ทำไมบางบริษัท ขายสินค้าอย่างเดียว ก็ประสบความสำเร็จได้

ทำไมบางบริษัท ขายสินค้าอย่างเดียว ก็ประสบความสำเร็จได้

27 ก.ย. 2022
ทำไมบางบริษัท ขายสินค้าอย่างเดียว ก็ประสบความสำเร็จได้ | BrandCase
หลายธุรกิจมักมีการขยายสินค้าและบริการให้หลากหลาย ซึ่งเกิดมาจากความต้องการที่จะขยายฐานลูกค้า เพิ่มรายได้ หรือทำกำไรให้เติบโต
แต่จริง ๆ แล้วก็มีบริษัทอีกจำนวนไม่น้อย ที่เน้นขายสินค้าหลักเพียงอย่างเดียว จนประสบความสำเร็จ
แล้วข้อได้เปรียบของบริษัทที่ทำแบบนี้ คืออะไร
ทำไมบางบริษัทที่ขายสินค้าหลัก ๆ เพียงอย่างเดียว ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ?
BrandCase จะสรุปให้ฟังแบบเข้าใจง่าย ๆ
ถ้าให้เรานึกถึงบริษัทที่ขายสินค้าเพียงอย่างเดียว แล้วประสบความสำเร็จ เราน่าจะนึกถึงอะไร ?
“เฮลซ์บลูบอย” แบรนด์น้ำหวานชื่อดัง ที่อยู่คู่กับคนไทยมานานกว่า 60 ปี
หรือ จอลลี่แบร์ แบรนด์ขนมเจลลีรูปหมี ที่อยู่คู่กับคนไทยมานานเกือบ 50 ปี
ลองมาดูผลประกอบการของเฮลซ์บลูบอย และจอลลี่แบร์
บริษัท เฮลซ์เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์เฮลซ์บลูบอย
ปี 2563 รายได้ 3,320 ล้านบาท กำไร 1,057 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 3,563 ล้านบาท กำไร 1,137 ล้านบาท
บริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์จอลลี่แบร์
ปี 2563 รายได้ 215 ล้านบาท กำไร 38 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 265 ล้านบาท กำไร 49 ล้านบาท
ทั้งเฮลซ์บลูบอย และจอลลี่แบร์ มีอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือมีสินค้าหลักเพียงอย่างเดียว
เฮลซ์บลูบอยขายน้ำหวานเข้มข้น
จอลลี่แบร์ ขายขนมเจลลีรูปหมี
ซึ่งข้อดีของการขายสินค้าเพียงอย่างเดียว ก็อย่างเช่น
-ช่วยให้เราสามารถ Focus กับสินค้านั้นได้อย่างเต็มที่
การทำสินค้าเพียงอย่างเดียว ทำให้สามารถ Focus สินค้าที่เราผลิตได้อย่างเต็มที่ ทุ่มเททรัพยากรต่าง ๆ ทั้งเงินทุน เวลา และแรงงาน เพื่อไปผลิตสินค้าของเราให้ออกมาดีที่สุดได้
ต่างจากการที่มีหลากหลายสินค้ามากจนเกินไป แล้วทำออกมาได้ไม่สุดทางสักอย่าง จนทำให้สินค้าหลายอย่างที่ผลิตออกมานั้น อาจไม่มีความโดดเด่นหรือแตกต่างจากคู่แข่งมากนัก
อย่างกรณีของ เฮลซ์บลูบอย
แม้จะมีรายได้และยอดขายเป็นหลักพันล้านบาท
แต่มีสินค้าที่เป็นพระเอกของบริษัทเพียงอย่างเดียวนั่นคือ น้ำหวานขวดแก้ว ที่มีรูปเด็กหนุ่มสวมหมวกเป็นสัญลักษณ์
ที่เป็นแบบนี้ เพราะผู้บริหารรุ่นปัจจุบันของบริษัท เคยให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า
เฮลซ์บลูบอยไม่จำเป็นที่จะต้องเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งอาจมาพร้อมกับความเสี่ยงมากขึ้น
โดยบริษัทจะไม่พยายามไปก่อหนี้ เพื่อมาสร้างการเติบโต ไม่ใช้เงินผิดประเภท และไม่แตกไลน์ไปทำในสิ่งที่ไม่ถนัด
-ทำให้ลูกค้ามองว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้านั้น
ด้วยความที่สินค้านั้นมีอย่างเดียว และทรัพยากรทุกอย่างที่มีสามารถทุ่มเทลงไปให้กับสินค้านั้น ๆ ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะทำให้สินค้าของแบรนด์นั้นโดดเด่น และมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ลูกค้าชื่นชอบในสินค้าของบริษัท แต่ยังทำให้ลูกค้านั้นเชื่อว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญในสินค้าตัวนี้เป็นอย่างมาก
อย่างกรณีของ จอลลี่แบร์ ที่เวลาเราอยากกินขนมเจลลี
หลายคนต้องนึกถึงแบรนด์นี้ ที่กินแล้วติดใจ จนรู้ว่าขนมเจลลีรูปหมีของแบรนด์นี้ เชี่ยวชาญด้านการผลิตเจลลีมาก ๆ จนทำออกมาได้ถูกปาก และไม่อยากเปลี่ยนไปซื้อแบรนด์อื่น
-สร้างโอกาสในการเติบโตใน ตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Marketing
การโฟกัสเพื่อขายสินค้าเพียงอย่างเดียว ธุรกิจมีโอกาสที่จะสร้างการเติบโตใน ตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Market ได้ง่ายกว่าบริษัทที่ขายสินค้าหลากหลาย
ซึ่งหลายครั้งบริษัทขนาดใหญ่ไม่ได้สนใจ หรือลงมาเล่นในตลาดนี้ เนื่องจากอาจไม่คุ้มค่าที่จะเข้ามา
ทำให้ธุรกิจที่อยู่ใน Niche Market ก็มีโอกาสที่จะทำกำไรได้ดีเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องบอกว่า การโฟกัสขายสินค้าเพียงอย่างเดียวแบบนี้ ก็มีความเสี่ยง
ความเสี่ยงที่ว่าคือ ถ้าตลาดที่เราทำสินค้าป้อนให้นั้น เริ่มอิ่มตัว หรือหดตัวลง
ก็จะส่งผลต่อการเติบโตของรายได้บริษัท
เช่น ถ้าในอนาคต คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพ เลิกกินของหวานที่มีน้ำตาลมาก ๆ
บริษัทที่ทำของหวาน ๆ เป็นสินค้าหลัก ก็อาจจะได้รับผลกระทบ
ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็ต้องปรับตัวโดยการปรับเปลี่ยนสูตร หรือแตกไลน์สินค้าใหม่
อย่างไรก็ตาม หลายแบรนด์ที่เลือกโฟกัสทำสินค้าอย่างเดียว คงรู้ดี รวมถึงมีวิธีรับมือและเติบโตในแบบของตัวเองในวันข้างหน้า
เพราะการทำอะไรที่ตัวเองถนัดที่สุด เชี่ยวชาญที่สุด และรู้ดีที่สุด
มันคือหัวใจสำคัญ ของการทำธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จ..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.