สรุปแนวคิดผู้บริหาร “Betagro” ที่กำลังจะ IPO พร้อมต่อยอดธุรกิจสู่ บริษัทอาหารชั้นนำระดับโลก

สรุปแนวคิดผู้บริหาร “Betagro” ที่กำลังจะ IPO พร้อมต่อยอดธุรกิจสู่ บริษัทอาหารชั้นนำระดับโลก

29 ก.ย. 2022
ถ้าพูดถึงแบรนด์อาหารจากเนื้อหมูและเนื้อไก่ระดับพรีเมียม
แบรนด์แรก ๆ ที่หลายคนน่าจะนึกถึง ต้องมีชื่อของ Betagro และ S-Pure
ซึ่งทั้ง 2 แบรนด์ ล้วนเป็นแบรนด์เรือธงสำคัญของ Betagro หนึ่งในผู้เล่นรายสำคัญของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารครบวงจรในประเทศไทย
ที่น่าสนใจ คือ เร็ว ๆ นี้ Betagro แบรนด์ที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี กำลังจะเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ IPO
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไม Betagro แบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานกว่า 55 ปี ถึงเลือกเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ตอนนี้ ?
ที่สำคัญบริษัทอาหารแบบครบวงจรอย่างเบทาโกร จะมีความน่าสนใจในเชิงธุรกิจอย่างไร ?
Brandcase ชวนทุกคนไปหาคำตอบจากคุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG
ก่อนจะเฉลยถึงเหตุผลของการ IPO ในครั้งนี้ คุณวสิษฐ พาย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นของ Betagro ซึ่งก่อตั้งโดยคุณพ่อ (ดร.ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์) เมื่อปี พ.ศ. 2510
Betagro เริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์ ก่อนจะขยายธุรกิจให้ครบวงจร
ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์, การเลี้ยง และการพัฒนาสายพันธุ์สัตว์ ทั้งสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่, การผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อาหาร
โดยคุณวสิษฐ เป็นเจเนอเรชันที่ 2 ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจ โดยได้มีการปรับโมเดลธุรกิจหลายอย่าง
ค่อย ๆ ขยายอาณาจักร Betagro จนกลายเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่สำคัญมีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ถ้าไปดูผลประกอบการของบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) จะพบว่า
ปี 2562 มีรายได้รวม 75,188 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,268 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้รวม 80,632 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,341 ล้านบาท
ปี 2564 มีรายได้รวม 86,744 ล้านบาท กำไรสุทธิ 839 ล้านบาท
มีอัตราการเติบโตของรายได้ เฉลี่ย 7.4% ต่อปี
ส่วนครึ่งปีแรกของปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 54,193 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จะพบว่า รายได้รวมเติบโตถึง 26.1%
ขณะที่มีกำไรสุทธิ 3,893 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 7.2% ซึ่งเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 233.1%
หลายคนอาจจะสงสัยว่า รายได้ปีละหลายหมื่นล้านบาทของ Betagro มาจากธุรกิจไหนบ้าง
ต้องบอกว่า Betagro แบ่งธุรกิจหลัก ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มธุรกิจอาหารและโปรตีน ผลิตและจำหน่ายเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ และปลา การแปรรูปเนื้อสัตว์เป็นผลิตภัณฑ์ปรุงสุก ผลิตภัณฑ์กึ่งปรุงสุก ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน ผลิตภัณฑ์พลอยได้ และโปรตีนทางเลือก เช่นแบรนด์ S-Pure, Betagro, ITOHAM
มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 68.4% ของรายได้รวมจากการขายสินค้าและการให้บริการ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565
2. กลุ่มธุรกิจเกษตร ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์และเวชภัณฑ์ และสารเสริมสำหรับสัตว์ อุปกรณ์และเครื่องมือฟาร์ม รวมถึงการให้บริการห้องปฏิบัติการ เช่นแบรนด์ Betagro, Balance
มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 24.6% ของรายได้รวมจากการขายสินค้าและการให้บริการ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565
3. กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตร อาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ อุปกรณ์ฟาร์มและผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ และเนื้อสัตว์แปรรูป อาหารแปรรูป โดยประกอบธุรกิจในประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา
มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 5.2% ของรายได้รวมจากการขายสินค้าและการให้บริการ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565
4. กลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง ขนมขบเคี้ยวสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยง
เช่นแบรนด์ Perfecta, DOG n joy, CAT n joy
มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 1.8% ของรายได้รวมจากการขายสินค้าและการให้บริการ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565
จะเห็นว่า Betagro ในวันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตอาหารสัตว์อีกต่อไป แต่มีธุรกิจที่ครอบคลุมไปสู่ธุรกิจอาหารและโปรตีนแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ
ซึ่งถ้าถามว่าเบื้องหลังแนวคิดที่ทำให้ Betagro มาถึงจุดนี้ได้คืออะไร ?
