กรณีศึกษา Flash Coffee ที่อยากเป็น Nike แห่งวงการกาแฟ

กรณีศึกษา Flash Coffee ที่อยากเป็น Nike แห่งวงการกาแฟ

7 ต.ค. 2022
กรณีศึกษา Flash Coffee ที่อยากเป็น Nike แห่งวงการกาแฟ | BrandCase
คุณพันธุ์ไพบูลย์ ลีนุตพงษ์ กรรมการผู้จัดการ Flash Coffee ประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์ว่า
“เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากให้แบรนด์ Flash Coffee เป็น Nike แห่งแบรนด์กาแฟ”
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องเป็นแบรนด์ Nike
แล้ว Flash Coffee มีเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างไร ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
Flash Coffee เป็นเชนร้านกาแฟสตาร์ตอัป จากอินโดนีเซีย ก่อตั้งเมื่อปี 2019 โดยคุณเดวิด บรูเนียร์ และ คุณเซบาสเตียน ฮานเน็กเกอร์
ที่บอกว่าเป็นโมเดลแบบสตาร์ตอัปก็เพราะว่า
Flash Coffee สร้างการเติบโตด้วยการระดมทุนจากนักลงทุนที่สนใจ
โดยมีผู้มาให้เงินทุนรายแรก คือ Rocket Internet โรงงานผลิตสตาร์ตอัป สัญชาติเยอรมัน ผู้อยู่เบื้องหลังการปลุกปั้นสตาร์ตอัปดัง ๆ เช่น Lazada, Zalora และ foodpanda
ซึ่ง Flash Coffee เป็นแบรนด์กาแฟที่มีภาพลักษณ์ของร้านแบบลีน ๆ แต่สีสันสะดุดตา และใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ และทำการตลาด
โดยใช้แนวคิดการทำธุรกิจแบบสตาร์ตอัป มาทำธุรกิจร้านกาแฟ
ซึ่งเป็นกาแฟที่ต้องผ่านกระบวนการตั้งแต่คัดเมล็ดไปถึงการชง จนได้กาแฟที่มีรสชาติดี และได้รับการรับรองว่ามีคุณภาพ จากนักชิมกาแฟที่มีความเชี่ยวชาญ แต่อยู่ในระดับราคาที่จับต้องได้
ซึ่งเหตุผลก็คือ Flash Coffee นั้น ต้องการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้มีความแตกต่าง และมีเอกลักษณ์ในแบบที่ใครเห็นก็ต้องจำได้ เหมือนถ้าพูดถึงรองเท้า ก็ต้องมีคนนึกถึง Nike นั่นเอง
ปัจจุบัน Flash Coffee มีสาขากระจายอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และในไทยมีทั้งหมด 82 สาขา
แล้ว Flash Coffee มีกลยุทธ์ที่แตกต่างจากร้านกาแฟแบบเดิม ๆ อย่างไรบ้าง ?
