เส้นทาง AOT จากสนามม้าราชกรีฑาฯ สู่ดอนเมือง ถึงสุวรรณภูมิ

เส้นทาง AOT จากสนามม้าราชกรีฑาฯ สู่ดอนเมือง ถึงสุวรรณภูมิ

25 ต.ค. 2022
เส้นทาง AOT จากสนามม้าราชกรีฑาฯ สู่ดอนเมือง ถึงสุวรรณภูมิ | BrandCase
รู้หรือไม่ ? สนามบินแห่งแรกในไทยที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการ คือ สนามบินสระปทุม
ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของ สนามม้าราชกรีฑาสโมสร ที่อยู่บริเวณถนนอังรีดูนังต์ ใกล้กับ BTS สถานีราชดำริ ในปัจจุบัน
ซึ่งนั่นก็คือจุดเริ่มต้นสำคัญ ของกิจการการบินในประเทศไทย
และเป็นจุดเริ่มต้นของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ที่เรารู้จักกัน
เรื่องราวของ AOT จากสนามม้าราชกรีฑาสโมสร
สู่ดอนเมือง มาถึงสุวรรณภูมิ เป็นอย่างไร ?
BrandCase จะเล่าเรื่องมุมนี้ที่หลายคนไม่เคยรู้ ให้อ่านกัน
ย้อนกลับไปในปี 2452 หรือเมื่อ 113 ปีก่อน
สองพี่น้องตระกูลไรท์ ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน ได้ขับเครื่องบินที่ประดิษฐ์เอง บินข้ามทวีปอเมริกา ไปยังทวีปยุโรปได้สำเร็จ
ในอีก 2 ปีต่อมา ได้มีนักบินของชาวเบลเยียมชื่อ ฟัน เดน บอร์น
ได้นำเครื่องบินของ ออร์วิลล์ ไรท์ มาบินแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยใช้พื้นที่บริเวณสนามม้าราชกรีฑาสโมสรเป็นสถานที่จัดแสดง
ซึ่งต่อมาในปี 2456 กระทรวงกลาโหม ก็ได้นำพื้นที่ส่วนหนึ่งของสนามม้าราชกรีฑาสโมสร ไปใช้เป็นสถานที่
ขึ้น และลงจอดเครื่องบิน
โดยสนามบินแห่งนี้ ใช้ชื่อว่า “สนามบินสระปทุม” ซึ่งนับเป็นสนามบินแห่งแรก ที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการ ของประเทศไทย
แต่ประเด็นคือ หลังเปิดใช้ไปเพียง 1 ปี ก็เจอปัญหา
เพราะว่าที่ตั้งของสนามบินสระปทุม ค่อนข้างคับแคบ และเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมขังได้ง่าย
พอเป็นแบบนี้จึงมีการเลือกพื้นที่ สำหรับก่อสร้างสนามบินใหม่
โดยจากการบินสำรวจทางอากาศ ก็ได้พบผืนนาที่เป็นที่ดอน แถมยังเป็นทางผ่านของรถไฟสายเหนือ
นั่นก็คือ ที่ดินดอนเมือง ที่อยู่ทางตอนเหนือของอำเภอบางเขน
ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้น ตั้งใจจะใช้ที่ดินผืนนี้ พัฒนาเป็นสนามบินขนาดใหญ่ ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ทั่วโลก
“สนามบินดอนเมือง” จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2457 โดยให้อยู่ในความดูแลของ กรมการบินทหารบก
34 ปีต่อมา ในปี 2491 กรมการบินพลเรือนได้ถูกจัดตั้งขึ้น
เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการบินระหว่างประเทศ พร้อมทั้งปรับปรุงสนามบินดอนเมือง ให้เป็นท่าอากาศยานสากล
และตั้งชื่อใหม่ว่า “ท่าอากาศยานกรุงเทพ”
ต่อมาทางสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดตั้งขึ้น ได้เล็งเห็นว่าในอนาคต กรุงเทพมหานคร ควรจะมีสนามบินเพิ่มอีกแห่ง
เพื่อเป็นหน้าต่างบานแรกของประเทศ ให้กับการเดินทางของคนทั่วโลก
และสอดคล้องกับอนาคตของเศรษฐกิจไทยที่กำลังเติบโต
ในปี 2503 ภายใต้การบริหารของรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีแนวคิดที่จะก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ต่อจากสนามบินดอนเมือง
โดยได้มีการปรึกษาบริษัทลิตช์ฟีลด์ และสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา
ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้น ก็ได้ตัดสินใจเวนคืน และซื้อที่ดิน บริเวณหนองงูเห่า จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อรองรับเมกะโปรเจกต์นี้
เวลาต่อมา อุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์ในไทยเติบโตขึ้นมาก จากการท่องเที่ยว ทั้งในประเทศ และคนต่างประเทศที่เดินทางเข้ามา
ซึ่งเพื่อให้การบริหารงานมีความคล่องตัวมากขึ้น กองทัพอากาศ จึงได้จัดตั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีชื่อว่า
การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หรือ ทอท. (AAT) ในปี 2522
พูดง่าย ๆ คือ AAT เกิดขึ้นมา เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารงาน ให้เป็นเชิงธุรกิจ และให้สามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินได้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งในเวลาต่อมา AAT ก็ได้รับโอนท่าอากาศยานนานาชาติในส่วนภูมิภาค ที่มีการใช้บริการมากที่สุด เพิ่มอีก 4 แห่ง จากกรมการบินพาณิชย์ นั่นคือ
-ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานภูเก็ต รับโอนเมื่อปี 2531
-ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง (เชียงราย) รับโอนเมื่อปี 2541
ปี 2545 AAT แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน และใช้ชื่อว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว
และในปีเดียวกันนั้นเอง ก็เริ่มมีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ในจังหวัดสมุทรปราการ นั่นคือ “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ”
ซึ่งอีก 2 ปีต่อมา ในปี 2547 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ก็เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ตัวย่อหลักทรัพย์ว่า “AOT”
โดยเสนอขายให้นักลงทุนทั่วไป คิดเป็นสัดส่วน 30%
ส่วนอีก 70% กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ถือหุ้นเหมือนเดิม
ปี 2549 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็สร้างเสร็จ และเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ
และกลายเป็นท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
โดยใน ในวันที่ 29 กันยายน 2548 ก็มีเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ที่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร พร้อมคณะรัฐมนตรี จากท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ..
ตั้งแต่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดให้บริการ ก็มีสถิติที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น
-มีหอบังคับการบิน ที่สูงที่สุดในโลก (132.2 เมตร)
-มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารเดี่ยว ที่มีพื้นที่ใช้สอยมากเป็นอันดับ 3 ของโลก (563,000 ตารางเมตร) ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้กว่า 45 ล้านคนต่อปี
ปี 2562 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ทำสถิติผู้โดยสารสูงสุดตลอดกาล อยู่ที่ 64.7 ล้านคน
ทำรายได้กว่า 62,783 ล้านบาท กำไรสุทธิ 25,096 ล้านบาท
ปัจจุบัน AOT บริหารท่าอากาศยานทั้งหมด 6 แห่ง ในไทย
1.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
2.ท่าอากาศยานดอนเมือง
3.ท่าอากาศยานภูเก็ต
4.ท่าอากาศยานเชียงใหม่
5.ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (สงขลา)
6.ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง (เชียงราย)
ซึ่งในปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด 19
มีจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการ 6 ท่าอากาศยานนี้ รวม 106 ล้านคน
มีจำนวนเที่ยวบินรวม 896,097 เที่ยวบิน
เทียบกับท่าอากาศยานอีก 29 แห่ง ที่กรมท่าอากาศยาน ของกระทรวงคมนาคมเป็นคนดูแล ที่มีจำนวนผู้โดยสาร 18.6 ล้านคน มีจำนวนเที่ยวบินรวมในปีนั้น 141,650 เที่ยวบิน
จะเห็นว่า ท่าอากาศยานที่ AOT ดูแล รองรับจำนวนผู้โดยสาร และจำนวนเที่ยวบิน เป็นจำนวนที่เยอะมาก
และนี่ก็คือสรุปเรื่องราวสำคัญ ๆ ของ AOT บริษัทบริหารสนามบินที่ใหญ่สุดในไทย
ที่วันแรก เริ่มจากสนามบินในสนามม้าราชกรีฑาสโมสร
มาจนถึง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันนี้..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ..
จากการจัดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลก โดย Skytrax
ปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดีที่สุด เป็นอันดับที่ 77 ของโลก
จากที่เคยทำอันดับดีที่สุด คืออันดับที่ 10 ของโลก ในปี 2553 ..
References
-https://www.airportthai.co.th/th/เกี่ยวกับ-ทอท/ประวัติความเป็นมา/
-https://www.takieng.com/stories/15884
-https://th.wikipedia.org/wiki/ราชกรีฑาสโมสร
-https://th.wikipedia.org/wiki/ท่าอากาศยานดอนเมือง
-https://th.wikipedia.org/wiki/ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
-เอกสาร 56-1 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ปี 2551
-รายงานประจำปี บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ปี 2562
-รายงานประจำปี 2561-2562 กรมท่าอากาศยาน
-https://www.airports.go.th/post/view/18
-https://www.worldairportawards.com/worlds-top-100-airports-2018/
-https://ptp.or.th/archives/18405
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.