40 กว่าปีที่แล้ว เจ้าสัวธนินท์ เริ่มธุรกิจ ขายมอเตอร์ไซค์ วันนี้ต่อยอดมาขาย รถยนต์ MG

40 กว่าปีที่แล้ว เจ้าสัวธนินท์ เริ่มธุรกิจ ขายมอเตอร์ไซค์ วันนี้ต่อยอดมาขาย รถยนต์ MG

7 ธ.ค. 2022
40 กว่าปีที่แล้ว เจ้าสัวธนินท์ เริ่มธุรกิจ ขายมอเตอร์ไซค์ วันนี้ต่อยอดมาขาย รถยนต์ MG | BrandCase
หากพูดถึงธุรกิจของกลุ่ม CP หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์
หลายคนน่าจะนึกถึง
-ธุรกิจอาหารและการเกษตร
-ธุรกิจค้าปลีกอย่าง 7-Eleven, Makro และ Lotus’s
-ระบบเครือข่ายโทรศัพท์และเน็ตบ้าน True
และก็มีอีกกลุ่มธุรกิจที่ CP ก็เกี่ยวข้องมานาน
คือธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์
ซึ่งถ้าอย่างทุกวันนี้ หลายคนก็พอจะรู้ว่า CP ก็เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์แบรนด์ MG ในบ้านเรา
แต่มันมีอีกเรื่องที่น่าสนใจเหมือนกัน คือจุดเริ่มต้นของกลุ่ม CP ในวงการยานยนต์ที่ว่านี้
เพราะเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว เจ้าสัวธนินท์ ที่ตอนนั้นเป็นหัวเรือใหญ่ CP ได้เริ่มธุรกิจ นายหน้าขายรถมอเตอร์ไซค์ในประเทศจีน
และต่อยอดมาทำโรงงานผลิตรถมอเตอร์ไซค์ขายเอง
แล้วเรื่องราวจากตอนนั้น จนต่อยอดมาขายรถยนต์แบรนด์ MG ในวันนี้ มีอะไรน่าสนใจ
BrandCase จะเล่าเคสนี้ที่หลายคนยังไม่รู้ ให้อ่านกัน
ต้องบอกว่าแรกเริ่มของเครือ CP นั้น ได้ขยายธุรกิจไปยังประเทศจีน ก่อนที่จีนจะเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างชาติอย่างจริงจัง
ในปี 2490 เครือ CP ได้ก่อตั้งบริษัทเป็นครั้งแรกในประเทศจีน
โดยทำธุรกิจอาหารสัตว์ และนำเข้าไข่ไก่
และเวลาต่อมา ก็เอาเงินที่ได้จากการทำธุรกิจ ไปต่อยอดเข้าไปเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในบริษัทประกัน และบริษัทการเงินในจีน
จนกระทั่งในปี 2521 ประเทศจีน เพิ่งเริ่มดำเนินนโยบายเปิดประเทศ เปิดเศรษฐกิจกับโลกภายนอกอย่างจริงจัง
และมีการผลักดันเรื่องการส่งออก รวมถึงการค้าขายสินค้าให้กับชาวต่างชาติ
วันหนึ่ง ลูกพี่ลูกน้องของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ได้เข้ามาชักชวนให้คุณธนินท์ เป็นตัวแทนส่งออกรถมอเตอร์ไซค์แบรนด์ ซิ่งฝู ที่ผลิตในประเทศจีน
ในการประชุมคณะผู้บริหาร ของเครือ CP ในเวลานั้น ไม่ค่อยเห็นด้วย กับธุรกิจที่ว่านี้เท่าไรนัก เพราะรถมอเตอร์ไซค์แบรนด์ดังกล่าว ยังดูล้าสมัย ประสิทธิภาพไม่ค่อยดี
ซึ่งการขายของแบบนี้ หลายคนมองว่า จะดูเสี่ยงเกินไป
แต่คุณธนินท์ คิดต่างออกไป เขากลับให้ความสนใจ และต้องการที่จะเป็นตัวแทนจำหน่าย รถมอเตอร์ไซค์แบรนด์นี้ เพียงเจ้าเดียวในโลก
แล้ว คุณธนินท์ มองเห็นโอกาสอะไรในธุรกิจนี้ ?
