กรณีศึกษา ธุรกิจสินค้ามือสอง มูลค่า 5,000 ล้าน ในญี่ปุ่น

กรณีศึกษา ธุรกิจสินค้ามือสอง มูลค่า 5,000 ล้าน ในญี่ปุ่น

17 ก.ค. 2022
กรณีศึกษา ธุรกิจสินค้ามือสอง มูลค่า 5,000 ล้าน ในญี่ปุ่น | BrandCase
ถ้าให้เรานึกถึงธุรกิจ ที่มีสาขาเป็นจำนวนมาก
เราจะนึกถึงธุรกิจอะไร ?
หลายคนก็น่าจะนึกถึงร้านสะดวกซื้อ หรือเชนร้านกาแฟ
แต่รู้หรือไม่ว่ายังมี “เชนร้านขายของมือสอง” ในประเทศญี่ปุ่นแบรนด์หนึ่ง
ที่สามารถขยายธุรกิจ ไปได้เกินกว่า 800 สาขา ได้เหมือนกัน
โดยบริษัทแห่งนี้ มีชื่อว่า Book Off เป็นเชนธุรกิจขายสินค้ามือสอง
แต่สามารถเติบโตจนจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้
ปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทราว 5,400 ล้านบาท
แล้วบริษัทแห่งนี้ทำอย่างไร ให้ธุรกิจร้านขายของมือสอง กลายมาเป็นแบรนด์และสามารถขยายสาขาได้มากมายขนาดนี้ ?
เรามาดูกันก่อนว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้ร้านสินค้ามือสองในญี่ปุ่นแตกต่างจากประเทศอื่น​
- เริ่มตั้งแต่ “การทิ้งขยะในญี่ปุ่น” จะมีกฎระเบียบที่เข้มงวด เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
โดยผู้อยู่อาศัยไม่สามารถนำขยะไปทิ้งเฉย ๆ ได้ แต่จะต้องนำไปทิ้งในจุดที่กำหนด โดยที่รถเก็บขยะแยกตามประเภทขยะ จะออกเก็บขยะในวันที่กำหนดเท่านั้น
อย่างในกรณีของขยะอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะต้องเสียค่ากำจัดเพิ่มเติมก่อนนำไปทิ้งด้วย หรือหากเป็นขยะขนาดใหญ่อย่างเฟอร์นิเจอร์ ก็จะต้องเสียค่าขนส่งไปยังบ่อขยะและค่ากำจัดขยะเพิ่มอีก
ด้วยกฎระเบียบเหล่านี้ จึงทำให้บางครั้งการขายของที่ไม่จำเป็นสู่ร้านสินค้ามือสอง จึงกลายมาเป็นทางเลือกที่ดึงดูดพ่อบ้านแม่บ้านชาวญี่ปุ่นมากกว่า
- อีกประเด็นก็คือ ชาวญี่ปุ่นนิยมเสพสื่อ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ เพลง หนังสือ หรือเกม
ส่วนใหญ่แล้ว สินค้าในกลุ่มนี้มักจะมีอายุการใช้งานไม่นานนัก หากเราไม่ใช่นักสะสม
อย่างเช่น ภาพยนตร์ หรือเกม ที่ดูหรือเล่นจบเพียงไม่กี่รอบก็เก็บขึ้นหิ้งแล้ว
จึงทำให้บางคนที่ไม่ได้เป็นแฟนตัวยง ขนาดที่จะต้องต่อคิวเพื่อซื้อมือหนึ่ง ก็เต็มใจที่จะรอซื้อภาพยนตร์ หรือเกม ที่เจ้าของเบื่อแล้ว และนำมาปล่อยต่อในราคาที่ถูกลง
- อีกเรื่อง ก็คือสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง
ภายหลังจากที่เกิดวิกฤติฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในประเทศญี่ปุ่น ทำให้สินค้ามือสองสภาพดี เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และกลายมาเป็นทางเลือกของใครหลายคน
ด้วยปัจจัยเหล่านี้เอง ก็ได้ทำให้ร้านสินค้ามือสองในประเทศญี่ปุ่นมีช่องทางในการเติบโตได้
แล้ว Book Off มีจุดเริ่มต้นอย่างไร ?
จุดเริ่มต้นของ Book Off มาจากคุณทากาฮาชิ ซากาโมโตะ ที่เคยขายเปียโนมือสอง และมีไอเดียในการส่งต่อสิ่งของที่ไม่ได้ใช้งานแล้วให้แก่ผู้อื่น
คุณซากาโมโตะ จึงได้เริ่มต้นจากธุรกิจร้านขายหนังสือมือสอง สาขาแรกในคานากาวะ เมื่อปี 1990
หรือราว 32 ปีก่อน และก็ได้รุกเข้าสู่ธุรกิจสินค้ามือสองประเภทอื่น ๆ และต่อมาก็ได้เริ่มขยายสาขาด้วยการขายแฟรนไชส์ในปี 1991
ทีนี้เรามาดูกันว่า Book Off สร้างความแตกต่าง ให้กับร้านขายของมือสองอย่างไร ?