1.สินค้าระดับพรีเมียมในราคาที่จับต้องได้
โดยนำเสนอเครื่องดื่มกาแฟคุณภาพไฮเอนด์ ด้วยการเป็นร้านกาแฟ Specialty Caffeine House หรือร้านกาแฟพิเศษที่มี แชมป์โลก (World Latte Art Championship) อย่างคุณอานนท์ ธิติประเสริฐ เป็นผู้คิดค้นเมนูสำหรับสาย Vegan แต่มาในราคาที่ย่อมเยา
อย่างเช่น กาแฟอเมริกาโน 40 บาท และมีเมนูเฉพาะพิเศษอื่น ๆ อย่าง ชาไทย 9 ดอยดัง, ออเรนจ์ อเมริกาโน หรือ ฮันนี่ อเมริกาโน และมีเมนูพิเศษที่มีขายเฉพาะในไทย เพื่อมาเป็นตัวดึงดูดลูกค้าด้วย
นอกจากนี้ทางร้านยังมีนมหลายรูปแบบให้ลูกค้าเลือกอีกด้วย เช่น นมถั่วเหลือง นมอาลมอนด์ และนมพิสตาชิโอ
2.ภาพลักษณ์แบรนด์โดนเด่นและจดจำง่าย
นอกจากการเน้นคุณภาพของกาแฟแล้ว Flash Coffee มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการตกแต่งร้านที่เป็นเอกลักษณ์ มีความแตกต่างจากร้านกาแฟทั่วไปอยู่ไม่น้อย
เพราะแทนที่จะเลือกใช้โทนสีร้านเรียบ ๆ คุมโทนสไตล์มินิมัล แบบร้านกาแฟส่วนใหญ่ แต่ Flash Coffee เลือกใช้สีเหลืองเฉดฉูดฉาด สะดุดตา ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคจดจำได้ง่าย ตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น
นอกจากนี้ยังมีการออกแบบโลโกสีชมพูจี๊ดจ๊าด ที่สามารถมองเป็นรูปสายฟ้า เพื่อแสดงให้เห็นถึงการให้บริการที่รวดเร็ว ตามไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบของคนเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงเป็นแบรนด์กาแฟคุณภาพดีที่สามารถดื่มได้ทุกวัน
3.ใช้เทคโนโลยีช่วยจัดการธุรกิจ
เนื่องจากธุรกิจร้านกาแฟส่วนใหญ่ ยังคงเป็นรูปแบบออฟไลน์อยู่ ดังนั้น Flash Coffee จึงตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนธุรกิจกาแฟแบบเดิม ๆ ให้เข้ามาอยู่ในรูปแบบออนไลน์ให้มากขึ้น
ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชันของตัวเองขึ้นมา โดยเฉพาะสำหรับผู้บริโภคและช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย
โดยมีฟีเชอร์ที่น่าสนใจอย่าง
-ฟังก์ชันการสั่งเครื่องดื่มล่วงหน้า และไปรับที่สาขาที่ใกล้ที่สุด เพื่อไม่ให้ลูกค้าเสียเวลาต่อคิว
-ระบบสมาชิกที่กระตุ้นให้ลูกค้าอัปเกรดระดับสมาชิก เพื่อให้เข้าถึงสิทธิพิเศษต่าง ๆ
-ฟีเชอร์ Challenges ในรูปแบบเกมและกิจกรรมต่าง ๆ ภายในแอปพลิเคชัน เพื่อล่ารางวัลและสิทธิพิเศษเพิ่มเติม
และเมื่อร้านกาแฟเข้าไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ร้านก็ไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินจำนวนมาก ไปกับค่าใช้จ่ายในการตกแต่งร้านนั่นเอง
รายได้ของ Flash Coffee ในไทย เมื่อปีที่ผ่านมา
ปี 2563 รายได้ 3.2 ล้านบาท ขาดทุน 8.6 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 60.4 ล้านบาท ขาดทุน 100 ล้านบาท
ถึงแม้ว่ารายได้จะเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ยังขาดทุน และขาดทุนค่อนข้างหนักด้วย
ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการเร่งขยายสาขา และอัดโปรโมชันส่วนลด ดึงคนให้มากินจนติดใจก่อน
ตอนนี้ ก็มี Flash Coffee 82 สาขาในไทยแล้ว
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าในอนาคต รายได้ของ Flash Coffee จะเติบโตได้เร็วแค่ไหน
แต่จากเรื่องนี้มีสิ่งหนึ่งที่ Flash Coffee ทำได้ดี
นั่นก็คือเรื่องของ Brand Identity หรือการสร้างเอกลักษณ์ของแบรนด์
เพราะเพียงแค่ได้เห็นร้านกาแฟสีเหลืองจัดจ้าน และแก้วกาแฟที่มีโลโกสายฟ้าฟาด ก็คงสร้างการจดจำให้กับผู้บริโภคอยู่ไม่น้อย
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.