ทำไม หญ้าฝรั่น ถึงเป็นเครื่องเทศ ที่แพงสุดในโลก

ทำไม หญ้าฝรั่น ถึงเป็นเครื่องเทศ ที่แพงสุดในโลก

5 ก.ค. 2022
ทำไม หญ้าฝรั่น ถึงเป็นเครื่องเทศ ที่แพงสุดในโลก | BrandCase
รู้หรือไม่ ? หญ้าฝรั่น หรือ Saffron เป็นพืชที่ถูกนิยามว่าเป็น “ทองคำสีแดง”
เพราะมูลค่าของหญ้าฝรั่นต่อ 1 กิโลกรัม มีมูลค่าสูงถึง “หลักแสนบาท”
และด้วยราคาที่สูงลิบลิ่ว ทำให้หญ้าฝรั่น ขึ้นแท่นเป็นเครื่องเทศที่มีราคาแพงที่สุดในโลก
หลายคนอาจสงสัยว่า อะไรเป็นตัวกำหนดราคาของหญ้าฝรั่น และหญ้าฝรั่น มีความน่าสนใจอย่างไร ? BrandCase จะสรุปให้ฟัง
หญ้าฝรั่น จัดเป็นเครื่องเทศและเครื่องยาที่สำคัญอย่างหนึ่ง มีดอกสีม่วง และเป็นพืชในตระกูลเดียวกันกับดอกไอริส
หญ้าฝรั่นที่นำมาใช้เป็นเครื่องเทศนั้น คือส่วนเกสรตัวเมียของดอก Saffron Crocus ที่ใน 1 ดอกจะให้หญ้าฝรั่นเพียงแค่ 3 เส้น เท่านั้น
โดยปกติแล้ว หญ้าฝรั่นจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสเผ็ด ขมอมหวาน
ซึ่งผู้คนในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นิยมใช้เป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารหรู, เครื่องยา, น้ำหอม, เครื่องสำอาง รวมถึงใช้แต่งสี และกลิ่นของอาหาร
ซึ่งกลิ่น สี และรสชาติของหญ้าฝรั่นนั้น หลัก ๆ ได้มาจากองค์ประกอบทางเคมี 3 อย่าง
คือไพโครโครซิน (Picrocrocin) และซาฟราแนล (Safranal) ที่ให้รสขมและกลิ่นหอม
และโครซิน (Crocin) ที่ให้สีส้มแดง
ข้อมูลจาก Britannica บอกว่าหญ้าฝรั่น เป็นพืชพื้นเมืองแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเอเชียไมเนอร์
โดยมีการเพาะปลูกมาอย่างยาวนาน ในประเทศอิหร่าน และแถบแคชเมียร์ ซึ่งเป็นดินแดนทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย
โดยหญ้าฝรั่นเกือบทั้งหมดที่ซื้อ-ขายกันนั้น ส่วนใหญ่ถูกเพาะปลูกในพื้นที่ล้อมรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนในทวีปอื่น ๆ ก็สามารถเพาะปลูกได้เช่นกัน แต่จะได้ผลผลิตที่น้อยกว่า
ในปัจจุบัน มีการปลูกหญ้าฝรั่นกันมากในแถบประเทศอิหร่าน, อินเดีย, อัฟกานิสถาน, สเปน, ฝรั่งเศส และเกาะซิซิลี ในอิตาลี
โดยประเทศอิหร่านเป็นประเทศที่มีผลผลิตของหญ้าฝรั่นมากที่สุด คิดเป็น 90-93% ของผลผลิตทั่วโลก และยังเป็นประเทศที่ส่งออกหญ้าฝรั่นได้มากที่สุดในโลกอีกด้วย
ส่วนหญ้าฝรั่นที่แพงที่สุดในโลก มาจากเมือง Pampore ในแคชเมียร์ ที่มีมูลค่าต่อกิโลกรัม สูงถึง 1 แสนกว่าบาท
แล้วอะไร ? คือปัจจัยที่ส่งผลให้หญ้าฝรั่นมีราคาที่สูง..