ต้องบอกว่า ในช่วงเปิดประเทศใหม่ ๆ มีชาวจีนโพ้นทะเล ที่อาศัยอยู่นอกประเทศจีนจำนวนมาก มักเดินทางกลับประเทศจีนบ้านเกิด ในช่วงเทศกาล
ชาวจีนที่อยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ ก็ยังไม่มีรถมอเตอร์ไซค์ขับ ซึ่งเวลาไปไหนมาไหน พวกเขาจะใช้รถจักรยานเป็นหลัก
คุณธนินท์ จึงได้ตั้งกลุ่มเป้าหมายลูกค้า คือ ชาวจีนในจีนเอง ที่มีรายได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จากนโยบายเปิดประเทศของจีน
ซึ่งคนพวกนี้ยังใช้จักรยาน แต่ต้องการความสะดวกมากขึ้น ในราคาที่เข้าถึงได้
ถึงแม้ว่าซิ่งฝู จะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ที่มีประสิทธิภาพต่ำ
แต่ก็ทำให้ชาวจีนโพ้นทะเล และญาติพี่น้อง ที่อยู่เมืองจีน ได้เข้าถึงรถมอเตอร์ไซค์ ในราคาย่อมเยา
คุณธนินท์ จึงตัดสินใจ เจรจากับโรงงานผลิตรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อซิ่งฝู ที่เซี่ยงไฮ้ เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว
ซึ่งปรากฏว่าสามารถทำ ยอดขายได้ดีเกินคาด
และตั้งแต่นั้นมา ทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงได้ก่อตั้งบริษัทชื่อ Shanghai Ek-Chor Motorcycle และร่วมทุนกับรัฐบาลจีน ในการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ ในปี 2528
ซึ่งในตอนนั้น ทางบริษัท ได้เล็งเห็นว่า รถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อซิ่งฝู เริ่มเก่าและล้าสมัย
ทางบริษัท จึงได้ตัดสินใจหารถมอเตอร์ไซค์ ที่กำลังได้รับความนิยม ในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย
บริษัท จึงได้ตัดสินใจเข้าไปเจรจา กับทาง Honda ที่ประเทศญี่ปุ่น จนได้ลิขสิทธิ์ในเทคโนโลยี และองค์ความรู้ในการผลิตรถมอเตอร์ไซค์
และรถมอเตอร์ไซค์ Honda ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก
พอดำเนินธุรกิจมาเรื่อย ๆ จนถึงปี 2535
เครือ CP ได้คิดอยากจะทำรถมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเองบ้าง
เครือ CP จึงได้ก่อตั้งบริษัท Luoyang Northern Ek-Chor Motorcycle ขึ้นอีกบริษัทหนึ่ง
ที่เมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน เพื่อผลิตรถมอเตอร์ไซค์แบรนด์ “ต้าหยาง”
โดยครั้งนี้เป็นการร่วมทุนกันระหว่าง เครือ CP กับรัฐวิสาหกิจท้องถิ่นในจีน
ทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กลุ่ม CP ก็ได้มีบริษัทยานยนต์ 2 บริษัทในจีน นั่นคือ
Shanghai Ek-Chor Motorcycle
ร่วมทุนกับบริษัท Shanghai Automotive Industry Corp (SAIC) โดยเครือ CP ถือหุ้น 50%Luoyang Northern Ek-Chor Motorcycle
ร่วมทุนกับ Luoyang Northern Enterprise Group ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจท้องถิ่นของจีน โดยเครือ CP ถือหุ้น 55%
ธุรกิจยานยนต์ของเครือ CP ได้ดำเนินกิจการมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ส่งผลให้หลาย ๆ ธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง
ทางบริษัท จึงได้ตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ครึ่งหนึ่งของบริษัท Shanghai Ek-Chor Motorcycle ออกไป
จึงทำให้เครือ CP เหลือบริษัทรถยนต์เพียงบริษัทเดียว นั่นคือ Luoyang Northern Ek-Chor Motorcycle
ปัจจุบันแบรนด์ ต้าหยาง ก็ยังคงออกรถรุ่นใหม่ ๆ มาตีตลาดประเทศจีนอยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบัน มีรถออกจำหน่ายไปแล้วทั้งหมด 40 รุ่น และรถสี่ล้อขนาดเล็ก อีก 11 รุ่น
โดยโรงงานผลิตในประเทศจีน มีกำลังการผลิตรถมอเตอร์ไซค์กว่า 640,000 คันต่อปี และรถสี่ล้อความเร็วต่ำอีกกว่า 100,000 คันต่อปี ส่งออกไปทั่วโลก
ส่วนทางด้านบริษัท Shanghai Ek-Chor Motorcycle ที่เครือ CP เคยได้ถือหุ้นครึ่งหนึ่งแล้วขายออกไปนั้น
ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Shanghai Xingfu Motorcycle
อย่างไรก็ตาม ทางเครือ CP ก็ยังคงมีความสัมพันธ์อันดี กับพันธมิตร ที่เคยเป็นตัวแทนผลิตและจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์อย่าง SAIC
จนกระทั่งในปี 2556 ทางเครือ CP ก็ได้ร่วมมือกับ SAIC อีกครั้ง ในการตั้งโรงงานประกอบรถยนต์แบรนด์ MG และเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย
ซึ่งต้องบอกก่อนว่า จริง ๆ แล้ว เดิมที MG เป็นแบรนด์รถยนต์จากอังกฤษ
แต่โดน Nanjing Automobile จากจีน ซื้อกิจการไปในช่วงปี 2548-2549
และต่อมากลุ่ม SAIC จากจีน ก็ได้เข้าควบรวมกิจการของ Nanjing Automobile อีกทีหนึ่งในปี 2551
โดยในการตีตลาดในประเทศไทย ทางเครือ CP ได้ร่วมทุนกับ SAIC
จัดตั้งบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด (SAIC Motor-CP Co., Ltd) ซึ่งเครือ CP ถือหุ้น 49%
ซึ่งรถยนต์ MG รุ่นแรก ที่เปิดตัวในไทยนั้นคือ รถเก๋งรุ่น MG6 โดยเปิดตัวในปี 2557
ปัจจุบัน MG มีโรงงานประกอบรถยนต์ พื้นที่กว่า 700,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ใช้งบประมาณลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท
มีกำลังการผลิตสูงสุด 100,000 คันต่อปี
และนี่ก็คือเรื่องราวจุดเริ่มต้นของ เจ้าสัวธนินท์ และเครือ CP ในวงการยานยนต์
ที่เริ่มจากการเป็นนายหน้าขายรถมอเตอร์ไซค์ แบรนด์ซิ่งฝู
ต่อยอดมาทำแบรนด์ของตัวเอง ชื่อว่า ต้าหยาง
จนได้มาเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม SAIC Motor ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ MG
และต่อยอดมาเป็นผู้จำหน่าย และทำโรงงานประกอบรถยนต์ แบรนด์ MG ในไทย อย่างในวันนี้..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.