จากธนาคารศรีนคร สู่ ธนชาต จบที่ ttb

จากธนาคารศรีนคร สู่ ธนชาต จบที่ ttb

6 ต.ค. 2022
จากธนาคารศรีนคร สู่ ธนชาต จบที่ ttb | BrandCase
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ชื่อ “ธนาคารธนชาต” และ “ธนาคารทหารไทย”
คงจะเป็นหนึ่งในชื่อธนาคารที่เราคุ้นหูกันดี
ก่อนจะควบรวมกันจนกลายเป็น “ธนาคารทหารไทยธนชาต” หรือ ttb
แต่รู้หรือไม่ว่า ? ก่อนหน้านี้ หนึ่งในหัวเรือใหญ่ของ ttb
นั่นคือ ธนาคารธนชาต ก็เคยซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทยมาก่อน
ซึ่งธนาคารนครหลวงไทยก่อนหน้านี้ ก็เกิดจากการควบรวมกับธนาคารศรีนคร
เรื่องราวการเดินทางข้ามเวลา ได้เริ่มต้นจากธนาคารศรีนคร จนสุดท้ายกลายมาเป็น ttb ได้อย่างไร
BrandCase จะสรุปเรื่องราวมุมนี้ที่หลายคนยังไม่รู้ ให้อ่านกัน
เรื่องราวเริ่มต้นจาก นายอุเทน เตชะไพบูลย์ ผู้ก่อตั้งธนาคารศรีนคร..
ที่ในสมัยนั้น ได้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจสุรารายใหญ่ในประเทศ
ภายใต้ชื่อ “แม่โขง” ซึ่งเป็นสุรายี่ห้อแรกของประเทศไทย และกวางทอง
หลังจากที่ธุรกิจสุราเริ่มเจริญรุ่งเรือง นายอุเทน ก็ได้ลงทุนในธุรกิจธนาคารต่อในปี 2493
ในชื่อ “ธนาคารศรีนคร” ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ซึ่งคุณอุเทน ได้ใช้ธนาคารศรีนคร เป็นฐานเงินเพื่อขยายธุรกิจครอบครัว
เช่น ธุรกิจประกันภัย จัดสรรที่ดิน และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
จนกระทั่งได้มีโอกาสเช่าที่ดิน เพื่อสร้างโครงการใหญ่ ๆ
อย่างโครงการมิกซ์ยูส เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในปี 2525
จนมาถึงในปี 2540 ที่เกิดวิกฤติฟองสบู่ ทำให้ธนาคารศรีนคร ที่นายอุเทนเป็นคนปลุกปั้น ต้องล้มลงด้วยปัญหาสินเชื่อ และถูกธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าควบคุม
นอกจากนี้ ศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ก็ต้องให้เซ็นทรัลพัฒนา มารับช่วงต่อในปี 2545
ซึ่งในปีเดียวกันนั้น กระทรวงการคลังก็ได้มีมติให้ควบรวมกิจการธนาคารศรีนคร กับธนาคารทหารไทยเข้าด้วยกัน
โดยโอนกิจการของธนาคารศรีนคร ให้กับธนาคารนครหลวงไทย ที่มีขนาดใหญ่กว่า แล้วดำเนินธุรกิจในชื่อธนาคารนครหลวงไทยแทน
ซึ่งหลังจากการควบรวมของธนาคารศรีนคร ทำให้ธนาคารนครหลวงไทย มีขนาดของสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งหมด
ทีนี้จะขอเล่าเรื่องของธนาคารทหารไทย..
ธนาคารทหารไทย ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2500 โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยแต่เดิมมุ่งเน้นการให้บริการทางด้านการเงินแก่ทหาร และข้าราชการเป็นหลัก
ในเวลาต่อมาธนาคารทหารไทย ได้ขยายขอบเขตการให้บริการ ไปสู่ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป
จนได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นบริษัทมหาชนในปี 2537
ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับ ธนาคารไทยทนุ ที่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในปี 2536
และต่อมา ธนาคารไทยทนุ ก็ได้เผชิญกับวิกฤติทางการเงินในปี 2540 เช่นเดียวกับธนาคารศรีนคร
ทำให้ธนาคารไทยทนุ ต้องขอความช่วยเหลือจากธนาคาร DBS ในเครือเทมาเส็ก จากประเทศสิงคโปร์ ให้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ ในปี 2542
ในเวลาต่อมาปี 2547 ธนาคารทหารไทย ก็ได้รวมกิจการเข้ากับธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ ให้กับโครงการอุตสาหกรรม
การรวมกิจการดังกล่าว ทำให้ธนาคารทหารไทย มีขนาดสินทรัพย์ประมาณ 680,000 ล้านบาท
และก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ของธนาคารพาณิชย์ไทย
ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้ทำการรีแบรนด์ธนาคารใหม่เป็นชื่อ TMB
ในส่วนของธนาคารธนชาต..
