ไทยออยล์ รับมืออย่างไร ในวันที่ธุรกิจโรงกลั่นกำลังเจอดิสรัปต์

ไทยออยล์ รับมืออย่างไร ในวันที่ธุรกิจโรงกลั่นกำลังเจอดิสรัปต์

9 ก.ย. 2022
ไทยออยล์ รับมืออย่างไร ในวันที่ธุรกิจโรงกลั่นกำลังเจอดิสรัปต์ | BrandCase
ในวันที่เรากำลังเจอกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานของโลก ?
เพราะผลจากกระแสรักษ์โลก ทำให้เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นที่พูดถึง
เห็นได้จากยอดการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ในปี 2564 อยู่ที่ 6.75 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 108%
สิ่งที่เกิดขึ้น กลายเป็นที่มาของโจทย์ใหญ่ว่า หรือธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันกำลังจะโดนดิสรัปต์ ?
แล้วไทยออยล์ ในฐานะโรงกลั่นนํ้ามันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กำลังจะสิ้นสุดยุคทองจริงหรือไม่ ?
BrandCase จะพาทุกคนไปหาคำตอบ ผ่านมุมมองที่น่าสนใจของ คุณวิรัตน์ เอื้อนฤมิต
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า โรงกลั่นไทยออยล์เป็นโรงกลั่นแรกของไทย ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2504 หรือเมื่อ 61 ปีที่แล้ว
ที่สำคัญยังเป็นโรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ด้วยกำลังการผลิต 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน
บนเส้นทางแห่งความสำเร็จนี้ สิ่งที่ไทยออยล์ ให้ความสำคัญไม่เคยเปลี่ยน คือ “สำเร็จแล้ว ก็หยุดนิ่งไม่ได้”
ด้วย Keyword นี้เอง ทำให้ต่อให้ต้องเจอสถานการณ์แบบไหน ไทยออยล์ ก็พร้อมปรับตัว
ไม่ว่าปัจจัยที่เข้ามาจะเป็นเมกะเทรนด์ของโลก อย่างกระแสเรื่อง Climate Change กระแสรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เกิด Energy Transition เปลี่ยนจาก Fossil Fuels มาเป็น Renewable Energy
หรือ Black Swan ซึ่งหมายถึง เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันและมีผลกระทบมหาศาล อย่างการเกิดโรคระบาด ไปจนถึงสถานการณ์สงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่อาจนำไปสู่การแบ่งขั้วอำนาจ เป็นต้น
เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ไทยออยล์ มีกลยุทธ์อย่างไร ?
คุณวิรัตน์ เปิดเผยว่า กลยุทธ์สำคัญที่ไทยออยล์จะใช้เป็นแกนหลักในการนำทัพไทยออยล์ คือ กลยุทธ์ 3Vs ซึ่งประกอบด้วย
1.Value Maximization หรือ การต่อยอดห่วงโซ่มูลค่า
แทนที่จะกลั่นน้ำมันเป็นปิโตรเลียมเพียงอย่างเดียว เรายังต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เช่น อะโรเมติกส์ โอเลฟิน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสุดให้กับผลิตภัณฑ์
2.Value Enhancement หรือ การขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค
โดยเน้นตลาดที่มีความต้องการสูง เพื่อเข้าถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมาจะเห็นว่า ไทยออยล์ นอกจากจะลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต
ยังไปลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อขยายเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินอีกด้วย
3.Value Diversification หรือ การกระจายการเติบโตสู่ธุรกิจที่มีความมั่นคงของผลกำไร
เช่น ธุรกิจไฟฟ้า รวมถึงการแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve
ทั้งนี้ คุณวิรัตน์มั่นใจว่า ด้วยกลยุทธ์ 3Vs จะทำให้ไทยออยด์ยังคงมุ่งหน้าต่อยอดสู่ธุรกิจที่หลากหลาย โดยอาศัยรากฐานทีแข็งแกร่งมจากธุรกิจหลัก (Building on Our Strong Foundation) พร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง
เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตและเติบโตไปพร้อมกับคนไทย พร้อมก้าวสู่องค์กร 100 ปีอย่างยั่งยืน
แต่ก่อนจะไปถึง End Game ที่วางไว้ คุณวิรัตน์บอกว่า เป้าหมายแรกที่จะไปให้ถึงในปี 2573 คือ การปรับสัดส่วนรายได้หลักของธุรกิจ ซึ่งจะไม่ได้มาจากปิโตรเลียมอีกต่อไป
จากเดิมที่รายได้หลักมาจากปิโตรเลียม 60% จะลดลงเหลือ 40%
“สัดส่วนที่ลดลง ไม่ได้หมายความว่า ธุรกิจในฝั่งปิโตรเลียมจะมีรายได้ลดลง เพียงแต่สัดส่วนของธุรกิจอื่นเติบโตแซงหน้า
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจปิโตรเคมี 40%, ธุรกิจไฟฟ้า 10% รวมทั้งธุรกิจใหม่ ๆ (New S-Curve) 10%”
ส่วนประเด็นที่หลายคนสงสัยว่า ธุรกิจโรงกลั่นจะยืนหยัดอย่างไร ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างพลังงาน
คุณวิรัตน์ ยอมรับว่า ธุรกิจโรงกลั่นกำลังถูกดิสรัปต์ แต่ไม่ถูก Eliminate สุดท้ายน้ำมันจะไม่ได้หายไปจากโลก
“ผมเชื่อว่า ความต้องการใช้น้ำมันยังมีอยู่ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องบิน เราคงไม่สามารถใช้แบตเตอรี่ที่มีน้ำหนักมากมาแทนน้ำมัน ที่มีน้ำหนักเบากว่า และใช้เวลาเติมน้อยกว่า
หรือถ้าเทียบในแง่การใช้ความร้อน พลังงานไฟฟ้าก็ไม่สามารถให้ความร้อนได้สูงเท่าน้ำมัน
เพราะฉะนั้น ผมมองว่า เทรนด์การใช้พลังงานอาจจะเปลี่ยน แต่น้ำมันจะไม่ถูกแทนที่ทั้งหมด”
ดังนั้น สำหรับไทยออยล์ การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เกิดขึ้น จึงเป็นเหมือนโอกาส
ด้วยการเตรียมพร้อมทั้งกลยุทธ์และการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาว
ผ่านการเพิ่มทุนและปรับลดสัดส่วนการลงทุนใน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC)
โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำเงินที่ได้รับไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) จากการเข้าลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ในช่วงไตรมาส 3/2564 ที่ผ่านมา รวมถึงรองรับการลงทุนขยายธุรกิจในอนาคตของไทยออยล์ด้วย
จะทำให้ไทยออยล์มีความพร้อม และสามารถยืนหยัดในสมรภูมิธุรกิจนี้ได้อย่างแน่นอน
Reference:
-บทสัมภาษณ์ คุณวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) โดยเพจ BrandCase
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.