีถัดมา ชิน ชุน-โฮ ก็ได้ตัดสินใจใช้ชื่อแบรนด์ว่า Shin Ramyun
และใช้โอกาสที่เกาหลีใต้ ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 1988 ในการโปรโมตสินค้าอย่าง รามยอน ให้กับผู้คนจากทั่วโลก และชาวเกาหลีใต้เองได้รู้จัก
จนกระทั่ง รามยอนของ Nongshim เป็นที่นิยมอย่างมาก
และสามารถครองส่วนแบ่งการตลาด ได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง ของตลาดรามยอนทั่วประเทศเกาหลีใต้
นอกจากนี้ Nongshim ยังเป็นแบรนด์ที่ได้รับใบอนุญาต ให้จัดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลก ในปี 1998 อย่างเป็นทางการ ที่ประเทศฝรั่งเศส
ซึ่งในยุคนั้น รามยอนเกาหลี ก็มีหลาย ๆ แบรนด์ที่เป็นคู่แข่งกับ 2 แบรนด์แรกที่ว่ามา เช่น
-Ottogi แบรนด์ที่ออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผงแกงกะหรี่ เป็นแบรนด์แรกของเกาหลีใต้
ซึ่งในภายหลัง Ottogi ก็ได้เข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ในชื่อแบรนด์ว่า Jin Ramen ได้ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกในปี 1988
-Paldo เป็นแบรนด์รามยอน ของบริษัท Korea Yakult
ได้เริ่มต้นผลิตเส้นรามยอนขึ้นในปี 1983 โดยเน้นผลิตเส้นรามยอนระดับพรีเมียม
ให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์หลัก ที่สามารถส่งออกไปทั่วโลก
โดยในปัจจุบัน รามยอน 4 แบรนด์หลัก ๆ ที่ขายอยู่ในประเทศเกาหลีใต้
ได้แก่ Nongshim, Ottogi, Samyang และ Paldo
และในช่วงต้นทศวรรษ 2000s ก็ได้เริ่มส่งออกรามยอน ไปตีตลาดต่างประเทศ
ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ รัฐบาลเกาหลีใต้ ได้ส่งเสริมวัฒนธรรม และอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างจริงจัง
ทั้งในเรื่องของวงดนตรี K-POP ไปจนถึงซีรีส์เกาหลี ซึ่งก็มีหลาย ๆ ฉาก ที่ทำให้ผู้ชม ได้เห็นถึงวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนเกาหลีใต้
หนึ่งในนั้นก็คือ ฉากต้มรามยอนมากินกัน ที่เราเห็นกันในซีรีส์เรื่องดังหลาย ๆ เรื่อง
เมื่อ Soft Power ที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อต่าง ๆ
อย่าง ซีรีส์ รายการวาไรตีโชว์ และภาพยนตร์ เริ่มโด่งดังไปทั่วโลก
จึงทำให้หนึ่งในสินค้าส่งออกหลักอย่าง รามยอน เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2015
เราไปดูยอดส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลีใต้ หรือรามยอน
ปี 2015 มียอดส่งออก 7,446 ล้านบาท
ปี 2018 มียอดส่งออก 14,042 ล้านบาท
ปี 2021 มียอดส่งออก 22,930 ล้านบาท
โดยมีตลาดหลัก 3 อันดับแรก คือ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น
และอันดับ 4 ก็คือ ประเทศไทย นั่นเอง..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.