น้ำเต้าหู้โทฟุซัง เคยแตกแบรนด์ทำ นมถั่วเหลือง แต่เลิกไปแล้ว

น้ำเต้าหู้โทฟุซัง เคยแตกแบรนด์ทำ นมถั่วเหลือง แต่เลิกไปแล้ว

23 ต.ค. 2022
น้ำเต้าหู้โทฟุซัง เคยแตกแบรนด์ทำ นมถั่วเหลือง แต่เลิกไปแล้ว | BrandCase
รู้หรือไม่ว่า แบรนด์โทฟุซัง ที่ดังจากการขายน้ำเต้าหู้
ครั้งหนึ่งก็เคยใช้กลยุทธ์แตกแบรนด์ ออกมาทำนมถั่วเหลือง ที่ชื่อว่า SOYPOP (ซอยป๊อป)
วางขายคู่กันกับโทฟุซัง ในร้าน 7-Eleven
แล้วทำไม โทฟุซัง ถึงต้องแตกแบรนด์ออกมาเป็น SOYPOP ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
โทฟุซัง มีภาพลักษณ์แบรนด์น้ำเต้าหู้เกรดพรีเมียม ที่มาพร้อมกับแครักเตอร์เด็กผู้ชายหัวหยิก
โดยสินค้าตัวแรกของโทฟุซังที่ออกสู่ตลาดในปี พ.ศ. 2555 คือ นมถั่วเหลืองผสมฟองเต้าหู้
จุดเด่นของโทฟุซัง คือการเน้นนำของดีมาใช้ในการผลิตสินค้า เลือกใช้ถั่วเหลือง EU certified organic ที่มีโปรตีนสูง มาเป็นจุดขายหลัก และมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครคือ ไม่ผสมน้ำมัน เพื่อเพิ่มความเข้มข้น ทำให้โทฟุซังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากคุณภาพ และรสชาติของสินค้า
แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของน้ำเต้าหู้โทฟุซังคือ การเข้าไปเสนอขายสินค้าในร้าน 7-Eleven ที่ทำให้ผู้บริโภครู้จักโทฟุซังมากยิ่งขึ้น
แต่ในตอนนั้นถ้าหากมองกันที่ขนาดของตลาดนมถั่วเหลืองพาสเจอไรซ์ที่โทฟุซังอยู่ ถือว่าเล็กมาก
เพราะคิดเป็นเพียง 5% ของตลาดนมถั่วเหลืองทั้งหมด
อีก 95% คือ ตลาดนมถั่วเหลืองแบบสเตอริไลซ์ และยูเอชที ซึ่งตลาดนมถั่วเหลืองพร้อมดื่มในประเทศไทยมีมูลค่า 17,000 ล้านบาท
เนื่องจากคนส่วนใหญ่มองโทฟุซังเป็นน้ำเต้าหู้ ถึงแม้ว่าน้ำเต้าหู้จะทำมาจากถั่วเหลือง เหมือนกันกับนมถั่วเหลืองก็ตาม แต่เรื่องระยะเวลาในการเก็บและรสชาตินั้น ถือว่าแตกต่างกันอยู่พอสมควร
ดังนั้นในปี พ.ศ. 2561 บริษัทจึงออกแบรนด์น้องใหม่ โดยใช้ชื่อว่า SOYPOP (ซอยป๊อป)
ซึ่งเป็นแบรนด์นมถั่วเหลืองผสมแคลเซียม มาในรูปแบบถุง หวังจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กโดยเฉพาะ
แต่การเข้ามาเพื่อหวังส่วนแบ่งในตลาดนี้ ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยากอยู่พอสมควร
เพราะตลาดนมถั่วเหลืองในไทย มีผู้เล่นรายใหญ่อยู่ไม่กี่เจ้า คือ
แลคตาซอย ที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524
และไวตามิ้ลค์ ก็มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501
ซึ่งทั้ง 2 แบรนด์ ต่างยึดตำแหน่งเจ้าตลาดไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ด้วยอายุแบรนด์ที่มีมาอย่างยาวนาน และการโฆษณาที่ติดหูคนไทย
นอกจากบริษัทต้องปั้นแบรนด์ใหม่ เพื่อมาแข่งขันกับเจ้าใหญ่ในตลาดที่มีความยากแล้ว
ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่ชวนสงสัยไม่แพ้กัน คือเมื่อ ซอยป๊อป หันมาทำผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองคั้นสดในรูปแบบขวด ซึ่งเป็นสินค้าประเภทพาสเจอไรซ์เหมือนกับโทฟุซัง
แถมยังทำแพ็กเกจจิงขวดที่เหมือน ๆ กัน และตั้งราคาขายใกล้เคียงกันอีกด้วย
ถึงแม้ว่าการแตกแบรนด์ใหม่จะมีข้อดี ในการช่วยเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ด้วยการช่วงชิงพื้นที่การมองเห็นของผู้บริโภค
แต่ถ้าหากสินค้านั้นคล้ายกันมากเกินไป อาจทำให้ลูกค้าเกิดความสับสน คิดว่าเป็นของเลียนแบบได้
ลองนึกภาพตามว่าเรากำลังเข้าร้าน 7-Eleven เพื่อซื้อนมถั่วเหลือง หรือน้ำเต้าหู้ แล้วหันไปเห็นสินค้าประเภทเดียวกัน แพ็กเกจจิงคล้าย ๆ กัน แถมขายในราคาเท่า ๆ กัน
โดยแบรนด์หนึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดี ซึ่งก็คือ “โทฟุซัง” แต่อีกแบรนด์เป็นเหมือนแบรนด์ใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งก็คือ “ซอยป๊อป”
เป็นเราจะเลือกหยิบสินค้าของแบรนด์อะไร ?
