กรณีศึกษา Nike ไม่ทำโรงงานเอง จ้างคนอื่นผลิต ให้ทั้งหมด

กรณีศึกษา Nike ไม่ทำโรงงานเอง จ้างคนอื่นผลิต ให้ทั้งหมด

22 ธ.ค. 2022
กรณีศึกษา Nike ไม่ทำโรงงานเอง จ้างคนอื่นผลิต ให้ทั้งหมด | BrandCase
คงไม่มีใครไม่รู้จัก Nike แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาอันดับ 1 ของโลก ทั้งในแง่ของมูลค่าบริษัทกว่า 6 ล้านล้านบาท และส่วนแบ่งการตลาดถึง 44%
โดยในปัจจุบัน มีโรงงานกว่า 439 โรงงานใน 36 ประเทศทั่วโลก คอยผลิตสินค้าให้กับ Nike
แต่รู้หรือไม่ว่า โรงงานเกือบทั้งหมดนั้น Nike ไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่เป็นโรงงานของซัปพลายเออร์ ที่ Nike จ้างผลิต หรือเรียกว่า Outsourcing
แล้วทำไมแบรนด์กีฬาที่วางขายทั่วโลก และมีรายได้ปีละ 1.6 ล้านล้านบาท ถึงไม่ตั้งโรงงานเป็นของตัวเอง BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของ Nike บริษัทเป็นเพียงแค่ผู้นำเข้ารองเท้ากีฬา จากประเทศญี่ปุ่น อย่างแบรนด์ Onitsuka Tiger ที่ในเวลานั้น เป็นที่ชื่นชอบของนักวิ่งเป็นอย่างมาก เพราะมีราคาถูกและคุณภาพดี
แต่หลังจากการทำธุรกิจร่วมกันเพียงแค่ 7 ปี
Onitsuka Tiger และ Nike กลับขัดแย้งกันเอง
ทำให้ในท้ายที่สุด Onitsuka Tiger หยุดส่งสินค้าให้กับ Nike
จนเป็นที่มาให้ Nike ต้องหันมาผลิตรองเท้ากีฬาด้วยตัวเอง
แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและรองเท้านั้น เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาแรงงานคนเป็นจำนวนมาก ทำให้หากตั้งโรงงานในสหรัฐอเมริกา ที่มีอัตราค่าจ้างสูง ก็จะเสียเปรียบด้านต้นทุนค่าแรงเป็นอย่างมาก
Nike จึงจำเป็นต้องใช้ระบบ Outsourcing เข้ามาช่วย โดยทวีปเอเชียได้กลายมาเป็นเป้าหมายหลักในการลงทุนของ Nike เพราะยังมีค่าแรงที่ถูก อีกทั้งสินค้าที่ผลิตออกมายังมีคุณภาพดี
Nike จึงเริ่มเข้าไปในญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนั้นยังมีค่าแรงที่ถูก ก่อนที่ในช่วงปี 1970 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเฟื่องฟูหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ค่าแรงปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก
Nike จึงจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งเวลาต่อมา เศรษฐกิจและค่าแรงของทั้ง 2 ประเทศนี้ ก็เพิ่มสูงขึ้นเหมือนกัน
Nike ย้ายฐานการผลิตอีกครั้งมายังจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย
ซึ่งในปัจจุบัน สินค้ากว่า 90% ของ Nike มีฐานการผลิตมาจาก 3 ประเทศนี้
แล้วทำไมบริษัทถึงไม่เคยคิดที่จะสร้างโรงงานผลิตสินค้า เป็นของตัวเองเลย ?
ปัจจัยแรกคือ สินค้าของ Nike นั้นมีความหลากหลาย ตั้งแต่หมวก, เสื้อผ้า, รองเท้า ไปจนถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งสินค้าแต่ละชนิดนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องจักร และทักษะแรงงานที่แตกต่างกันไป
ในขณะที่การจะลงทุนสร้างโรงงานเป็นของตัวเองก็ต้องใช้เงินลงทุนสูง และมีค่าใช้จ่ายคงที่ หรือ Fixed Cost ที่สูง
อย่างเช่น เงินเดือนพนักงาน, ค่าซ่อมบำรุง ไปจนถึงการซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องจักร ที่แตกต่างกันในการผลิตสินค้าแต่ละชนิด
อีกปัจจัยหนึ่งคือสินค้าของ Nike นั้นไม่ได้มีความซับซ้อน หรือต้องการวัตถุดิบพิเศษในการผลิต
ทำให้ไม่ว่าจะเป็นโรงงานของประเทศใด ก็สามารถผลิตสินค้าของ Nike ได้เหมือนกันหมด ทำให้โรงงานเหล่านี้จำเป็นต้องแข่งขันกันที่ต้นทุนวัตถุดิบ และค่าแรงเป็นหลัก
การจ้าง Outsource ผลิตสินค้าของตัวเอง จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า เพราะบริษัทสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ง่ายกว่า
อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นมากกว่า เพราะหากสินค้าขายไม่ดี ก็สามารถปรับลดการผลิต หรือเปลี่ยนรุ่นได้ทันที
เพราะไม่มีภาระผูกพัน ทำให้ Nike สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ยังช่วยให้ Nike ไม่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมาก จึงสามารถนำทรัพยากรที่มีไปโฟกัสกับการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ และใช้ไปกับการตลาดอื่น ๆ
จริง ๆ เคสนี้ก็คล้าย ๆ กับอีกแบรนด์ระดับโลกในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อย่าง Apple
ที่ตอนนี้จ้างซัปพลายเออร์พันธมิตร ผลิต iPhone และสินค้าอื่น ๆ ให้ทั้งหมด แล้วตัวเองเอาเวลาไปออกแบบสินค้า เทคโนโลยี และทำการตลาดให้ปัง ๆ
เพราะการจ้าง Outsource หรือผู้ผลิตรายอื่น ที่ผ่านการคัดเลือกด้านคุณภาพและต้นทุนแล้ว มาผลิตสินค้าให้ ก็ช่วยให้บริษัท ไม่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบในมือมากเกินไป
และสามารถโฟกัสไปกับการสร้างมูลค่าของแบรนด์ อย่างที่หลาย ๆ แบรนด์ รวมถึง Nike ทำมาโดยตลอด
จนวันนี้ Nike กลายเป็นบริษัท มูลค่าราว 6 ล้านล้านบาท
ที่สามารถผลิตสินค้าขายคนทั่วโลกมานานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีโรงงาน เป็นของตัวเองเลย..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.