ทำไม แบรนด์เครื่องสำอาง ชอบขายครีมเป็นซอง

ทำไม แบรนด์เครื่องสำอาง ชอบขายครีมเป็นซอง

10 มิ.ย. 2022
ทำไม แบรนด์เครื่องสำอาง ชอบขายครีมเป็นซอง | BrandCase
รู้หรือไม่ว่า บริษัทเจ้าของครีมซองอย่าง Smooto ทำรายได้มากถึง 670 ล้านบาท ในปี 2563
หรือแบรนด์ครีมซองอย่าง Royal Beauty ก็มีรายได้อยู่ที่ 195 ล้านบาท ในปีเดียวกัน
หากย้อนกลับไปเมื่อราว 5-6 ปีก่อน “ครีมซอง” น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนยังไม่ค่อยคุ้นเคย
แต่ในปัจจุบัน ครีมซองกลับเป็นสินค้า ที่แบรนด์เครื่องสำอางหลาย ๆ แบรนด์เลือกหันมาผลิต
และยังมีแบรนด์ไทยอีกหลายแบรนด์ ที่เลือกเปิดตัวสินค้าใหม่ ด้วยการจำหน่ายสินค้าแบบซอง ก่อนที่จะจำหน่ายในรูปแบบแพ็กเกจจิงใหญ่ ๆ
แล้วข้อดีของการจำหน่ายครีมแบบซองคืออะไร ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง..
1. ลูกค้าซื้อสินค้าของแบรนด์ง่ายขึ้น มีโอกาสเจาะลูกค้ากลุ่มใหม่
ราคาครีมซอง มักจะเริ่มต้นที่ประมาณซองละ 29 บาท ในขณะที่ครีมแบบขวด มักจะมีราคาเริ่มต้นที่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันบาท
ซึ่งส่วนหนึ่งที่ตั้งราคาได้ถูกลง อาจเพราะต้นทุนการผลิตสินค้าแบบซองที่น่าจะถูกกว่าแบบขวดพอสมควร
และแน่นอนว่าพอราคาอยู่ในระดับที่คนจับต้องได้มากขึ้น หลายแบรนด์ก็ยังได้กลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น กลุ่มนักเรียน วัยรุ่น คนทำงาน ก็มีโอกาสที่จะหยิบครีมซองมาลองใช้ได้ง่ายขึ้น
2. แบรนด์มีโอกาสขายสินค้าได้ในปริมาณมากขึ้น
ต่อยอดมาจากข้อที่ 1 พอแบรนด์ขายครีมแบบซอง หลาย ๆ แบรนด์จะเลือกตั้งราคาขายต่อกรัมที่ถูกลงด้วย
ซึ่งพอเอามาคำนวณดูแล้ว ผู้บริโภคที่ซื้อครีมแบบซองก็ยิ่งรู้สึกคุ้มค่า
ตัวอย่างเช่น เจลแต้มสิว Mizumi สูตรสีฟ้า
แบบซอง 4 กรัม ราคา 49 บาท = ราคา 12.3 บาทต่อกรัม
ส่วนแบบหลอด 9 กรัม ราคา 229 บาท = ราคา 25.4 บาทต่อกรัม
หรือ Cute Press เจลหน้าใสสูตรสีฟ้า
แบบซอง 20 กรัม ราคา 99 บาท = ราคา 4.95 บาทต่อกรัม
ส่วนแบบกระปุก 50 กรัม ราคา 399 บาท = ราคา 8 บาทต่อกรัม
พอเห็นราคาแบบซองที่ถูกลงมากขนาดนี้
ก็น่าจะพอคิดคร่าว ๆ ได้ว่า อัตรากำไรของการขายสินค้าแบบซองน่าจะน้อยกว่าขายแบบเป็นขวด
แต่ประเด็นคือ พอลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย Volume หรือปริมาณการขาย ก็น่าจะเพิ่มขึ้นได้มากด้วย
ทำให้แม้จะขายได้อัตรากำไรต่อซองน้อยลง แต่ถ้าขายได้มาก ๆ แบรนด์ก็มีโอกาสทำกำไรในภาพรวมสูงขึ้น ได้เหมือนกัน
3. แบรนด์ได้ทดสอบตลาดก่อนออกสินค้าขนาดจริง
หากผลิตครีมซอง ต้นทุนในการผลิตครีมต่อชิ้นนั้น ก็จะมีราคาที่ถูกกว่า เมื่อเทียบกับการผลิตสินค้าในรูปแบบขวด ซึ่งก็จะช่วยลดต้นทุนได้ ทั้งเรื่องของขนาดแพ็กเกจจิง และเรื่องของการขนส่ง
ดังนั้นหากอยากทดสอบว่า กลุ่มลูกค้าชอบสินค้าของเราหรือไม่ ?
การผลิตสินค้าที่มีขนาดเล็กออกไปทดสอบตลาด ก็จะทำให้บริษัทเสียเงินน้อยกว่าการปล่อยสินค้าชิ้นใหญ่ ๆ ออกไป
อีกทั้งการทำครีมซองขนาดเล็กนั้น ก็ทำให้หลายแบรนด์สามารถออกสินค้าที่มีหลากหลายสูตรได้อีกด้วย
และถ้าหากสูตรไหนขายดี ก็จะสามารถเก็บฟีดแบ็ก
และนำมาผลิตในรูปแบบขวดในอนาคต ได้อีกด้วย..
Reference:
-https://www.netsuite.com/portal/business-benchmark-brainyard/industries/articles/cfo-central/psychological-pricing.shtml/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.