กรณีศึกษา Venmo แอปการเงิน ที่เกิดจาก เพื่อนลืมกระเป๋าสตางค์

กรณีศึกษา Venmo แอปการเงิน ที่เกิดจาก เพื่อนลืมกระเป๋าสตางค์

3 ส.ค. 2022
กรณีศึกษา Venmo แอปการเงิน ที่เกิดจาก เพื่อนลืมกระเป๋าสตางค์ | BrandCase
“ฟรีค่าธรรมเนียม” อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกในตอนนี้ แต่หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน การโอนเงินระหว่างบุคคลหรือธนาคารนั้น ล้วนแล้วแต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมทั้งสิ้น
เมื่อไม่กี่ปีก่อน ธนาคารในประเทศไทยเลือกที่จะดิสรัปต์ตัวเอง ด้วยการปลดล็อกค่าธรรมเนียมศูนย์บาท รวมถึงต่างหันมาพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ให้หันมาทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น
และเรื่องดังกล่าว ก็เคยเป็นปัญหาเหมือนกับที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะระบบการโอนเงินผ่านธนาคารเมื่อ 10 ปีก่อน ยังคงมีความยุ่งยาก และเสียค่าธรรมเนียมอยู่
จุดนี้เองจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “Venmo”
Venmo ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2009 จากสองเพื่อนซี้สมัยมหาวิทยาลัย
อย่างคุณ Andrew Kortina และคุณ Iqram Magdon-Ismail
โดยพวกเขามีไอเดียว่าต้องการพัฒนาระบบโอนเงิน ให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น จากปัญหาที่คุณ Iqram เคยลืมกระเป๋าสตางค์ไว้ที่บ้าน ขณะมาเยี่ยมคุณ Andrew ที่นิวยอร์ก
คุณ Andrew จึงต้องออกค่าใช้จ่ายให้กับเพื่อนของเขาตลอดทั้งสัปดาห์
ในขณะที่คุณ Iqram กลับต้องคืนเงินให้เพื่อนของเขา ผ่านระบบเช็คของธนาคารที่ทั้งยุ่งยากและซับซ้อน
Venmo จึงมาพร้อมกับบริการฟรีค่าธรรมเนียมการโอน และจะมีการเก็บเงินก็ต่อเมื่อผู้ใช้งานถอนเงินออกมาจากระบบเท่านั้น
โดยภายหลังจากที่ Venmo ก่อตั้งได้เพียง 3 ปี บริษัทก็ขายกิจการให้กับบริษัท Braintree มูลค่าราว 960 ล้านบาท
และในปีถัดมา Braintree ก็ถูกซื้อกิจการโดย PayPal ด้วยมูลค่าถึง 29,300 ล้านบาท
นั่นจึงทำให้ PayPal ได้ Venmo เป็นของแถมไปด้วย
ด้วยความสะดวกสบาย ในการรับ-ส่งเงินแบบไร้ค่าธรรมเนียม ผ่านสมาร์ตโฟน จึงทำให้ Venmo ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี
อีกทั้ง Venmo ยังเป็นมากกว่าผู้ให้บริการรับ-ส่ง และชำระเงิน เพราะบริษัทได้นำเสนอฟีเชอร์ที่ดีกว่าคู่แข่ง
ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความ หรือส่งอีโมจิขณะรับ-ส่งเงิน หรือการแชร์ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างค่าอาหาร, ค่าตั๋วหนัง และค่าหอพัก
ซึ่งฟีเชอร์เหล่านี้ ก็ได้กลายเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีฟีเชอร์ “Feed” คล้ายกันกับของ Facebook ที่ให้เราสามารถติดตามได้ว่าเพื่อนของเราใช้เงินไปกับสินค้าแบบไหน หรือรับเงินจากใครบ้างใน Venmo
ฟีเชอร์นี้เอง ทำให้เกิด Network Effect ระหว่างกลุ่มผู้ใช้งาน ขยายวงไปในหมู่เพื่อนและครอบครัว
จนในปีนี้ Venmo มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 80 ล้านบัญชี คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรประเทศสหรัฐอเมริกา เลยทีเดียว
และถึงแม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Venmo จะมีคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Zelle
โดย Zelle เป็นธุรกิจที่แบ็กอัปโดยสถาบันการเงินรายใหญ่ ในประเทศสหรัฐอเมริกา
เช่น Bank of America, Truist, Capital One, JPMorgan Chase, PNC Bank, U.S. Bank และ Wells Fargo
แต่นั่นกลับไม่ได้ทำให้ Venmo มีการใช้งานที่น้อยลง
เพราะเมื่อดูมูลค่าการใช้จ่ายภายในแอปพลิเคชันของ Venmo 3 ปีย้อนหลัง
ปี 2019 มียอดธุรกรรมรวม 3,699,000 ล้านบาท
ปี 2020 มียอดธุรกรรมรวม 5,824,000 ล้านบาท
ปี 2021 มียอดธุรกรรมรวม 8,412,000 ล้านบาท
ซึ่งก็เรียกได้ว่า Venmo ยังสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดด
ทีนี้ เรามาดูกันว่าทำไม Venmo ยังสามารถแข่งขันกับธุรกิจร่วมทุนของสถาบันรายใหญ่ได้ ?