คุณวสิษฐ สรุปไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
1. เป็นบริษัทอาหารชั้นนำระดับสากลที่ทำธุรกิจโดยมีแผนสร้างศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
โดยเฉพาะการขยายธุรกิจอาหารแปรรูปที่ให้มูลค่าสูง (Value-added)
ยกตัวอย่าง ตอนที่ Betagro เข้ามาบุกเบิก ตลาดไก่ปรุงสุก เพื่อส่งออก
ในตอนนั้น Betagro ยังไปจับมือกับอายิโนะโมะโต๊ะ พัฒนาเมนูไก่คาราเกะ และมีการส่งออกไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในการต่อยอดธุรกิจด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม
หรืออย่างตอนที่ Betagro เป็นเจ้าแรก ๆ ในประเทศไทย ที่สร้างโรงงานแปรรูปสุกร
เพราะมองว่า จุดแข็งของแบรนด์คือ การนำเสนออาหารคุณภาพ
ดังนั้น ต่อให้เลี้ยงสุกรดีแค่ไหน ถ้าไปผ่านกระบวนการแปรรูปที่ไม่ปลอดภัยก็ไม่มีประโยชน์
Betagro จึงลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปสุกร และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริหารจัดการ จนประสบความสำเร็จอย่างมาก
รวมไปถึงการสร้างโรงงานไส้กรอก เพื่อนำวัตถุดิบส่วนเกินที่ได้จากการผลิต เช่น โครงไก่ กับเศษเนื้อจากการตัดแต่ง มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไส้กรอก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
โดยปัจจุบัน เบทาโกรยังมีการต่อยอดธุรกิจ ด้วยการร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำจากญี่ปุ่นอย่าง “อิโตแฮม โยเนคิว โฮลดิ้งส์ อิงค์” เพื่อนำนวัตกรรมญี่ปุ่นมาปรับใช้ เกิดเป็นแบรนด์ ITOHAM สำหรับผลิตภัณฑ์ไส้
กรอกเกรดพรีเมียม
2. ให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้างแบรนด์ (Brand Architecture) ที่แข็งแรง
โดยอาศัยการวิเคราะห์จากกลุ่มลูกค้า ตั้งแต่กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ไปจนถึงกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลางถึงน้อย
เพื่อพัฒนาแบรนด์ให้สามารถเข้าไปเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ
ควบคู่ไปกับการทำให้สินค้าทุกตัวของ S-Pure มี Unique Proposition หรือ จุดขายที่ไม่เหมือนใคร ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง
ยกตัวอย่าง S-Pure ซึ่งเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์เนื้อหมู-ไก่ ระดับพรีเมียม ที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ต้นน้ำ
“เราไม่ได้ใช้หมูจากแหล่งเดียวกัน แล้วมาแบ่งว่า ส่วนนี้คัดให้ S-Pure แต่เราเทเลอร์เมดมาตั้งแต่ต้นทาง
จะเห็นว่า หมูของเรา ได้การรับรอง RWA เป็นรายแรกของไทย ว่าไม่มีเคยได้รับยาปฏิชีวนะ ตลอดอายุขัยของสัตว์
เช่นเดียวกับเนื้อไก่ และ ไข่ S-Pure ก็เช่นกัน เราใส่ใจตั้งแต่แม่พันธุ์ แม่ไก่ อาหารสัตว์ และมีการนำเอา Cold chain ระบบคลังสินค้า และการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิเข้าไปดูแล
ซึ่งเราเป็นเจ้าแรกที่ไปขอซูเปอร์มาร์เก็ตเอาไข่ของเราวางในตู้เย็น เพื่อเพิ่มความสด ความสะอาด และความอร่อย”
3. ให้ความสำคัญกับช่องทางการจัดจำหน่าย
ปัจจุบัน Betagro มี 6 ช่องทางในการจัดจำหน่าย ที่หลากหลายและครอบคลุม สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ได้แก่ เกษตรกร, ร้านค้าปลีกแบบสมัยใหม่, ส่งออกไปต่างประเทศ, ร้านเบทาโกรช็อป, ผู้ให้บริการด้านอาหาร และผู้ประกอบการฟาร์มอุตสาหกรรม
นอกจากช่องทางดังกล่าว Betagro ยังมีการพัฒนาระบบและช่องทางการจัดจำหน่าย ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