1. ใน 1 ปี หญ้าฝรั่นจะออกดอกให้ผลผลิต เพียงครั้งเดียว
หญ้าฝรั่นจะออกดอกให้ผลผลิต ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งก็คือในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ของทุกปี และมีช่วงระยะเวลาให้เก็บเกี่ยว ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังผลิดอก
ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวหญ้าฝรั่นนั้นสั้นมาก ๆ โดยจะต้องเก็บเกี่ยวในช่วงเช้าหลังจากที่ดอกบานเต็มที่ เพราะหลังจากผ่านไป 1 วัน ดอกจะเริ่มเหี่ยวลงอย่างรวดเร็ว
และหลังจากเก็บเกี่ยวจะต้องนำมาคั่วให้แห้ง ภายในวันเดียวกันกับการเก็บเกี่ยว พร้อมทั้งเก็บในที่ทึบแสง และห้ามสัมผัสกับอากาศ เพื่อคงความสมบูรณ์ไว้ให้ได้มากที่สุด
มากไปกว่านั้น ด้วยเกสรที่มีลักษณะที่บอบบางมาก จึงไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ด้วยเครื่องจักร ทำให้การเก็บเกี่ยว ต้องทำอย่างระมัดระวังด้วยมือเท่านั้น และใช้แรงงานคนจำนวนมาก
2. ใช้พื้นที่เพาะปลูกเยอะ แต่ได้ปริมาณผลผลิตที่น้อย
อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นว่า ดอก Saffron Crocus 1 ดอก จะให้เกสรหรือหญ้าฝรั่นเพียงแค่ 3 เส้น ซึ่งกว่าจะรวบรวมให้ได้น้ำหนักราว 1 ปอนด์ หรือ 0.45 กิโลกรัม จะต้องใช้เกสรจากดอก Saffron Crocus ถึง 50,000-75,000 ดอก
โดยการจะได้จำนวนดอกเท่านี้ ต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกหญ้าฝรั่น ราว 1 สนามฟุตบอล
และกว่าจะได้หญ้าฝรั่นแห้ง 1 กิโลกรัม ต้องใช้ดอก Saffron Crocus ประมาณ 120,000-160,000 ดอก
โดยหญ้าฝรั่นจะขายปลีกกัน เฉลี่ยกิโลกรัมละประมาณ 77,700 บาท
และด้วยมูลค่าของหญ้าฝรั่นที่สูงมาก จึงทำให้ปัจจุบัน พบว่ามีการเอาดอกคำฝอย ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายกับหญ้าฝรั่น มาผสมปลอมปนในเวลาที่ซื้อ-ขาย ในตลาดเครื่องเทศ
เนื่องจากดอกคำฝอยมีราคาที่ถูกกว่า..
3. สามารถเติบโตได้ดี ในสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมเท่านั้น
หญ้าฝรั่นสามารถเพาะปลูก และเจริญเติบโตได้ดี ในพื้นที่ราบที่เอียงเข้าหาแสงแดด อย่างเขตเทือกเขาสูงในแถบเอเชียกลาง หรือแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
รวมทั้งต้องมีสภาพอากาศที่ร้อน กึ่งแห้งแล้ง ที่มีลมโชย
ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ ประเทศอย่างอิหร่าน, อัฟกานิสถาน และตอนเหนือของประเทศอินเดีย เหมาะแก่การเพาะปลูกหญ้าฝรั่นได้ดี และมีคุณภาพ
ซึ่งทั้งสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปริมาณของผลผลิต และคุณภาพของหญ้าฝรั่นที่เพาะปลูกได้ในแต่ละพื้นที่
และสุดท้ายก็คือ “ความต้องการของตลาด”
ตามหลักอุปสงค์และอุปทาน หากสินค้านั้นขาดแคลน หรือผลิตได้ในปริมาณที่จำกัด ก็ย่อมทำให้ราคาสินค้านั้น ๆ มีราคาที่สูงและแพง
ซึ่งหญ้าฝรั่น ก็เป็นที่ต้องการของหลายคนและหลายประเทศทั่วโลก
โดยเฉพาะผู้คนในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่นิยมใช้หญ้าฝรั่นเป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารหรู, เครื่องยา, น้ำหอม, เครื่องสำอาง รวมถึงแต่งสี และกลิ่นของอาหาร
สรุปง่าย ๆ ก็คือ
- ระยะเวลาให้ผลผลิต ที่ 1 ปี ให้ผลผลิตแค่ 1 ครั้ง และขั้นตอนการเก็บเกี่ยวที่ต้องทำอย่างประณีต
- ปริมาณผลผลิต ที่ได้น้อย แต่ใช้พื้นที่เพาะปลูกมาก
- สภาพภูมิประเทศต้องเหมาะสม ซึ่งปลูกได้ไม่กี่ที่บนโลก
- ความต้องการที่มีมาก กับปริมาณการผลิตต่อปี ที่มีอยู่อย่างจำกัด
ทั้งหมดนี้ ก็ทำให้หญ้าฝรั่น กลายเป็นเครื่องเทศ ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก
ที่ขายกันกิโลกรัมละ หลักแสนบาท..
References
-https://th.wikipedia.org/wiki/หญ้าฝรั่น#cite_note-FOOTNOTEMalik2007-46
-https://www.britannica.com/story/why-is-saffron-so-expensive
-https://en.wikipedia.org/wiki/Pampore
-https://www.longtunman.com/13466
-https://indianationfirst.in/art-culture-jammu-kashmir/pampore-the-saffron-town-of-kashmir/
-https://www.businessinsider.com/why-real-saffron-is-so-expensive-2020-6
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.