1. Venmo เป็นเจ้าแรก ๆ ในตลาดนี้
ด้วยความที่ Venmo เริ่มกิจการมาตั้งแต่ ปี 2009 หรือยาวนานกว่า 13 ปี ทำให้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่
ยังคงคุ้นชินกับ Venmo มากกว่า บริการของเจ้าอื่น ๆ จนถึงขนาดมีคำศัพท์อย่าง “Venmo me” ที่แปลว่า
โอนเงินให้ด้วย
2. สะดวกเหมือนใช้เงินสด
เพราะ Venmo สามารถผูกบัญชีบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต ได้แทบทุกธนาคาร แตกต่างจาก ​Zelle ซึ่งยังคงผูกบัญชีได้กับแค่บางธนาคารในเครือ
อีกทั้งยังมีร้านค้ารายใหญ่ และร้านค้าขนาดเล็กมากกว่า 2,000,000 ร้าน ที่รับชำระเงินด้วย Venmo ทำให้ผู้ใช้งานยังคงจะเลือกใช้ Venmo ต่อไป
แล้วธุรกิจรับ-ส่งเงินที่ฟรีค่าธรรมเนียม และไม่มีบริการสินเชื่อแบบธนาคาร จะหารายได้อย่างไร ?
1. หักค่าบริการจากบริษัทพันธมิตร
เมื่อลูกค้าใช้จ่ายผ่าน Venmo อย่างบริการรับ-ส่งอาหาร Uber Eats หรือผู้ให้บริการสตรีมมิง อย่าง Hulu Venmo จะได้รับส่วนแบ่ง 1.9% จากยอดใช้จ่ายของลูกค้า
2. ค่าธรรมเนียมในการโอนเงินออกจากบัญชี
ถึงแม้ว่าการโอนเงินจะไร้ค่าธรรมเนียม แต่หากลูกค้าต้องการจะถอนเงินสดเข้าบัญชีธนาคาร ลูกค้าจะต้องรอเกือบ 3 วัน
แต่หากลูกค้าอยากได้รับเงินในทันที จะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่ 1.5% ของยอดเงินที่ถอน แต่จะไม่หักเกินกว่า 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้ง หรือไม่เกิน 550 บาท
3. ค่าธรรมเนียมในการถอนเงินสด
หากลูกค้าต้องการถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ก็จะมีค่าบริการที่ 2.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้ง หรือประมาณ 90 บาท
ทั้งหมดนี้ก็เป็นกรณีศึกษาของ Venmo ซึ่งก็เรียกได้ว่าเป็นแอปพลิเคชันด้านการเงินยักษ์ใหญ่ จากประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากเพียงแค่การอยากแก้ปัญหาความยุ่งยาก และความซับซ้อนของการโอนเงินให้เพื่อนเมื่อ 13 ปีก่อน
เรื่องนี้อาจเป็นข้อคิดให้ใครหลาย ๆ คน ที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจ แต่ไม่อยากทำธุรกิจที่ซับซ้อน
อาจจะเริ่มจากการแก้ปัญหาที่ทุกคนมองข้าม และต่อยอดสู่ธุรกิจก็ได้ เหมือนกัน
References
-https://www.investopedia.com/articles/personal-finance/010715/venmo-its-business-model-and-competition.asp
-https://insights.daffodilsw.com/blog/how-does-venmo-work-business-model-and-revenue-streams
-https://moneytransfers.com/news/content/venmo-statistics
-https://entrepreneur-360.com/how-does-venmo-make-money-6142
-https://www.forbes.com/sites/ronshevlin/2019/02/11/venmo-versus-zelle/?sh=3872117d3c62
-https://www.nerdwallet.com/article/banking/wire-transfers-what-banks-charge
-https://thehustle.co/how-venmo-started/
-https://www.statista.com/statistics/763617/venmo-total-payment-volume/
-https://www.forbes.com/advisor/money-transfer/zelle-vs-venmo/
-https://seekingalpha.com/article/4466003-how-does-venmo-make-money?source=acquisition_campaign_google&utm_source=google&utm_medium=cpc&utm_campaign=14926960698&utm_term=127894704186^dsa-1427141793820^^552341146735^^^g&internal_promotion=true&gclid=Cj0KCQjw2_OWBhDqARIsAAUNTTF1ZhLc0hxJjaq48mal-iuHyxb-BW1wZznIVFyayHXRMWeQHRXGb0kaApzBEALw_wcB
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.