จนสามารถสร้างรายได้ และกำหนดช่องทางการจัดจำหน่าย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกบนระบบดิจิทัล เทคโนโลยี และมีกระบวนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ด้วยรูปแบบธุรกิจที่ไม่เป็นการลงทุนเป็นเจ้าของสินทรัพย์ (Asset-light investment model)
“อุตสาหกรรมนี้ มีการแข่งขันค่อนข้างดุเดือด เพราะฉะนั้นเราต้องหา Blue Ocean (ตลาดที่ใหม่ หรือตลาดที่ยังมีการแข่งขันน้อย) ให้เจอ ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งจากฝั่งตัวเราเอง สินค้า และคู่แข่ง ตั้งแต่รายใหญ่ รายกลาง และรายเล็ก เพื่อวางกลยุทธ์และลงมือทำ”
สำหรับความท้าทายที่จะเข้ามากระทบกับธุรกิจ โดยเฉพาะโปรตีนทางเลือกอย่าง Plant-Based
คุณวสิษฐ มองว่า เป็นเทรนด์ที่ต้องจับตามอง แต่เชื่อว่ายังเป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่น่าจะส่งผลกระทบเร็ว ๆ นี้
เพราะหากไปศึกษางานวิจัยต่าง ๆ จะพบว่า มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2030 ประชากรโลก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 7,000 ล้านคน จะบริโภค Plant-Based ประมาณ 8%
และจนถึงปี 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านคน เมื่อถึงตอนนั้น โปรตีนทางเลือก จะเข้ามาชดเชย โปรตีนปกติอย่างน้อยประมาณ 40%
“จะเห็นว่า Plant-Based ไม่ได้เข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจเรา แต่ความท้าทาย คือ เราจะบริหารโปรตีนใหม่ ๆ เหล่านี้ในพอร์ตอย่างไร
เราจึงลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ โดยการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่ง Betagro ก็มีธุรกิจโปรตีนทางเลือกจากพืช ภายใต้แบรนด์ Meatly! ที่เปิดตัวมาแล้วได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี รวมถึง Kerry Cool เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ
วันนี้ Betagro กำลังก้าวไปสู่อีกก้าวสำคัญ นั่นคือการเสนอขายหุ้นสามัญ IPO จำนวนรวมไม่เกิน 500 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท หลัง IPO (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)
“เราเชื่อว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์ จะทำให้บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
โดยเรามีแผนนำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ใน 3 ส่วน ได้แก่ ใช้เป็นเงินทุนในการขยายธุรกิจ ใช้ปรับโครงสร้างเงินทุน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต”
ซึ่งถ้าถามว่า เป้าหมายระยะยาว ที่คุณวสิษฐ อยากพา Betagro ไปให้ถึง คืออะไร
แน่นอนว่า เป้าหมายใหญ่ คือ การเป็นบริษัทอาหารชั้นนำระดับสากล ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ซึ่งด้วยจุดแข็งของธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์และแบรนด์หลากหลาย ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย มุ่งเน้นความสำคัญในคุณภาพที่ดีกว่าและความปลอดภัยที่สูงกว่า ด้วยมาตรฐานระดับสากล
บวกกับช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายและครอบคลุมมีกระบวนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และมุ่งสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ รวมถึงมีศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในและต่างประเทศ และมีทีมบริหารที่มีวิสัยทัศน์และมากด้วยประสบการณ์ ให้ความสำคัญกับ ESG จะสามารถพา Betagro ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน
Reference
-วิดีโอสัมภาษณ์ คุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) โดยเพจ BrandCase
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.