รู้จักบริษัทไทย ที่เปลี่ยนขยะพลาสติก เป็นกระเป๋า ราคาหลักหมื่น

รู้จักบริษัทไทย ที่เปลี่ยนขยะพลาสติก เป็นกระเป๋า ราคาหลักหมื่น

25 มิ.ย. 2022
รู้จักบริษัทไทย ที่เปลี่ยนขยะพลาสติก เป็นกระเป๋า ราคาหลักหมื่น | BrandCase
ถ้าเราลองทำกระเป๋าจากขยะพลาสติก เช่น ใช้แก้วพลาสติก ฝาขวดน้ำ หรือขวดยาคูลท์
คุณคิดว่า คุณจะตั้งราคาขายอยู่ที่เท่าไร ?
บางคนอาจจะตอบว่าราคากระเป๋าใบนี้ ก็คงอยู่ที่หลักร้อยหรือหลักพันบาท
แต่รู้หรือไม่ว่า กระเป๋าคอลเลกชันใหม่ที่ทำจากขยะพลาสติกของแบรนด์ Pipatchara
มีราคาขายอยู่ที่ 21,900 บาท
แบรนด์ Pipatchara ทำอย่างไร ถึงสามารถเปลี่ยนขยะพลาสติกที่ดูไร้ราคา ให้มีมูลค่าหลักหมื่นบาทได้ ?
BrandCase จะเล่าให้ฟัง..
เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นกระเป๋าแบรนด์ Pipatchara แบรนด์ของคนไทย เมื่อครั้งที่เคยเป็นกระแส จากแอนน์ แฮททาเวย์ ดาราฮอลลีวูดระดับแถวหน้า
โดย แอนน์ แฮททาเวย์ ได้ถือกระเป๋าคราฟต์ที่ทำจากเชือกถักใบเล็กสีเงิน เดินในงานเทศกาลภาพยนตร์ South by Southwest ในปี 2022
แต่มาวันนี้แบรนด์ Pipatchara ได้กลับมาเป็นกระแสในกลุ่มคนไทยอีกครั้ง
จากการที่แบรนด์ออกกระเป๋าคอลเลกชันใหม่ ที่ชื่อว่า “Infinitude” ที่ทำมาจาก “ขยะพลาสติกกำพร้า”
ซึ่งขยะกำพร้า หมายถึง ขยะที่รถซาเล้งไม่รับซื้อ และไม่สามารถรีไซเคิลได้
โดยทางแบรนด์ได้นำขยะพลาสติก เช่น ขวดยาคูลท์ แก้วพลาสติก ฝาขวดสีสันต่าง ๆ มาหลอมรวมกันแล้วขึ้นรูปใหม่ โดยจะออกมาเป็นแผ่นพลาสติกในแบบที่แบรนด์ต้องการ
และที่น่าสนใจก็คือ ขยะทุกชิ้นที่ถูกหลอมออกมา ก็จะมีเอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำกัน
เมื่อมาร้อยรวมกันเป็นกระเป๋า ก็จะทำให้กระเป๋าแต่ละใบนั้นมีสีสัน และมีเสียงที่เกิดจากการกระทบกันของชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เป็นของตัวเอง
ซึ่งทางแบรนด์ก็ทำออกมาได้น่ารัก โดยชิ้นส่วนต่าง ๆ จะถูกนำมาเรียงร้อยต่อกันเหมือนกับชิ้นส่วน LEGO
และยังคงความเป็นเอกลักษณ์งานคราฟต์ของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
จนหลายคนให้ความสนใจ และกลายเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย ทันทีที่กระเป๋าคอลเลกชันนี้เปิดตัว..
แล้วแบรนด์ Pipatchara ใช้กลยุทธ์อะไรในการดำเนินธุรกิจ ?