ธนาคารธนชาต ที่เคยเป็นบริษัทเงินทุนในชื่อ “บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนสยาม”
ที่มีบทบาทจากการฟื้นฟูกิจการ บริษัทแคปปิตอลทรัสต์ ที่ประสบปัญหาขาดทุน และขาดสภาพคล่อง
จากวิกฤติราชาเงินทุนในปี 2522
และต่อมาก็ได้เป็นบริษัทปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
จนกระทั่งได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบในปี 2547
โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บมจ.ทุนธนชาต
ซึ่ง บมจ.ทุนธนชาต ก็ได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน มาบุญครอง และสยามพิวรรธน์อีกทีหนึ่ง
จนกระทั่งในปี 2553 ธนาคารธนชาต ได้เข้าซื้อหุ้นธนาคารนครหลวงไทย
จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF
และทำการซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นรายอื่นทั้งหมด จนสามารถควบรวมกิจการได้สำเร็จในปี 2554
ซึ่งนับเป็นการควบรวมกิจการครั้งแรก หลังจากที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เพียง 7 ปี และหลังการควบรวมกิจการ
ธนาคารธนชาตมีจำนวนสาขาจากเดิม 257 สาขา เพิ่มขึ้นมากลายเป็น 671 สาขา
จนได้ขึ้นมาเป็นธนาคารอันดับ 5 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย
โดยมีขนาดสินทรัพย์ประมาณ 800,000 ล้านบาท
ต่อมาในปี 2562 รัฐบาลได้เล็งเห็นว่า ธนาคารไทยที่ปัจจุบันยังคงดำเนินการอยู่
ยังคงมีขนาดเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารหลายแห่งในภูมิภาค
ซึ่งบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่ง ไม่สามารถขอสินเชื่อกับธนาคารภายในประเทศได้
โดยเฉพาะบริษัทเอกชนที่มีขนาดใหญ่กว่าธนาคาร จะต้องไปขอสินเชื่อกับธนาคารต่างประเทศแทน
จึงได้ออกมาตรการ “ยกเว้นภาษี” สำหรับการควบรวมกิจการสถาบันการเงิน
เพื่อให้พอร์ตของธนาคารในประเทศไทยนั้นใหญ่ขึ้น เพื่อให้สามารถออกไปขยายกิจการในต่างประเทศได้
อีกทั้งให้กิจการธนาคาร มีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับสินเชื่อ ของบริษัทขนาดใหญ่ได้อีกด้วย
อีกเหตุผลหนึ่งคือ ปัจจุบันเรื่องเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญกับธุรกิจธนาคาร
ซึ่งธนาคารหลายแห่ง จำเป็นต้องลงทุนกับเรื่องการพัฒนาระบบดิจิทัล เช่น แอปพลิเคชันต่าง ๆ
ซึ่งคิดเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง
ด้วยปัจจัยข้างต้น ที่ไม่เอื้อต่อการขยายธุรกิจ จึงทำให้ทั้ง 2 ธนาคาร
คือธนาคารธนชาต และธนาคารทหารไทย สนใจที่จะควบรวมกิจการกัน
ซึ่งก็ต้องบอกว่า ธนาคารทั้ง 2 แห่งนั้น ต่างก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน อย่าง
-ธนาคารธนชาต มีส่วนแบ่งการตลาดสินเชื่อรถยนต์ เป็นอันดับ 1 ในขณะนั้น
-ธนาคารทหารไทย ส่วนใหญ่จะเจาะกลุ่มลูกค้า SME มีนโยบายฟรีค่าธรรมเนียม และเงินฝากดอกเบี้ยสูง
โดยในปี 2562 ทั้ง 2 ธนาคารต่างสมัครใจ ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน
เพื่อรวมกันเป็นธนาคารเดียว ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีฐานลูกค้ามากขึ้น
จนกระทั่งในปี 2564 ธนาคารทั้งสอง ได้รีแบรนด์ธนาคารเป็น “ธนาคารทหารไทยธนชาต”
พร้อมจดทะเบียนนิติบุคคล และตามด้วยการเปลี่ยนชื่อหลักทรัพย์ จาก TMB ไปเป็น TTB
และกลายเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย
ปัจจุบัน ธนาคารทหารไทยธนชาต เป็นธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย มีขนาดสินทรัพย์ประมาณ 1,820,000 ล้านบาท
ซึ่งมีผู้ถือหุ้นหลักดังนี้
-บมจ.ทุนธนชาต 24.33% (อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารธนชาต)
-ING Group จากเนเธอร์แลนด์ 21.96% (อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารทหารไทย)
-กระทรวงการคลัง 11.76%
มาถึงตรงนี้ ก็พอจะสรุปเรื่องราวการเดินทาง ว่าก่อนที่จะมาเป็น ธนาคาร TTB ได้นั้น
เคยเป็นธนาคารใดมาก่อนบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการควบรวมกิจการ ไม่ว่าจะเป็น
“ธนาคารทหารไทย” ที่รวมกิจการกับธนาคารไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
“ธนาคารธนชาต” ที่ควบรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย
ซึ่งธนาคารนครหลวงไทย ก็รวมกิจการเข้ากับธนาคารศรีนครอีกทีหนึ่ง
จนสุดท้าย ทั้ง 2 ธนาคารต่างก็อยากรวมกิจการกันอีกรอบ จนกลายเป็น 1 ธนาคาร นั่นคือ “ธนาคารทหารไทยธนชาต” เพื่อให้เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่มากพอที่จะแข่งขันกับธนาคารอื่น หรือสามารถขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศได้..
มาถึงตรงนี้ ก็ต้องบอกว่า การควบรวมกิจการนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับการเงินอย่างธนาคาร นั่นเอง..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.