SKU คืออะไร ? ทำไมช่วยเรื่อง จัดการสต็อกสินค้า ได้ดี

SKU คืออะไร ? ทำไมช่วยเรื่อง จัดการสต็อกสินค้า ได้ดี

27 ธ.ค. 2022
SKU คืออะไร ? ทำไมช่วยเรื่อง จัดการสต็อกสินค้า ได้ดี | BrandCase
สมมติว่า เราเปิดร้านขายโทรศัพท์มือถือ
และต้องการสั่งโทรศัพท์มือถือมาเพื่อขายต่อให้กับลูกค้าทั่วไป
สิ่งที่เราต้องจัดการให้ดีคือ การสต็อกสินค้า 
เช่น
- จัดให้ตรงตามความต้องการ ว่าแบรนด์ไหนที่ขายดีที่สุด
- จัดให้ตรงตามความต้องการ ว่ามีสีไหนที่ได้รับความนิยม 
- จัดให้ตรงตามความต้องการ ช่วงราคาที่ลูกค้าเลือกซื้อมากที่สุด
- จัดให้ตรงตามความต้องการ สเป็กที่ลูกค้าจำเป็นต้องใช้ 
ซึ่งเมื่อโทรศัพท์มือถือแต่ละแบรนด์ มีหลายรุ่น หลายสี และหลายสเป็ก
จึงมีเครื่องมือหนึ่ง ที่นิยมใช้ในการจำแนกสินค้า 
คือการจับสินค้า ที่มีทุกอย่างเหมือนกัน มาอยู่ด้วยกัน
เครื่องมือนั้น เรียกว่า “SKU”
SKU คืออะไร ทำไมช่วยเรื่อง จัดการสต็อกสินค้า ได้ดี
BrandCase จะสรุปคำสำคัญคำนี้ให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
SKU ย่อมาจากคำว่า Stock Keeping Unit 
เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในการจำแนกสินค้าที่แตกต่างกัน ในระบบคลังสินค้า
ซึ่งความแตกต่างที่ว่านี้ก็คือ ชนิดของสินค้า แบรนด์ รุ่น ขนาด สี หรือแม้แต่สเป็กข้างในของสินค้า ที่แตกต่างกัน
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเรามีกล่อง 1 กล่อง แล้วเราสามารถบรรจุสินค้าลงไปได้เพียงแค่ 1 SKU 
สินค้าที่บรรจุลงไปในกล่องกล่องนั้น จะต้องมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ ตัวอย่างเช่น 
- โทรศัพท์มือถือ : เราก็จะจับกลุ่มสินค้าที่เป็น แบรนด์เดียวกัน, รุ่นเดียวกัน, สีเดียวกัน และมีหน่วยความจุเท่ากัน มาอยู่ใน SKU เดียวกัน
- น้ำดื่ม : เราก็จะจับกลุ่มน้ำดื่มที่เป็นแบรนด์เดียวกัน, ปริมาตรเท่ากัน และจำนวนขวดน้ำในแพ็กที่เท่ากัน
(เช่น แพ็ก 3 เหมือนกัน, แพ็ก 6 เหมือนกัน) มาอยู่ใน SKU เดียวกัน  
โดยในการกำหนด SKU ของสินค้า ก็สามารถกำหนด 1 รหัส ต่อ 1 รายการสินค้าที่เหมือนกัน เพื่อให้จัดการได้ง่าย
ซึ่งร้านค้า สามารถเลือกกำหนดรหัส และตัวอักษรแบบไหนก็ได้ แต่จะต้องเข้าใจง่าย และมีรูปแบบของรหัสที่ชัดเจน
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราจะมาลองกำหนด SKU แบบง่าย ๆ กันดู 
สมมติถ้าเราเปิดร้านดีลเลอร์ เพื่อขายสินค้าของแบรนด์ Apple
เราก็พอจะแบ่ง SKU ของแต่ละผลิตภัณฑ์ได้ ดังนี้
- iPhone 13 Pro Max สีเงิน ขนาด 256GB เราอาจจะกำหนดได้เป็น IP13 PM SV 256
- iPhone 14 Pro Max สีเงิน ขนาด 256GB เราอาจจะกำหนดได้เป็น IP14 PM SV 256
- iPhone 14 Pro Max สีเงิน ขนาด 512GB เราอาจจะกำหนดได้เป็น IP14 PM SV 512
- iPhone 14 Pro Max สีม่วง ขนาด 512GB เราอาจจะกำหนดได้เป็น IP14 PM PP 512
- iPhone 14 Plus สีม่วง ขนาด 512GB เราอาจจะกำหนดได้เป็น IP14 PL PP 512
ซึ่งจากรหัสดังกล่าว พนักงานร้านจะสามารถตีความหมายได้ง่าย ๆ ว่า
- คำที่ 1 เป็นชื่อรุ่น นั่นคือ iPhone 13 และ iPhone 14
- คำที่ 2 เป็นขนาดของเครื่อง ซึ่ง PM ก็คือ Pro Max ส่วน PL ก็คือ Plus
- คำที่ 3 แทนสี ซึ่ง SV ก็คือสีเงิน (Silver) และ PP ก็คือสีม่วง (Purple)
- คำที่ 4 คือตัวเลข 256 และ 512 แทนความจุของเครื่อง 
และเรามักจะสังเกตได้ว่า รหัสตัวแรก ๆ จะถูกกำหนดเป็นชนิดสินค้า 
ซึ่งก็คือ แบรนด์และรุ่นของ iPhone
ส่วนตัวอักษรตัวท้าย ๆ ก็จะถูกกำหนดเป็นรายละเอียดย่อย ๆ ที่จำเป็น เช่น สี และความจุ 