- เน้นคุณภาพของสินค้า
ทางแบรนด์เลือกใช้วัสดุที่เป็นหนัง และอะไหล่ต่าง ๆ ของกระเป๋านำเข้ามาจากต่างประเทศ
จากนั้นก็นำมาผลิตเป็นกระเป๋าด้วยฝีมือคนไทย เพื่อให้ได้มาตรฐานและสามารถควบคุมคุณภาพได้
- ยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก
ถึงแม้ว่าแบรนด์จะมีแนวคิดการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน ด้วยการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและชุมชน
แต่ในทุกคอลเลกชัน แบรนด์ก็ได้นำฟีดแบ็กของลูกค้ามาพัฒนาเพื่อต่อยอดอยู่เสมอ
ซึ่งถ้าหากสังเกตดี ๆ จะพบว่า แบรนด์ Pipatchara มักไม่ออกสินค้าตามซีซัน
แต่เน้นให้ลูกค้าสามารถใช้กระเป๋าได้นาน ๆ ทว่าสินค้าที่ออกมาก็ยังคงอยู่ในเทรนด์
พูดง่าย ๆ ก็คือ ทำให้กระเป๋าเป็นแฟชั่นที่ไร้กาลเวลา (Timeless)
และตอนนี้เทรนด์สิ่งแวดล้อมก็กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก และคาดว่าน่าจะเป็นเทรนด์ที่อยู่ไปอีกนาน
ดังนั้นทางแบรนด์ Pipatchara จึงเลือกหยิบกลยุทธ์ การนำวัสดุขยะพลาสติกมา Upcycle หรือหลอมขึ้นรูปใหม่ เพื่อมาทำเป็นกระเป๋า ที่ทั้งสร้างสรรค์และตอบรับกับเทรนด์โลกนั่นเอง
- พยายามประชาสัมพันธ์แบรนด์
การทำการตลาดให้ดีจะช่วยส่งเสริมให้แบรนด์กลายเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ เพราะแบรนด์ Pipatchara เชื่อว่าหากมีเพียงแค่ความชอบ มันคงไม่พอต่อการสร้างธุรกิจให้อยู่รอด
โดยที่ผ่านมา แบรนด์ก็ได้นำสินค้าไปประกวดในเวทีระดับโลก จนได้รับเลือกให้เปิดตัวโชว์ในงาน Milan Fashion Week หลายต่อหลายครั้ง จนแบรนด์กลายเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ
ซึ่งการนำสินค้าไปประกวดหรือไปออกงานในเวทีระดับโลก ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ช่วยทำให้แบรนด์กลายเป็นที่รู้จัก และได้ขยายฐานลูกค้าให้เติบโตขึ้นนั่นเอง
- แบรนด์จะยั่งยืนได้ ถ้าสังคมและสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
การทำแบรนด์สักแบรนด์หนึ่ง ล้วนต้องเกี่ยวข้องกับคนนับร้อยไปจนถึงหลักล้านคน
ถ้าแบรนด์ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือช่วยโลกได้ แบรนด์ก็มีโอกาสที่จะยั่งยืนตามไปด้วย
และหากแบรนด์ทำออกมาได้ดี ก็จะเป็นกลยุทธ์การตลาดดี ๆ ที่ได้ใจคนไม่ยาก
ซึ่งกระเป๋าของ Pipatchara นั้นก็ใช้วัสดุที่ไม่เพียงแต่จะสร้างประโยชน์ แต่ยังมีกรรมวิธีการผลิตที่มีผลกระทบกับธรรมชาติและผู้คนน้อยที่สุด
ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวและกลยุทธ์ของแบรนด์ Pipatchara ที่ใช้ความสร้างสรรค์มาเปลี่ยนขยะพลาสติกที่ดูไร้ราคา ให้กลายเป็นกระเป๋าคราฟต์มูลค่าหลักหมื่นบาท
และไม่ได้โด่งดังแค่ในไทย แต่ไปไกลถึงฮอลลีวูด..
References:
- https://store.pipatchara.com/collections/new-in
- https://www.longtungirl.com/1703
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.