พอเป็นแบบนี้ก็อาจทำให้ลูกค้าเกิดความสับสนคิดว่า แบรนด์น้องใหม่อย่าง ซอยป๊อป เป็นแบรนด์จากบริษัทอื่น ที่ทำสินค้าขึ้นมาเลียนแบบโทฟุซัง
เพราะถ้าไม่ได้หยิบขึ้นมาอ่าน ว่าผู้ผลิตคือใคร ก็คงไม่รู้ว่ามาจากบริษัทเดียวกัน
เมื่อเกิดการเปรียบเทียบในรูปแบบนี้ขึ้น ข้อดีคือ พอเห็นว่ามีของคล้ายกัน แต่ไม่เคยได้ยินชื่อหรือรู้จักมาก่อน ก็ทำให้ลูกค้าที่กำลังลังเล ว่าจะเลือกแบรนด์ไหนดี ตัดสินใจหันมาลองน้ำเต้าหู้โทฟุซังได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นแบรนด์ออริจินัลมากกว่า
ส่วนข้อเสียคือ บริษัทมีต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น เพราะถึงแม้คนจะหันไปเลือกซื้อโทฟุซังมากขึ้น
แต่บริษัทก็ยังต้องมีต้นทุน ในการผลิตซอยป๊อป ที่ขายได้ไม่เท่าโทฟุซังอยู่ดี
นอกจากนี้ถ้าหากแบรนด์ใหม่ที่สร้างขึ้นมา ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก บริษัทอาจต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายในการโฆษณาที่มากขึ้น เพื่อโปรโมตแบรนด์ และสร้างการรับรู้ไปยังลูกค้า ส่งผลให้ต้นทุนของผลิตภัณฑ์สูงขึ้นไปอีก
และเนื่องจากการทำแบบนี้ มีค่าใช้จ่ายที่สูง จึงมีเพียงบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้น ที่นิยมใช้กลยุทธ์การแตกแบรนด์เพื่อขายสินค้าในตลาดเดียวกัน
และถึงแม้จะเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน แต่ Positioning หรือจุดยืนของแบรนด์ก็จะแตกต่างกัน
แต่สำหรับโทฟุซังที่ยังถือว่าเป็นบริษัทที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก แต่ก็ยังต้องใช้งบไปกับต้นทุนในการผลิต และการออกแบบแบรนด์ใหม่ รวมถึงการโฆษณาให้ลูกค้าเห็น ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่มากอยู่พอสมควร
ผลสรุป แบรนด์ซอยป๊อป ของบริษัทโทฟุซัง ก็ต้องยกเลิกการผลิตไปในท้ายที่สุด..
แต่หลังจากนั้นไม่นาน บริษัทก็หันมาเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ภายใต้ชื่อแบรนด์โทฟุซังแทน เช่น
-ปี พ.ศ. 2562 ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “โทฟุซัง นมถั่วเหลืองออร์แกนิก UHT” รูปแบบกล่อง เพื่อเจาะตลาดนมถั่วเหลืองยูเอชที
ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ก็ดูจะเข้าไปแข่งขันกับเจ้าใหญ่ในตลาดได้ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะชื่อแบรนด์โทฟุซังเป็นที่รู้จักของลูกค้าในด้านนมถั่วเหลืองที่มีคุณภาพแล้ว
-ปี พ.ศ. 2563 โทฟุซัง นมถั่วเหลืองออร์แกนิก สูตรโปรตีนสูง (High Protein) ไม่ใส่น้ำตาล
-ปี พ.ศ. 2564 โทฟุซัง นมถั่วเหลืองออร์แกนิก รสชาติใหม่ รสดาร์กช็อกโกแลต
และปิดท้ายด้วย ผลประกอบการที่ผ่านมาของ บริษัท โทฟุซัง จำกัด
ปี 2562 มีรายได้ 476 ล้านบาท ขาดทุน 45 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 506 ล้านบาท ขาดทุน 37 ล้านบาท
ปี 2564 มีรายได้ 538 ล้านบาท กำไร 43 ล้านบาท
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.