สรุปเรื่องต้องรู้ ถ้าอยากทำธุรกิจ ให้เป็นแฟรนไชส์

สรุปเรื่องต้องรู้ ถ้าอยากทำธุรกิจ ให้เป็นแฟรนไชส์

15 ส.ค. 2022
สรุปเรื่องต้องรู้ ถ้าอยากทำธุรกิจ ให้เป็นแฟรนไชส์ | BrandCase
- Café Amazon เชนร้านกาแฟชื่อดังที่เป็นที่นิยม ของคนดื่มกาแฟจำนวนมาก
- 7-Eleven ผู้นำร้านสะดวกซื้อร้านใหญ่ในประเทศไทย ที่ไม่ว่าเราจะเดินทางไปที่ไหน ก็มักจะพบเห็น
- KFC เชนร้านอาหารฟาสต์ฟูดชื่อดัง ที่หลายคนติดใจในเมนูไก่ทอด ซึ่งปัจจุบันมีสาขากระจายอยู่ทั่วโลกรวมถึงในไทย
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโตคือ การขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ จนทำให้สาขาของธุรกิจมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจรูปแบบนี้ ก็มีทั้งข้อดี และข้อควรระวัง
แล้วเรื่องที่ต้องรู้ ถ้าอยากทำธุรกิจ ให้เป็นแฟรนไชส์ มีอะไรบ้าง ?
BrandCase จะสรุปเรื่องนี้ให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
สมมติว่าถ้าเราเป็นเจ้าของร้านกาแฟสักแห่ง และธุรกิจของเราทำท่าจะไปได้ดี เราจึงมีความคิดที่อยากจะขยายสาขาให้มากขึ้น เพื่อเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แผนในการขยายสาขาร้านกาแฟของเรานั้น กลับพบกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็น
- มีเงินทุนน้อย และด้วยธุรกิจที่ยังมีขนาดเล็กอยู่ ทำให้สถาบันการเงินก็ไม่ต้องการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจของเรามากนัก
- ขาดแคลนพนักงานที่จะไปประจำอยู่ที่สาขาแต่ละแห่ง
- อาจไม่มีเวลาไปดูแลทุกสาขาได้อย่างครอบคลุม ด้วยการบริหารเอง
หรือบางคนอาจจะไม่ได้เจอปัญหาเหล่านี้
แต่อยากให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว โดยการให้คนอื่นที่สนใจในแบรนด์ มาเป็นตัวช่วย
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ก็เกิดการทำธุรกิจในลักษณะที่ขายสิทธิ์การใช้แบรนด์ ให้แก่ผู้ที่สนใจมาร่วมลงทุนด้วย หรือที่เรียกว่า “แฟรนไชส์”
ข้อดีของการขยายธุรกิจแบบแฟรนไชส์ ก็อย่างเช่น
1. เป็นโอกาสให้ธุรกิจและแบรนด์ เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้เร็ว
เพราะเจ้าของแฟรนไชส์ ไม่ต้องลงทุนเองมาก เนื่องจากส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ไป เป็นคนลงทุนเรื่องการบริหารจัดการหน้าร้านเอง
2. ได้ค่าตอบแทนจากการขายแฟรนไชส์ และบางธุรกิจที่ขายแฟรนไชส์ ยังมีเงื่อนไขเก็บส่วนแบ่งยอดขาย และค่าใช้จ่ายด้านการตลาดจากผู้ที่ซื้อสิทธิ์ไปด้วย อย่างเช่น KFC
3. เป็นช่องทางในการกระจายสินค้าและบริการของธุรกิจ ยิ่งมีสาขาแฟรนไชส์มาก ธุรกิจก็จะสามารถกระจายสินค้าได้มากตามไปด้วย
4. มีอำนาจในการต่อรองซื้อวัตถุดิบ ให้สามารถซื้อได้ถูกลง เนื่องจากธุรกิจจะซื้อวัตถุดิบในปริมาณที่มากขึ้น จากผู้ขายวัตถุดิบหรือซัปพลายเออร์
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจในลักษณะแฟรนไชส์แบบนี้
ก็มีหลายเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
ตัวอย่างเช่น
- ผู้ขายสิทธิ์แฟรนไชส์ ต้องรับภาระในการดูแลรับผิดชอบหลายด้าน
เช่น การฝึกอบรมผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ไป, การตรวจสอบคุณภาพการบริหารงาน ของผู้ซื้อแฟรนไชส์อย่างใกล้ชิด
เพราะถ้าผู้ซื้อแฟรนไชส์สร้าง “ชื่อเสีย” ให้กับแบรนด์แล้ว อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งหมด หรือสาขาทุกสาขาจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย
- ต้องเปิดเผยเคล็ดลับ หรือวิธีการทำธุรกิจ
เพราะผู้ขายต้องถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ ให้แก่ผู้ซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์
ซึ่งถ้าในอนาคตผู้ซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ มีการนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปพัฒนาเป็นสูตรของตนเอง ก็อาจกลายมาเป็นคู่แข่งทางธุรกิจของเราในอนาคต
เพราะฉะนั้น ผู้ขายแฟรนไชส์ ต้องกำหนดกฎระเบียบให้ครอบคลุมและชัดเจน
เช่น เรื่องคุณภาพในการบริหารจัดการ
รวมถึงกฎระเบียบเรื่อง การนำองค์ความรู้หรือสูตรลับ ไปใช้ด้วย..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้ไหมว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565
จำนวนสาขาทั้งหมดของร้าน 7-Eleven มีอยู่ 13,253 แห่ง
โดยเป็นสาขาที่บริษัทบริหารจัดการเอง 6,394 สาขา คิดเป็น 46%
และเป็นสาขาของผู้ได้สิทธิ์แฟรนไชส์ (Store Business Partner) จำนวน 6,859 สาขา คิดเป็น 54% ของจำนวนสาขาทั้งหมด
References:
-http://www.thaismescenter.com/
-https://thailandfranchising.com/
-https://www.cpall.co.th/wp-content/uploads/2022/05/1Q22_Presentation_CPALL.pdf
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.