ตำนาน มาม่า มาช้ากว่า ยำยำ แต่วันนี้ ขายดีกว่า

ตำนาน มาม่า มาช้ากว่า ยำยำ แต่วันนี้ ขายดีกว่า

4 ม.ค. 2023
ตำนาน มาม่า มาช้ากว่า ยำยำ แต่วันนี้ ขายดีกว่า | BrandCase
พูดถึง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็ต้องบอกว่า คนไทยใช้คำว่า “มาม่า” แทนไปแล้ว เกือบ 100%
ซึ่ง มาม่า คือแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ถือกำเนิดมากว่า 50 ปีแล้ว โดยเครือสหพัฒน์
ซึ่งรู้หรือไม่ว่า มาม่า ไม่ใช่เจ้าแรก
แต่เป็น “ยำยำ” ที่มาก่อน และยังมี “ไวไว” ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันด้วย
มาวันนี้ มาม่า คือเจ้าตลาด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย
และทำให้คนไทย ลืมคำว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปเลย แล้วเรียกชื่อ มาม่า แทน
ตำนาน มาม่า เป็นมาอย่างไร ?
BrandCase จะเล่าเคสนี้ให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ มาม่า ได้ถือกำเนิดขึ้นโดย คุณเทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้ง เครือสหพัฒน์
ซึ่งปัจจุบัน เครือสหพัฒน์ เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค
ของแบรนด์ดังต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี 
ไม่ว่าจะเป็น
ผงซักฟอก เปา, แป้งเด็ก โคโดโม, สบู่ โชกุบุสซึ, ชุดชั้นใน WACOAL, เสื้อผ้าแบรนด์ ARROW, เครื่องสำอางแบรนด์ BSC Cosmetology
และหากพูดถึงตำนาน มาม่า ก็ต้องย้อนเวลากลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน
ในตอนนั้น คุณเทียม ผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์ ได้มองเห็นอนาคตต่อจากนี้ว่า อาหารชนิดแป้งพร้อมทานอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะต้องเติบโตขึ้นมากในไทยแน่ ๆ 
เพราะประเทศไทยในช่วงนั้น เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานกันเป็นชุมชนเมือง ซึ่งจะทำให้ผู้คนต้องใช้ชีวิตแบบเร่งรีบมากขึ้น
ซึ่งก็ต้องบอกว่า มาม่า ไม่ใช่แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์แรก ที่ตีตลาดในประเทศไทย
โดยแบรนด์ดัง ๆ ก็คือ ซันวา และยำยำ
โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายแรกในประเทศไทยคือ ยี่ห้อ ซันวา ที่ต้องต้มก่อนกิน
ซันวา เริ่มวางขายในไทย เมื่อราวปี 2514
ต่อมา ยำยำ ได้นำเสนอในรูปแบบที่เติมน้ำร้อน แล้วทานได้ทันทีเป็นเจ้าแรก โดยเริ่มผลิตครั้งแรกเมื่อปี 2514 ผลิตและจัดจำหน่ายโดย บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด
ยำยำ พยายามฉีกแนว โดยใช้ตัว “ยำยำ จัมโบ้” ที่มีปริมาณมากกว่าเป็นตัวชูโรง และยังเพิ่ม Segment ไปยังกลุ่มเด็ก คือ ยำยำ ช้างน้อย ทำให้ ยำยำ ช้างน้อย เป็นผู้นำในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสำหรับเด็ก
เวลาไล่เลี่ยกัน ไวไว ก่อตั้งเมื่อปี 2515 ผลิตและจำหน่ายโดยบริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด 
ปัจจุบัน ไวไว จะมี แบรนด์ “ควิก” ที่เล่นกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มวัยรุ่นโดยตรง และใช้รสชาติจัดจ้านที่ฉีกออกไปจากรสต้มยำกุ้งของมาม่าเป็นตัวชูโรง
ส่วนบริษัท สหพัฒนพิบูล ของเครือสหพัฒน์ เมื่อเห็นโอกาส จึงได้ตัดสินใจร่วมทุนกับ บริษัทไต้หวันชื่อ เพรซิเดนท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ 
ซึ่งเพรซิเดนท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ คือผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
โดยในปี 2515 ได้ตั้งโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทย
ซึ่งหลังจากดำเนินธุรกิจไปได้ 1 ปี เครือสหพัฒน์ ก็ได้ซื้อหุ้นทั้งหมดจากบริษัทไต้หวัน
จึงทำให้โรงงานแห่งนี้ เป็นของคนไทย 100%
โดยคุณเทียม ได้เลือกให้ คุณพิพัฒ พะเนียงเวทย์ 
เพื่อนร่วมก่อตั้งธุรกิจของคุณเทียม มาดูแลธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่อไป
ซึ่งก็ต้องเล่าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ว่า คุณพิพัฒ ก็เคยศึกษาตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทยมาแล้ว ด้วยการออกสินค้าบะหมี่ ฮกเกี้ยน เพื่อมาตีตลาด 
แต่ ฮกเกี้ยน ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมาก เนื่องจากสินค้ายังทำตลาดได้ไม่ดี และแบรนด์ยังไม่มีความชัดเจน
ต่อมาคุณพิพัฒเอง ก็ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการขาย ยกเครื่องผลิตภัณฑ์ พร้อมกับตั้งชื่อแบรนด์ใหม่ว่า “มาม่า”
มาม่ารสชาติแรกที่ออกวางจำหน่ายคือ รสซุปไก่ โดยเริ่มวางจำหน่ายในปี 2516 ในราคาซองละ 2 บาท
ตั้งแต่มาม่าเริ่มออกไปตีตลาด ก็ได้รับความนิยมทันที
เนื่องจากรสชาติของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอันแปลกใหม่ ที่ถูกปากคนไทยมาก ๆ ในสมัยนั้น
ซึ่งคุณพิพัฒได้เล่าว่า เขาได้ยกเครื่องผลิตภัณฑ์ โดยต่อยอดจากบะหมี่ฮกเกี้ยนที่เคยทำมา ด้วยการส่ง มาม่า รสชาติต่าง ๆ ออกสู่ตลาด 
โดยมาม่าจะต้องมีความชัดเจนในแต่ละรสชาติ และเน้นไปที่ความจัดจ้าน 
อย่างเช่น ถ้าจะทำรสหมู เขาก็จะทำให้ออกมาเป็น รสชาติหมูสับไปเลย
และรสกุ้ง ก็จะต้องทำออกมาให้รสชาติเป็นต้มยำกุ้งไปเลย
มาม่า ได้รับความนิยม และมียอดขายแซงหน้า ไวไว ยำยำ และซันวา ที่ตีตลาดเมืองไทยมาก่อนเสียอีก
เพราะถ้าลองมาดู ส่วนแบ่งการตลาดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย ในปี 2565 
อ้างอิงจากเว็บไซต์ Modernist
- มาม่า 45%
- ไวไว 24%
- ยำยำ 22%
สรุปกันอีกทีคือ มาม่า เกิดช้ากว่า ซันวา ยำยำ
และมาพร้อม ๆ กันกับ ไวไว
แต่วันนี้ กลายเป็น No.1 ครองตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย
และตัวการันตีความสำเร็จของแบรนด์นี้
ก็คือการทำให้คนไทย ลืมคำว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แล้วพูดคำว่า มาม่า แทนไปแล้ว..
References
-รายงานประจำปี บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ปี 2561 และ ปี 2564
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.