Tesla เคยทำธุรกิจ สับเปลี่ยนแบตเตอรี่ แต่เลิกไปแล้ว

Tesla เคยทำธุรกิจ สับเปลี่ยนแบตเตอรี่ แต่เลิกไปแล้ว

16 ธ.ค. 2022
Tesla เคยทำธุรกิจ สับเปลี่ยนแบตเตอรี่ แต่เลิกไปแล้ว | BrandCase
ปัญหาสำคัญที่ทำให้ หลาย ๆ คนยังคงลังเลในการเปลี่ยนไปใช้รถ EV คือ สถานีชาร์จที่ยังมีน้อยเกินไป หรือปัญหาพื้นที่พักอาศัย ซึ่งไม่เหมาะต่อการติดตั้ง Charger
ไปจนถึงความเร็วในการชาร์จ ที่ใช้เวลานานมากกว่าการเติมน้ำมัน
และรู้หรือไม่ว่า ในปี 2013 Tesla เคยใช้วิธีที่เรียกว่า Battery Swap หรือกับรถ Tesla Model S
ซึ่งทำให้การชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง มีเวลาใกล้เคียงกับการเติมน้ำมัน โดยที่ Tesla เคลมไว้ว่า Battery Swap ของบริษัท ใช้เวลาเพียงแค่ 90 วินาทีเท่านั้น
แต่วันนี้ Tesla เลิกทำแบบนั้นไปแล้ว..
Battery Swap คืออะไร แล้วทำไม Tesla ถึงต้องเลิกทำธุรกิจนี้
BrandCase จะอธิบายเคสนี้ให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
Battery Swap คือวิธีการเปลี่ยนแบตเตอรี่รถ EV ที่จุดให้บริการ ด้วยการถอดแบตเตอรี่ในรถออก และเปลี่ยนแบตเตอรี่ใบใหม่เข้าไปแทนที่
โดยมีข้อดีคือ ลดระยะเวลาชาร์จจากแท่น Charger
คือปกติที่จะชาร์จเต็ม ประมาณ 8-10 ชั่วโมง หรือ Quick Charger ที่ประมาณ 30-45 นาที ให้เหลือเพียง 5 นาที อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน หรือไม่ต้องลงจากรถด้วยซ้ำ
และ Tesla ก็ไม่ใช่บริษัทเดียวที่เล็งเห็นถึงข้อดีของ Battery Swap
เพราะแม้แต่ VinFast แบรนด์รถ EV ของมหาเศรษฐีเวียดนาม และ Nio แบรนด์รถ EV จากจีน ก็ยังนำระบบ Battery Swap มาใช้เป็นจุดเด่นเช่นกัน
โดยจุดขายหลักของ Nio คือการมี Battery Swap Station ในจีนมากกว่า 500 จุด
และยังให้ตัวเลือกกับลูกค้าด้วยการซื้อรถ EV โดยที่ไม่มีจำเป็นต้องซื้อแบตเตอรี่ ซึ่งจะทำให้ราคารถ ถูกลงกว่า 20%
โดยที่ลูกค้า สามารถเลือกใช้บริการ Subscription แบตเตอรี่เป็นรายเดือนแทน ซึ่งมีข้อดีตรงที่ไม่จำเป็นต้องกังวลกับปัญหาแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ และค่าใช้จ่ายที่ตามมา
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ Battery Swap ของ Tesla กลับไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก และหลังจากเปิดตัวไปได้ไม่นาน Tesla ก็ตัดสินใจปิดให้บริการ Station ดังกล่าว
อีกทั้งในปีที่ผ่านมา Tesla ก็ออกมาประกาศว่า บริษัทคิดว่าการชาร์จแบตเตอรี่ที่ดีที่สุด คือการชาร์จผ่าน Charger และหันไปให้ความสนใจกับการพัฒนาระบบ Super Charger ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
แล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ Tesla เลือกหันหลังให้กับธุรกิจ Battery Swap ?
-ปัจจัยแรก คือ ลูกค้าส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีนี้ เท่าไรนัก
เพราะด้วย Station ของ Tesla ที่ยังมีน้อย ทำให้การขับรถ เพื่อไปเปลี่ยนแบตเตอรี่นั้น ไม่คุ้มกับเวลาที่ต้องเสีย
อีกทั้งลูกค้าเองก็ไม่มั่นใจว่าแบตเตอรี่ที่เปลี่ยนมานั้น จะอยู่ในสภาพดีหรือไม่
-ปัจจัยถัดมาคือ ค่าใช้จ่ายในสร้าง Station นั้น ต้องใช้เงินลงทุนหนัก
เพราะจำเป็นที่จะต้องสำรองแบตเตอรี่ไว้ให้เพียงพอกับความต้องการ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการสร้าง Charger นั้นกลับมีราคาถูกกว่า และสามารถกระจาย ไปยังจุดต่าง ๆ รอบเมืองได้
ปัจจัยสุดท้ายคือ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในอนาคตแบตเตอรี่ อาจจะสามารถชาร์จไฟได้เร็วขึ้น หรือสามารถวิ่งได้ระยะทางไกลมากขึ้นเรื่อย ๆ
การลงทุนในธุรกิจ Battery Swap จึงไม่คุ้มค่าในระยะยาว อีกทั้ง Battery Swap ยังเป็นการจำกัดดิไซน์ของรถในอนาคต ที่จะต้องทำมาให้รองรับกับแบตเตอรี่ที่มีอยู่
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ Tesla จึงมุ่งเน้นไปที่การขายรถและพัฒนา Charger เป็นหลัก
และเลิกทำธุรกิจ Battery Swap หรือสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ไปแล้วนั่นเอง..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.