กรณีศึกษา แบรนด์น้ำอัดลม บิ๊ก โคล่า บุกตลาด ปลากระป๋อง

กรณีศึกษา แบรนด์น้ำอัดลม บิ๊ก โคล่า บุกตลาด ปลากระป๋อง

3 ก.ค. 2022
กรณีศึกษา แบรนด์น้ำอัดลม บิ๊ก โคล่า บุกตลาด ปลากระป๋อง | BrandCase
ถ้าหากพูดถึงสินค้าของ “บิ๊ก โคล่า” ทุกคนจะนึกถึงสินค้าอะไรเป็นอันดับแรก ?
หลายคนจะต้องนึกถึง น้ำอัดลมฝาสีเหลือง ราคา 10 บาท
แต่รู้หรือไม่ว่าเมื่อไม่นานมานี้ บิ๊ก โคล่า ได้เปิดตัวสินค้าใหม่คือ “ปลากระป๋อง” แบรนด์ D’Gussto
แล้วเรื่องนี้ น่าสนใจอย่างไร ? BrandCase จะวิเคราะห์ให้ฟัง..
ต้องเล่าก่อนว่า บิ๊ก โคล่า เป็นแบรนด์สินค้าของ บริษัท อาเจ อาเซียน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “อาเจ (AJE)” ซึ่งเป็นบริษัทอาหารสัญชาติเปรู ที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยครั้งแรก เมื่อปี 2006
ซึ่งการเข้ามาครั้งนั้น อาเจ เจาะตลาดน้ำอัดลมไทย ด้วยการวางขายโดยเน้นราคาถูกกว่าเจ้าอื่น ๆ
โดยในปี 2020 อาเจ มีส่วนแบ่งยอดขายในตลาดน้ำอัดลมในไทย ราว 7.6% ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย
ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อาเจ ได้แตกไลน์สินค้าไปสู่ธุรกิจอาหาร นั่นก็คือ “ปลากระป๋อง”
คำถามคือ แล้วตลาดปลากระป๋อง น่าสนใจขนาดไหน ?
ในอดีตเมื่อปี 2017 จากรายงานมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องที่ได้จากปลา พบว่าไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งเป็นรองแค่ประเทศจีนเท่านั้น
โดยมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 12.3% ของปริมาณการส่งออกทั้งโลก
ส่วนปลาแม็กเคอเรลกระป๋อง และปลาซาร์ดีนกระป๋อง มีการส่งออกมากเป็นอันดับ 2 ของโลกเช่นกัน
โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกอยู่ที่ 10.1% และ 9.9% ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ไทยมีสัดส่วนระหว่างการส่งออก และการบริโภคในประเทศ อยู่ที่ 60:40
เรียกได้ว่านอกจากคนในประเทศจะนิยมบริโภคแล้ว ด้านการส่งออกก็โดดเด่นไม่แพ้กัน
และถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ตลาดปลากระป๋องในไทย จะมีแนวโน้มเติบโตเพียง 2-3% ในเชิงปริมาณและมูลค่า
แต่หากมองในมุมของตลาดโลกที่เน้นการส่งออกแล้ว ปลากระป๋อง ก็ยังถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันค่อนข้างสูงเลยทีเดียว
คำถามต่อมาคือ ทำไมการแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจอาหารของ อาเจ อาเซียน ในครั้งนี้ ถึงมุ่งไปที่ตลาดปลากระป๋อง เป็นสินค้าตัวแรก ?
เราวิเคราะห์ได้ 3 ข้อหลัก ๆ คือ
1. แตกไลน์สินค้าสู่ธุรกิจอื่น เพื่อขยายฐานลูกค้า
ปัจจุบันเทรนด์รักสุขภาพมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับภาษีความหวานในประเทศไทยที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาต้นทุนในการผลิตน้ำอัดลมเพิ่มขึ้นตาม
เรื่องนี้ทำให้บริษัทน้ำอัดลมหลายเจ้าต้องปรับเปลี่ยนสูตร และออกสินค้าใหม่ เช่น น้ำอัดลมหวานน้อย หรือน้ำอัดลมไร้น้ำตาล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
แต่เมื่อเทรนด์การบริโภคเปลี่ยนไป ทำให้บริษัทต่างก็หวังที่จะมีส่วนแบ่งในตลาดอื่น ๆ เพิ่มขึ้นด้วย
ซึ่งหนึ่งในทางเลือกที่ช่วยให้บริษัทมีรายได้ที่เติบโต ก็คงจะเป็นในเรื่องของการออกผลิตภัณฑ์ หรือสินค้ากลุ่มอื่น ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้า
และการแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจอาหาร ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
ส่วนทำไมต้องเป็นปลากระป๋อง ?