- มีสินค้ามือสองหลายประเภท
แม้ว่า Book Off จะมีจุดเด่นที่ชัดเจน คือ มังงะ และแผ่นเกม แต่สินค้าที่นำมาขายไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เพราะยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า
สินค้าเกี่ยวกับเด็ก, อุปกรณ์กีฬา, เครื่องดนตรี, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องประดับ, เสื้อผ้า, นาฬิกาหรู, กระเป๋าแบรนด์เนม, แผ่นเพลงและภาพยนตร์
ไปจนถึงของเล่นและของสะสมอย่างโมเดล ซึ่งล้วนมีขายรวมอยู่ในสถานที่เดียว
แตกต่างจากร้านมือสองอื่น ๆ ที่มักจะขายสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่งเพียงอย่างเดียว
- แบ่งประเภทร้านค้าตามกลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการ
​Book Off ดั้งเดิมที่จะขายหนังสือมือสอง แผ่นเกม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก
เช่น เครื่องเกมและโทรศัพท์มือถือ โดยเน้นตั้งร้านในตัวเมือง
เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่อาศัยอยู่ตามลำพังในอะพาร์ตเมนต์ขนาดเล็ก และมีพื้นที่ใช้สอยอย่างจำกัด
Book Off Plus เพิ่มเสื้อผ้า สินค้าแบรนด์เนม ของเล่น และของสะสมเข้ามา
มักจะเปิดตามห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อตอบโจทย์นักช็อปปิงภายในประเทศและนักท่องเที่ยว
Book Off Super Bazaar ที่เพิ่มสินค้าขนาดใหญ่อย่าง เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์กีฬา
เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และเครื่องดนตรีเข้ามา
เหมาะสำหรับลูกค้ากลุ่มครอบครัว เพราะมีพื้นที่ขนาดใหญ่ และมีสินค้าครอบคลุมทุกความต้องการของคนภายในบ้าน
- สินค้ามีสภาพดี และมีการจัดเรียงที่เป็นระเบียบ
Book Off ลงทุนในนวัตกรรมและเครื่องจักร ที่เข้ามาช่วยให้หนังสือที่รับซื้อมา มีสภาพที่ดีขึ้น ใกล้เคียงกับสินค้ามือหนึ่ง นอกจากนั้น ยังมีการตรวจสอบก่อนการรับซื้อด้วย
อีกทั้ง ร้านยังจัดเรียงสินค้าอย่างเป็นระเบียบ โดยสินค้าประเภทหนังสือ หรือแผ่นเกมจะมีการจัดเรียงตามตัวอักษร
สินค้าประเภทเสื้อผ้า ก็แบ่งตามยี่ห้อ ไซซ์ และเรียงตามเฉดสี
ไปจนถึงสินค้าแบรนด์เนม ที่ผ่านการตรวจสอบ และได้รับการการันตีโดยผู้เชี่ยวชาญ
ทั้งหมดนี้ ทำให้ลูกค้าสามารถหาสินค้าได้ง่าย และมั่นใจได้ว่าจะได้รับสินค้าคุณภาพดีในราคาย่อมเยา
ด้วยเทคนิคและโมเดลธุรกิจเหล่านี้ จึงทำให้ Book Off กลายมาเป็นแบรนด์ติดหู และกลายมาเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตในช่วง “Lost Decade”
หรือก็คือ ทศวรรษที่หายไป ภายหลังจากเกิดวิกฤติฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในประเทศญี่ปุ่น
ทีนี้ เรามาดูผลประกอบการของ Book Off ในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2020 รายได้ 22,296 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 24,730 ล้านบาท
ปี 2022 รายได้ 24,190 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า Book Off เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ถึงระดับหมื่นล้านบาท
โดยบริษัทมีรายได้มาจาก
- หนังสือมือสอง 31%
- ภาพยนตร์และเกมมือสอง 27%
- เสื้อผ้ามือสอง 10%
- แบรนด์หรูมือสอง 9%
- อื่น ๆ เช่น การ์ดเกม อุปกรณ์กีฬา และเครื่องใช้ไฟฟ้า 23%
ซึ่งเชนธุรกิจของ Book Off หลัก ๆ จะอยู่ในประเทศญี่ปุ่น
แต่ก็มีการรุกเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมกันมีหน้าร้านสินค้ามือสองเกินกว่า 800 สาขา
โดยปัจจุบัน Book Off มีมูลค่าบริษัทราว 5,400 ล้านบาท
ถึงตรงนี้ เราก็สามารถสรุปได้ว่า Book Off เป็นหนึ่งในธุรกิจ ที่แม้จะมีจุดเริ่มต้นมาจากไอเดียเล็ก ๆ คือการขายสินค้าใช้แล้ว
แต่หากเราสามารถสร้างความแตกต่าง และสร้างความเป็นแบรนด์ให้กับมันได้ มันก็อาจจะกลายมาเป็นเชนธุรกิจขนาดใหญ่ได้ เช่นกัน
อย่างกรณีของ Book Off ที่มีไอเดียตั้งต้นมาจากร้านขายหนังสือมือสองของคุณซากาโมโตะ
แต่เขาก็ได้ใส่ความเป็นแบรนด์ และใส่จุดขายที่แตกต่างเข้าไป
จนวันนี้ธุรกิจขายของมือสองของเขา มีมูลค่าเป็นพันล้านบาท เลยทีเดียว..
References
-https://www.bookoffgroup.co.jp/en/corporate/management_policy.html
-https://www.bookoffgroup.co.jp/en/corporate/history.html
-https://www.bookoffgroup.co.jp/en/ir/finance/finance1.html
-https://www.bookoffgroup.co.jp/en/ir/library/pdf/presentation/2021/BOOKOFF_May2022_2Q
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.