บริการ Drive-Thru เกิดเพราะ คนอเมริกัน เห่อการขับรถ

บริการ Drive-Thru เกิดเพราะ คนอเมริกัน เห่อการขับรถ

6 ต.ค. 2022
บริการ Drive-Thru เกิดเพราะ คนอเมริกัน เห่อการขับรถ | BrandCase
Drive-Thru มาจากคำว่า Drive-through ที่แปลตรง ๆ ว่าขับมาซื้อเองเลยตรง ๆ ซึ่งเป็นโมเดลที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในธุรกิจร้านอาหารจานด่วน
ถ้านับจากจุดเริ่มต้นไอเดีย โมเดลนี้เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 100 ปี ในสหรัฐอเมริกา
ก่อนจะถูกนำไปใช้กันทั่วโลก ในเวลาต่อมา
แล้ว Drive-Thru เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
จุดเริ่มต้นของ Drive-Thru เกิดขึ้นในปี 1921 เมื่อร้านอาหารฟาสต์ฟูดสัญชาติอเมริกัน อย่าง Kirby's Pig Stand เริ่มนำรูปแบบการให้บริการแบบใหม่มาใช้
โดยให้ลูกค้าที่สั่งอาหาร ไม่จำเป็นต้องลงจากรถ แต่จะมีพนักงานของร้านเดินมารับออร์เดอร์ และมาส่งอาหารที่รถ
บริการลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า “Drive-In” เป็นบริการที่มีขึ้นเพื่อมาแก้ปัญหา การเสียเวลาหาที่จอดรถ รวมทั้งต้องการให้บริการลูกค้าบางราย ที่ไม่ต้องการลงจากรถมาสั่งอาหาร
ซึ่งผลตอบรับตอนนั้น ก็ถือว่าดีเกินคาดมาก เพราะเป็นไปตามกระแส “American Dream” ที่คนอเมริกันนิยมมีรถ มีบ้านเป็นตัวแทนของความสำเร็จ
จนช่วงทศวรรษ 1950s วัฒนธรรมการใช้รถยนต์ของคนอเมริกัน เฟื่องฟูถึงขีดสุด
เรียกได้ว่าคนอเมริกันเห่อการขับรถมาก
ซึ่งพอเป็นแบบนี้ บริการแบบ Drive-In ก็ฮิตตามไปด้วย
มีทั้งโรงภาพยนตร์แบบ Drive-In ที่มีพื้นที่ให้จอดแล้วนั่งดูภาพยนตร์ภายในรถ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
แถมพวกร้านฟาสต์ฟูดดัง ๆ ก็ทำร้านไว้ให้บริการแบบ Drive-In กันทั่วประเทศ
แม้โมเดลนี้จะฮิตมาก แต่มันก็มีข้อจำกัด
คือทางร้านต้องมีพื้นที่กว้าง ๆ ไว้สำหรับให้ลูกค้าจอดรถ แถมพนักงานของร้านยังต้องเดินรับ และเดินเสิร์ฟออร์เดอร์ตลอดเวลา
ไม่นานโมเดล Drive-In ก็ถูกพัฒนาอีกรอบ
โดยเปลี่ยนจากการให้ลูกค้ามาจอดรถแล้วทานในพื้นที่ร้าน เป็นการให้ลูกค้าสามารถนำรถ เข้ามาสั่งอาหารกับพนักงาน บริเวณหน้าต่างที่ออกแบบไว้
แล้วรอรับอาหารที่ออร์เดอร์ไว้ได้เลย ซึ่งบริการดังกล่าวได้ถูกเรียกว่า “Drive-Thru” ในเวลาต่อมานั่นเอง..
และหลังจากนั้น Drive-Thru ก็ถูกแพร่หลายไปในทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย ในเวลาต่อมา
ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน ต้องบอกว่า Drive-Thru นั้น เป็นหนึ่งในโมเดลธุรกิจ ที่สามารถนำมาตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค
โดยเฉพาะคนยุคใหม่ และคนที่อาศัยภายในเมือง ที่ต้องใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ และแข่งขันกับเวลา
ขณะที่ถ้ามองลึกลงไป จะพบว่า กลยุทธ์นี้ยังสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ร้านค้าต่าง ๆ
โดยเฉพาะกรณีร้านอาหารจานด่วนหลายแห่ง เช่น KFC, McDonald’s, Burger King
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า..
-ช่วยลดเวลาในการอยู่ในร้านของลูกค้า
ซึ่งทำให้สามารถรับลูกค้า ที่มาใช้บริการในร้านได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มยอดขาย โดยที่ใช้เวลาน้อยลง ทำให้ร้านค้าสามารถนำเวลาไปทำอย่างอื่นได้มากขึ้น
ที่สำคัญคือ ร้านฟาสต์ฟูดสามารถเตรียมอาหารได้ค่อนข้างเร็วอยู่แล้ว บริการแบบนี้ก็ตอบโจทย์ เพราะลูกค้าไม่ต้องรอนาน แถมไม่ต้องลงจากรถ
-ปกติแล้วเมื่อต้องซื้อสินค้าแบบ Drive-Thru ผู้บริโภคจะเหลือเวลา ในการตัดสินใจเลือกน้อยลง เมื่อเทียบกับการเดินเข้าไปทานอาหารในร้าน ซึ่งถือเป็นการลดความลังเล ในการเลือกซื้อสินค้าตามไปด้วย
-ตอบโจทย์พฤติกรรมซื้อกลับบ้าน ในช่วงที่ผ่านมา
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลยุทธ์ของ Drive-Thru สามารถมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวให้แก่หลายธุรกิจ และยังช่วยให้ยอดขายไม่ตกลงมากเกินไป
สมัยนี้เราเลยเห็นบรรดาแบรนด์ฟาสต์ฟูดเจ้าใหญ่ ๆ เช่น KFC, Burger King นำโมเดลแบบนี้มาเปิดให้บริการมากขึ้นเรื่อย ๆ
บางสาขาก็มีการออกแบบ ให้มีบริการผสมผสานกัน
คือมีทั้งขับรถมาซื้อแล้วก็ไป และมีพื้นที่ให้นั่งทานภายในร้าน
ซึ่งสาขา Drive-Thru ก็นิยมเปิดทั้งในเมือง ย่านที่คนขับรถผ่านเยอะ ๆ
และระหว่างเส้นทางไปต่างจังหวัด ที่มีสถานที่ท่องเที่ยว นั่นเอง..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.