ก็น่าจะเพราะ เป็นอาหารที่มีราคาเข้าถึงได้ไม่ยาก พูดง่าย ๆ ว่าคนทั่วไปซื้อได้ไม่ยาก
อีกทั้งบริษัทไม่ได้มุ่งขายแค่ตลาดในประเทศไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังตั้งเป้าส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ภายในปี 2030
2. ใช้ปลาซาบะสร้างความแตกต่าง หวังกินส่วนแบ่งในตลาด
ปี 2019 ตลาดปลากระป๋องในไทย มีมูลค่าราว 9,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่พอให้เข้าไปหาส่วนแบ่ง
โดยปลากระป๋อง D’Gussto ที่เปิดตัวนี้ ทาง อาเจ ได้เลือกใช้วัตถุดิบคือ “ปลาซาบะ” ในซอสมะเขือเทศที่แตกต่างไปจากปลากระป๋องที่มีขายอยู่ในท้องตลาดตอนนี้ ที่เรามักจะเห็นว่าเป็น ปลาซาร์ดีน ปลาแม็กเคอเรล และปลาทูนา
ถึงแม้ว่าปลาซาบะจะจัดอยู่ในกลุ่มวงศ์ปลาอินทรีเหมือนกับปลาแม็กเคอเรล หรือจะเป็นปลาที่ให้ปริมาณไขมันสูงเหมือนกันกับปลาที่ท้องตลาดเลือกใช้
แต่ปลาซาบะนั้น ก็ถือว่าเป็นปลาที่มีภาพลักษณ์ความพรีเมียมขึ้นมา
นี่จึงเป็นเหตุผลให้ อาเจ เลือกใช้ปลาซาบะเพื่อสร้างความแตกต่าง และบริษัทก็หวังว่าจุดเด่นนี้จะสามารถชิงส่วนแบ่งในตลาดปลากระป๋องได้ถึง 10% ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีต่อจากนี้
3. ชูจุดเด่นเรื่องความคุ้มค่า ในระดับพรีเมียม
นอกจากนี้ ทางอาเจ ยังมีความมุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าที่มีความคุ้มค่า ในราคาประหยัดให้กับผู้บริโภค
เหมือนกับราคาน้ำอัดลมบิ๊ก โคล่า
ถึงแม้ว่าจะผ่านมา 16 ปีแล้วก็ตาม แต่ อาเจ ยังคงชูจุดเด่นเรื่องความคุ้มค่า และความมุ่งมั่นนี้ ยังคงขยายไปสู่สินค้าอื่น ๆ ที่บริษัทได้ผลิตออกมาวางจำหน่าย
โดยปลากระป๋อง D’Gussto ปลาซาบะในซอสมะเขือเทศนี้ ตั้งราคาขายอยู่ที่ กระป๋องละ 20 บาท
ซึ่งหลายคนอาจบอกว่า ดูแพง เมื่อเทียบกับราคาของเจ้าอื่น ๆ ที่ขายกระป๋องละ 17-18.50 บาท
แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ราคานี้คือการเพิ่มเงินอีกแค่ 2 บาท เพื่อแลกกับการได้รับประทานปลากระป๋องระดับพรีเมียม ซึ่ง D’Gussto วางตัวเองไว้เป็นแบบนั้น
ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า การแตกไลน์สินค้าใหม่ของบิ๊ก โคล่า กับการเข้าสู่ธุรกิจอาหารปลากระป๋องในครั้งนี้ จะสามารถกินส่วนแบ่งในตลาดได้ถึง 10% ตามที่บริษัทคาดหวังไว้ได้หรือไม่
แต่หากมองในมุมของผู้บริโภค
ประโยชน์ที่ได้รับจากเรื่องนี้ คงเป็นในเรื่องของตัวเลือกสินค้า ที่หลากหลายมากขึ้น..
References:
-https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Food-Beverage/Processed-Seafood/IO/io-frocessed-seafood-20-th
-https://www.prachachat.net/marketing/news-915050
-https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Food-Beverage/Beverage/IO/io-beverage-2022
-https://www.facebook.com/bigcolathailand/
-https://urbancreature.co/7-cannedfish/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.