ซึ่งจริง ๆ แล้วการตั้ง SKU นั้นก็จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละร้านค้า อย่างเช่น
- ร้าน BaNANA และ Studio 7 ที่เป็นร้านดีลเลอร์ขายอุปกรณ์ไอทีในเครือ COM7 
ก็จะตั้งรหัส SKU เป็นตัวเลข 12 หลักไปเลย
โดยจะให้ตัวเลขแต่ละหลัก แทนชนิด ยี่ห้อ ไปจนถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของสินค้า
- ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ก็จะมีการนำระบบ SKU ที่เป็นรหัสตัวเลข 9 หลัก มาใช้สำหรับเช็กสินค้าในสต็อก
โดยเมื่อลูกค้าซื้อสินค้า และถูกยิงผ่านบาร์โคด ระบบ SKU ก็จะมีการตัดระบบในสต็อกอัตโนมัติ
ซึ่งระบบ SKU จะเป็นสื่อกลางในการสื่อสารของระบบจัดการสินค้าคงคลัง โดยพนักงานร้านค้า สามารถเข้าถึงข้อมูลของสินค้าต่าง ๆ ผ่านระบบข้อมูล ด้วยรหัส SKU ได้เลย
ทีนี้ถ้ามองในมุมของธุรกิจ SME ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าปลีก และร้านค้าออนไลน์
เราก็จะสามารถนำระบบ SKU ไปใช้ประโยชน์ในงานต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น
1. สามารถบริหารคลังสินค้า และสามารถสต็อกสินค้าได้อย่างแม่นยำ
การใช้ระบบ SKU จะทำให้เราสามารถตรวจเช็กสินค้าที่ค้างอยู่ในสต็อก ได้อย่างแม่นยำ
ทำให้เรารับรู้ยอดขายของสินค้าแต่ละรายการ ว่าขายได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็จะทำให้เรา ไม่ต้องสต็อกสินค้าในจำนวนที่มากจนเกินไป
เพราะการสต็อกสินค้ามากเกินไป ก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาโดยไม่จำเป็น
ในทางกลับกัน ถ้าหากสินค้าใกล้จะหมด ก็จะทำให้สามารถสั่งสินค้ามาสต็อกได้ทันเวลาพอดี 
ซึ่งการบริหารสินค้าคงคลังแบบนี้ ก็จะใกล้เคียงกับรูปแบบที่เรียกว่า “Just In Time” คือการจัดการคำสั่งผลิตหรือสต็อกสินค้า ให้พอเหมาะพอดี กับความต้องการซื้อ
2. ทำให้เรามีฐานข้อมูล และรู้อินไซต์ของลูกค้าได้ง่ายขึ้น
แน่นอนว่า หากมีลูกค้ามาซื้อของ แล้วร้านค้าได้ทำการสแกนบาร์โคด โดยถ้าหากเราได้ใช้ระบบ SKU 
เป็นตัวอักษรบนบาร์โคด จะทำให้เราสามารถรับรู้ยอดขายของสินค้าต่าง ๆ ในระบบได้
แถมเรายังได้ข้อมูลเชิงลึกจากลูกค้าอีกหลาย ๆ อย่าง เช่น 
- การเช็กว่าโทรศัพท์ iPhone รุ่นไหนที่มียอดขายมากที่สุด 
- โทรศัพท์ iPhone สีไหนที่ลูกค้านิยมซื้อมากที่สุด
- หรือสาขาไหนที่มียอดขาย iPhone 14 Pro Max มากที่สุด
ซึ่งก็เป็นข้อมูลสำคัญ ให้กับเจ้าของกิจการ ในการใช้ข้อมูลเหล่านี้
มาตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าจากซัปพลายเออร์ การทำตลาด และการจัดโปรโมชันต่าง ๆ ให้กับลูกค้าได้อย่างแม่นยำ
3. ทำให้เรารู้ หรือประเมินต้นทุนราคาสินค้าได้ดีขึ้น
การแยกสินค้าโดยใช้ระบบ SKU จะทำให้เราได้รับรู้ถึงข้อมูลของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไปจนถึงต้นทุนราคาสินค้าต่อหน่วย
ซึ่งระบบ SKU จะทำให้เราเช็กข้อมูลการสั่งซื้อสินค้าต่าง ๆ ได้ง่ายมากขึ้น ทำให้เราสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ง่ายขึ้น
ซึ่งมันก็จะมีผลต่อการจัดการเงินสดในบริษัทด้วย
สรุปก็คือ การนำระบบ SKU มาใช้ในการแยกสินค้านั้น
จะทำให้เราสามารถอาศัยยอดขายของสินค้าแต่ละ SKU เพื่อสต็อกของได้แม่นยำมากขึ้น บริหารจัดการเงินสดได้ดีขึ้น
และก็จะทำให้เราทราบข้อมูลอินไซต์จากลูกค้าในพื้นที่ ว่าจริง ๆ แล้วลูกค้าต้องการสินค้าแบบไหน
ซึ่งการทำแบบนี้ ก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่ง 
ที่ช่วยให้ร้านค้า หรือธุรกิจ สามารถสต็อกสินค้าได้อย่างแม่นยำ
ทั้งยังบริหารต้นทุนและเงินสดได้ดี นั่นเอง..
References
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.