กรณีศึกษา วิธีลดค่าใช้จ่ายองค์กร โดยไม่ต้อง ไล่คนออก

กรณีศึกษา วิธีลดค่าใช้จ่ายองค์กร โดยไม่ต้อง ไล่คนออก

19 ก.ค. 2022
กรณีศึกษา วิธีลดค่าใช้จ่ายองค์กร โดยไม่ต้อง ไล่คนออก | BrandCase
- Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เตรียมหยุดการจ้างงานชั่วคราว พร้อมทั้งลดจำนวนพนักงานลง 10%
- JPMorgan หนึ่งในสถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐอเมริกา เลิกจ้างพนักงานธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยกว่า 1,000 คน
- Meta เจ้าของเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม วางแผนที่จะปลดพนักงานภายในองค์กรครั้งใหญ่
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของบริษัทขนาดใหญ่บางส่วน ที่ต้องการลดค่าใช้จ่าย ในภาวะที่หลายบริษัทกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในปัจจุบัน
คำถามคือ แล้วในแง่ของการบริหารองค์กร
มีวิธีลดค่าใช้จ่าย แบบไม่ต้องเอาคนออก บ้างไหม ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง
ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น หลายบริษัทไม่เพียงแต่ต้องประสบกับการชะลอตัวลงของรายได้ แต่ยังต้องเจอกับภาวะการพุ่งขึ้นของค่าใช้จ่าย
ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด ซึ่งก็มีหลายวิธี เช่น
- ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
- มองหาแหล่งวัตถุดิบในราคาที่ถูกลง
- ตัดลดค่าใช้จ่ายในองค์กรที่ไม่จำเป็น
- ลดจำนวนพนักงานลง
เราจะเห็นว่า วิธีการสุดท้ายอย่าง การลดจำนวนพนักงานลงนั้น เป็นหนึ่งในวิธีที่หลายบริษัทมักนำมาใช้ เพราะเห็นผลทันที
แต่ก็มีข้อมูลจาก The Society for Human Resource Management (SHRM) ซึ่งเป็นสมาคมบริหารทรัพยากรมนุษย์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการสำรวจและพบว่า
มีเพียง 32% ของกลุ่มตัวอย่าง ที่แสดงให้เห็นว่า การปลดพนักงานออก สามารถลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้จริง
หมายความว่าอีก 68% นั้นพบว่า การลดจำนวนพนักงานลง ไม่ได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่องค์กรได้จริง
เพราะเมื่อไรที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว บริษัทก็จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหา และฝึกอบรมพนักงานใหม่ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นต้นทุนสำคัญอย่างหนึ่ง ที่หลายบริษัทต้องสูญเสียไปเช่นกัน
นอกจากนี้ ทรัพยากรบุคคลยังเป็นกำลังสำคัญในการสร้างรายได้และกำไร พร้อมทั้งการเจริญเติบโตของบริษัทในระยะยาว
ดังนั้น การลดจำนวนพนักงานในองค์กร เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีของเรื่องนี้เสมอไป
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงมีแนวคิดในการบริหารองค์กรที่เรียกว่า “Flexible Rightsizing” หรือการปรับขนาดองค์กรที่มีความยืดหยุ่น กว่าการลดขนาดองค์กร หรือการเอาคนออก
หลักการคือ แทนที่จะลดจำนวนพนักงานลง ให้มุ่งเน้นไปที่มาตรการบริหารจัดการ กับวิธีการทำงานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อน
ซึ่งแนวทางของ Flexible Rightsizing มีตั้งแต่
- ให้พนักงานทำงานที่บ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายทั้งของพนักงานเอง และของบริษัท
- ลดวันหรือลดชั่วโมงในการทำงาน พร้อมกับลดค่าจ้าง
- หยุดงานเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยไม่รับค่าจ้าง แต่ไม่ไล่ออก
- ลดค่าใช้จ่ายที่สามารถลดได้ในสำนักงาน เช่น ปิดไฟในที่ทำงานทุกครั้งในช่วงเวลาที่ไม่ใช้งาน และช่วงพักกลางวัน ลดการใช้กระดาษ หรือนำสิ่งที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่
- นำเทคโนโลยีมาใช้ให้มากที่สุด เช่น ใช้การประชุมผ่าน Video Conference ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าสถานที่ไปได้
- เพิ่มทักษะพนักงานให้สามารถทำงานได้อย่างหลากหลาย (Multiple skill) เพื่อช่วยให้บริษัทไม่ต้องจ้างคนเพิ่ม
ซึ่งต้องบอกว่า แง่ดีของวิธีการนี้ก็คือ การที่บริษัทไม่ต้องเอาคนออก ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องเงินชดเชย
รวมทั้งไม่ต้องเสียพนักงาน โดยเฉพาะคนเก่ง ๆ ที่เราอยากเก็บไว้เป็นกำลังสำคัญ เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทในอนาคต
โดยแต่ละองค์กรสามารถนำแนวทางของ Flexible Rightsizing ไปใช้ทีละข้อหรือจะใช้พร้อมกันหลาย ๆ ข้อก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบริษัท
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ต้องพิจารณาความเหมาะสม และสื่อสารกับพนักงานให้ดี ๆ เช่นกัน ว่าบริษัทกำลังจะทำอะไร และทำไปเพราะอะไร
เพราะถ้าหากอยู่ดี ๆ จะลดวันทำงานพร้อมกับลดค่าจ้าง หรือให้พนักงานคนไหนหยุดงาน โดยไม่บอกเหตุผลให้ชัดเจน ก็คงไม่ได้รับการยอมรับจากพนักงาน และก็จะเกิดผลเสียต่อบริษัทเสียเอง..
References:
-https://www.businessinsider.com/tesla-elon-musk-layoffs-10-percent-staff-have-begun-2022-6
-https://www.businessinsider.com/jpmorgan-layoffs-home-lending-job-cuts-report-2022-6
-https://www.theregister.com/2022/07/12/meta_sackings/
-https://www.bangkokbanksme.com/en/7start-flexible-rightsizing
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.