กรณีศึกษา Uniqlo จะเติบโตอย่างไรต่อ ในวันที่วิกฤติเริ่มคลี่คลาย

กรณีศึกษา Uniqlo จะเติบโตอย่างไรต่อ ในวันที่วิกฤติเริ่มคลี่คลาย

14 มิ.ย. 2022
กรณีศึกษา Uniqlo จะเติบโตอย่างไรต่อ ในวันที่วิกฤติเริ่มคลี่คลาย | BrandCase
2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด 19 กระทบหลายธุรกิจ
หนึ่งในนั้นคือ Uniqlo แบรนด์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย จากประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งมาในวันนี้ ประเทศไทยกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด 19
คำถามคือ แล้ว Uniqlo มีกลยุทธ์อย่างไร สำหรับการเติบโตหลังจากนี้ ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง
Uniqlo เปิดสาขาแรกในไทยที่เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อปี 2554
โดยไทยนับเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ Uniqlo มารุกตลาด ต่อจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย
จนเมื่อปลายปี 2564 Uniqlo ขยายสาขาในไทยไปแล้วกว่า 54 สาขา
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 11 ปี Uniqlo ถือว่าทำธุรกิจในประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จดีทีเดียว
อย่างไรก็ตาม หากสังเกตผลประกอบการของ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด
ในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า
ปี 2562 รายได้ 12,238 ล้านบาท กำไร 2,425 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 10,606 ล้านบาท กำไร 2,007 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 8,409 ล้านบาท กำไร 1,132 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า รายได้ปี 2564 ลดลงจากปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด 19 กว่า 31%
ขณะที่กำไรลดลงกว่า 53%
สาเหตุหลักนั้นมาจากหลายปัจจัย เช่น
- ลูกค้าหลายคนต้องทำงานที่บ้าน ทำให้ยอดขายเสื้อผ้าพนักงานออฟฟิศลดลง
- การปิดบริการห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นที่ตั้งสำคัญของสาขา Uniqlo ต่าง ๆ
คำถามสำคัญคือ Uniqlo จะมีแนวทางสร้างการเติบโต หลังวิกฤติโควิด 19 นี้อย่างไร ?
1. คงจุดขายสำคัญ “ไลฟ์แวร์” หรือ “Life Wear” ต่อไป
Life Wear เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทางแบรนด์นำเสนอแก่ผู้บริโภคมาโดยตลอด
ซึ่งคำคำนี้มาจากค่านิยมของชาวญี่ปุ่น ในเรื่องความเรียบง่าย คุณภาพ และความยืนยาว
โดย Uniqlo นำมาใช้ในการออกแบบเสื้อผ้าของแบรนด์ เพื่อให้เสื้อผ้านั้นมีความเรียบง่าย สวมใส่สบาย แถมยังทันยุคทันสมัย
ที่สำคัญคือ ราคาสินค้าต้องอยู่ในระดับที่คนส่วนใหญ่ สามารถจับต้องได้ และไม่แพงจนเกินไป
จึงไม่แปลกที่จะเห็น Uniqlo เป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่ลูกค้ามักมองหา เมื่อคิดจะซื้อเสื้อผ้าสบาย ๆ มาสวมใส่
สรุปง่าย ๆ ก็คือ Uniqlo ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่อยากผลิตเสื้อผ้าดี ๆ แต่ยังมองไปถึงเสื้อผ้าที่ถูกออกแบบ ให้ผู้สวมใส่ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดขายตรงนี้ คือไม้ตายสำคัญที่สร้างความสำเร็จให้ Uniqlo มาตลอด และทางแบรนด์ยืนยันว่าจะยังคงจุดขายตรงนี้ต่อไป
2. ขยายสาขาให้มากขึ้น กระจายความเสี่ยงออกนอกห้าง
Uniqlo ศึกษาพฤติกรรมของลูกค้า รวมไปถึงพื้นที่ศักยภาพ
สังเกตได้ว่า หากพื้นที่ไหนที่ลูกค้ามีกำลังซื้อสูง เราจะเห็น Uniqlo เข้าไปเปิดสาขาในทำเลนั้นทันที
เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าของ Uniqlo ได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังเป็นบทเรียนที่ดีของการเลือกทำเลที่จะเปิดสาขาใหม่ ๆ ที่ไม่ควรพึ่งพิงห้างสรรพสินค้ามากจนเกินไป
เราจึงเห็น Uniqlo พยายามกระจายการเปิดสาขานอกพื้นที่ห้างสรรพสินค้า ที่เรียกว่า Roadside Store มากขึ้น
ซึ่งเป็นรูปแบบของร้าน Stand Alone ที่อยู่ติดริมถนน ใกล้เขตชุมชน และมีที่จอดรถสะดวก
โดยร้านรูปแบบนี้ เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2561 มาจนปัจจุบันนี้ Uniqlo มีร้าน Roadside Store จำนวน 6 สาขา
ทำให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางไปช็อปปิงในศูนย์การค้า
3. พนักงานร้านค้า คือ แบรนด์แอมบาสเดอร์
หลายคนน่าจะทราบดีว่า Uniqlo มีการจ้างพรีเซนเตอร์ที่เป็นคนมีชื่อเสียง รวมทั้งตัวการ์ตูนชื่อดังต่าง ๆ มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์เสื้อผ้าของ Uniqlo
แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า Uniqlo ไม่มียูนิฟอร์มให้กับพนักงาน
ซึ่งถ้าเราสังเกตดี ๆ เวลาที่เราเดินเข้าไปในร้านของ Uniqlo มักจะเห็นพนักงานสวมใส่เสื้อผ้าของแบรนด์ Uniqlo
นั่นเป็นเพราะ Uniqlo เชื่อว่า พนักงานทุกคนเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Uniqlo
กลยุทธ์นี้ ยังช่วยให้พนักงานแนะนำเสื้อผ้าให้แก่ลูกค้า ผ่านประสบการณ์จริงของพนักงานได้อย่างดี อีกด้วย
ถึงตรงนี้ คงต้องติดตามต่อไปว่า กลยุทธ์เหล่านี้จะช่วยให้ Uniqlo กลับมาเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ว่า ปี 1988 ขณะที่ Uniqlo กำลังจะไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบริษัท ในตอนแรกบริษัทตั้งใจจะใช้ตัว c ไม่ใช่ตัว q
แต่เจ้าหน้าที่คนที่รับจดทะเบียนนั้นเข้าใจผิด และกลับใช้ตัว q แทนตัว c
นั่นจึงทำให้ชื่อที่บริษัทตั้งใจจะใช้นั้น ไม่ใช่ Uniclo แต่กลายมาเป็น Uniqlo มาจนถึงตอนนี้..
References:
-https://thepeople.co/uniqlo-4thanniversary/
-https://www.bangkokpost.com/business/2189855/uniqlo-remains-committed-to-expansion
-https://en.wikipedia.org/wiki/Uniqlo
-https://www.uniqlo.com/jp/en/contents/sustainability/doraemon/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.