ทำไม Google ถึงยอมแพ้ใน ธุรกิจเกม ?

ทำไม Google ถึงยอมแพ้ใน ธุรกิจเกม ?

18 ต.ค. 2022
ทำไม Google ถึงยอมแพ้ใน ธุรกิจเกม ? | BrandCase
ธุรกิจเกมของ Google ที่ว่านี้ หมายถึงบริการ Cloud Gaming หรือก็คือ บริการที่ให้เซิร์ฟเวอร์ประมวลผลเกม แทนอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ของเราเอง และส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตมาที่หน้าจอทีวี คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ตโฟนของเรา
เทียบง่าย ๆ เหมือนเราดูสตรีมมิงซีรีส์ Netflix บนสมาร์ตโฟนได้
อันนี้ ก็แค่เปลี่ยนมาเป็นการเล่นเกม ไม่ต้องมีเครื่องเล่น ไม่ต้องมีคอมแรง ขอแค่มีอินเทอร์เน็ตก็พอ
3 ปีที่แล้ว Google เข้ามารุกธุรกิจนี้แบบจริงจังกับแบรนด์ “Google Stadia” ที่ได้เข้ามาสร้างเสียงฮือฮาต่อกลุ่มเกมเมอร์พอสมควร
แต่ปีนี้ทางบริษัทกลับประกาศยุติการให้บริการแพลตฟอร์มนี้แล้ว
โดยได้ให้เหตุผลว่า มีจำนวนผู้ใช้บริการที่น้อยเกินไป
วันนี้ เรามาดูกันว่าทำไมธุรกิจเกมของ Google ถึงไปไม่รอด
BrandCase จะมาสรุปเคสนี้ให้อ่าน แบบเข้าใจง่าย ๆ
ก็ต้องบอกว่าด้วยพื้นฐานของ Google ที่มีโครงสร้างพื้นฐานเซิร์ฟเวอร์อยู่ทั่วโลกอยู่แล้ว
Google จึงเรียกได้ว่ามีแต้มต่อมากกว่าผู้เล่นรายอื่น ๆ ที่กระโดดเข้ามาสู่ธุรกิจ Cloud Gaming
เพื่อหวังจะแย่งชิงส่วนแบ่งจากเค้ก ที่มีชื่อว่า อุตสาหกรรมเกม ที่มีมูลค่าตลาด สูงถึงปีละ 8.3 ล้านล้านบาท
โดยที่ Google Stadia ก็ได้วางโครงสร้างในการหารายได้หลัก ๆ แบ่งออกเป็น
1.รายได้จากการขายเกมในร้านค้าออนไลน์
2.รายได้จากระบบสมาชิก ซึ่งผู้เล่นสามารถเล่นเกมที่มีอยู่ในลิสต์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อเกมในร้านค้า
เมื่อเรามองจากความเชี่ยวชาญของ Google กับมูลค่าตลาดเกมที่ใหญ่
คำถามคือ ทำไม Google Stadia ถึงเจ๊ง ?
ประเด็นสำคัญที่สุดเลย น่าจะเป็นเพราะ “ประสบการณ์มันยังไม่ได้”
ในที่นี้ หมายถึงการเล่นเกมผ่าน Cloud Gaming ยังไม่สามารถสร้างประสบการณ์ได้เหมือนการเล่นเกมผ่านคอนโซลหรือคอมพิวเตอร์
ปัจจัยหลักของเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นความเร็ว และความเสถียรของอินเทอร์เน็ตในหลายพื้นที่ ที่ยังไม่เสถียรพอจึงก่อให้เกิด Latency หรือความหน่วง ส่วนเกมเมอร์จะเรียกว่า แล็ก
เรื่องนี้จึงทำให้คุณภาพของตัวเกม ทั้งเสียงและภาพไม่สามารถแสดงผลออกมาได้อย่างเต็มที่ ทำให้ผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงเลือกเล่นเกมแบบเดิมมากกว่า
ปัจจัยต่อมาคือ Google มีประสบการณ์ธุรกิจเกมเกือบจะเป็นศูนย์
ก็ต้องบอกว่าการจะดึงผู้เล่นมาใช้แพลตฟอร์มของตัวเองได้ โดยเฉพาะธุรกิจเกมนั้น
ฟีเชอร์ในการเล่นและความสะดวกสบาย อาจเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น
เพราะสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เกม Exclusive หรือเกมเรือธง ที่จะมีให้เล่นเฉพาะบนแพลตฟอร์มของเราเท่านั้น
อย่างที่ Xbox ของ Microsoft และ PlayStation ของ Sony ที่ต่างก็มีเกม Exclusive สำหรับแพลตฟอร์มของตัวเอง ที่สามารถดึงดูดฐานแฟนคลับของเกมนั้น ๆ ให้ติดอยู่กับแบรนด์ได้ในระยะยาว
หรือถ้าไม่ Exclusive ก็จะต้องเป็นผู้จัดจำหน่าย หรือตัวกลางไปเลย
เช่น Steam ที่มีเกมจำนวนมาก วางขายอยู่บนแพลตฟอร์ม
หรือพวกระบบสมาชิกแบบ EA Play Pro ที่มีจุดขายอยู่ที่แบรนด์เกมชั้นนำแบบ FIFA ให้สมาชิกได้เล่นก่อนใคร
ซึ่งแบรนด์เกม ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับธุรกิจนี้
สะท้อนให้เห็นจาก Nintendo ที่เอามาริโอมาทำซ้ำกี่รอบ ก็ยังขายดี
หรือในมุมของการเข้าซื้อกิจการ ที่ Microsoft พยายามที่จะเข้าซื้อ Activision Blizzard เจ้าของแบรนด์ Warcraft ให้ได้
สรุปปัญหาของ Google Stadia ก็คือ ประสบการณ์ของ Cloud Gaming พอเอาเข้าจริง เทคโนโลยีบนโลกของเรายังไปไม่ถึง ซึ่งมันอาจจะเวิร์กแค่บางพื้นที่ พอสเกลใหญ่ในระดับหนึ่งแล้วจึงเริ่มตัน
บวกกับความไม่มีจุดขายทั้งในด้าน Exclusive
จัดจำหน่ายเกมน้อยกว่าคนอื่น
แถมยังไม่มีแบรนด์เกมใด ๆ ที่ดึงดูดผู้เล่นได้เลย
ทั้งหมดนี้ จึงตอบคำถามที่ว่า ทำไม Google ถึงยอมแพ้ ในธุรกิจเกม..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.