สรุปแนวคิด ผู้บริหาร FORTH ทำไมถึงทำ ตู้เต่าบิน

สรุปแนวคิด ผู้บริหาร FORTH ทำไมถึงทำ ตู้เต่าบิน

25 ธ.ค. 2022
สรุปแนวคิด ผู้บริหาร FORTH ทำไมถึงทำ ตู้เต่าบิน | BrandCase
หลายคนคงรู้จักตู้เต่าบิน ตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติที่ช่วงพีก ๆ นั้น ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค จนคิวต่อแถวหน้าตู้ยาวเหยียด
วันนี้เราจะมาดูกันว่า คุณพงษ์ชัย อมตานนท์
ผู้บริหาร FORTH ซึ่งเป็นผู้ที่คิดค้นและพัฒนาตู้เต่าบิน เขาคิดอย่างไร ทำไมถึงทำตู้เต่าบิน
BrandCase จะสรุปเรื่องนี้ให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
คุณพงษ์ชัย อมตานนท์ หรือ คุณเต่า ปัจจุบันเป็นผู้บริหาร บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น หรือ FORTH
ซึ่ง FORTH ก็คือบริษัทที่พัฒนาตู้เต่าบินขึ้นมา
เขาบอกว่า จุดเริ่มต้นของการลงทุนในธุรกิจตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ
คือ ต้องการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้ จากธุรกิจหลักของบริษัทคือ การผลิตชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์
คุณเต่า มองว่า ด้วยความที่ธุรกิจเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนแทบทุกวัน ดังนั้นธุรกิจนี้จึงต้องวิจัย พัฒนา และอัปเกรดเครื่องจักรให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
จุดนี้เองจะต่างจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงช้ากว่า เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน แต่คนก็ยังจำเป็นต้องดื่มต้องกินอยู่ดี
ทำให้เขามีแนวคิดที่จะเข้ามาทำธุรกิจดังกล่าว เพื่อเพิ่มรายได้จากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
และธุรกิจ ตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ ก็คือคำตอบของเรื่องนี้..
จุดเปลี่ยนอีกครั้ง เกิดขึ้นเมื่อมีวิกฤติโรคระบาด
ทำให้คุณเต่า มองหา ตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติ หรือ Vending machine จากต่างประเทศ มาทดลองตลาด เพื่อลดการสัมผัสระหว่างคนซื้อและคนขาย
แต่ปัญหาของตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติ ที่นำเข้าจากต่างประเทศคือ ถ้าเสียแล้วต้องซ่อมเอง และจะค่อนข้างมีความยุ่งยาก
ทำให้เขาตัดสินใจที่จะคิดค้น และพัฒนาตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติขึ้นเอง
ซึ่งไม่ใช่แค่การผลิตตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติธรรมดา ๆ แต่ต้องเป็นตู้คาเฟอัตโนมัติ ที่เคลื่อนที่เอาไปตั้งที่ไหนก็ได้ และสามารถให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
จนสุดท้ายได้มาเปิดตัว ตู้เต่าบิน ตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติช่วงต้นปี 2564
แล้วกลยุทธ์อะไร ที่ช่วยให้เต่าบิน เป็นกระแสขึ้นมา
-ความสม่ำเสมอในการผลิตเครื่องดื่ม
เหตุผลที่ต้องเป็นตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติที่มีระบบเครื่องชั่งอัตโนมัติภายในตู้ เพื่อตัดปัญหาความไม่สม่ำเสมอในการชงเครื่องดื่มออกไป
เขาบอกว่า สมมติว่า เราชงกาแฟครั้งแรกใส่ไป 12 กรัม ครั้งที่ 2 ใส่กาแฟไป 15 กรัม รสชาติก็ไม่เหมือนกันแล้ว
ซึ่งการมีระบบเครื่องชั่งภายในตู้จะทำให้ทุกส่วนผสมทั้งกาแฟ นม น้ำแข็ง รวมทั้งเครื่องดื่มอื่น ๆ ได้สัดส่วนที่เป็นมาตรฐานนั่นเอง
-การบริหารต้นทุนด้านโลจิสติกส์
การผลิตเครื่องดื่มกับรอบในการเติมวัตถุดิบต้องสัมพันธ์กัน
คุณเต่ามองว่า ถ้าเป็นในอดีต เวลาที่ตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติขายได้ 3,000 บาท พนักงานก็ต้องคอยไปเติมวัตถุดิบต่าง ๆ 1 ครั้ง โดยเสียค่าขนส่ง 300 บาท หรือ 10% ของยอดขาย ตรงนี้มองว่าไม่คุ้ม
และด้วยความที่ FORTH เชี่ยวชาญในด้านการออกแบบ รวมถึงทำวิจัยและพัฒนาสินค้านวัตกรรมอยู่แล้ว
ทำให้เขาสามารถแก้ Pian Point นี้ ด้วยการออกแบบตู้เต่าบิน ให้สามารถชงเครื่องดื่มได้ 6,000-7,000 บาทต่อการเติมวัตถุดิบ 1 ครั้ง เพื่อทำให้ค่าขนส่งต่อยอดขายมีสัดส่วนลดลงมากกว่าเดิม
-ให้ความสำคัญกับเรื่อง คุณภาพของวัตถุดิบ
เช่น ภายในตู้เต่าบินนั้น มีเครื่องที่สามารถผลิตน้ำแข็งและโซดา เครื่องชงและปั่น โดยสามารถชงทั้งเครื่องดื่มร้อนและเย็นได้มากกว่า 200 เมนู
โดยน้ำภายในตู้ที่ใช้ทำน้ำแข็งและโซดา รวมทั้งชงเครื่องดื่มต่าง ๆ นั้น เป็นน้ำ Reverse Osmosis หรือ R.O. ที่ผ่านระบบการกรองเพื่อกรองน้ำบริสุทธิ์ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการผสมกับวัตถุดิบตามออร์เดอร์ของลูกค้า
ซึ่ง 3 กลยุทธ์ที่ว่ามานี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญ
ที่ทำให้ตู้เต่าบินแจ้งเกิด เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง ในระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปี เท่านั้นเอง..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ปัจจุบัน สัดส่วนเมนูของตู้เต่าบิน แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ
-เครื่องดื่มเย็น 60%
-เครื่องดื่มสมูทที 31%
-เครื่องดื่มร้อน 9%
ณ สิ้นไตรมาส 3/2565 ยอดขายรวม ของตู้เต่าบินในปัจจุบัน อยู่ที่วันละกว่า 214,000 แก้ว
ขณะที่ตู้เต่าบินมีจำนวนทั้งหมด 3,572 ตู้ โดยตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 48% ต่างจังหวัด 52%
โดยคุณเต่าคาดว่าจะมีตู้เต่าบินครบ 5,000 ตู้ภายในสิ้นปีนี้ และจะถึง 20,000 ตู้ภายในปี 2567
และยังตั้งเป้าจะมี ยอดขายเฉลี่ย 1,000,000 แก้วต่อวัน ซึ่งจะทำให้ตู้เต่าบิน สามารถสร้างรายได้ถึง 6,000-10,000 ล้านบาทต่อปี เลยทีเดียว..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหรือขาย หุ้นที่กล่าวถึง การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.