กรณีศึกษา Wildtype สตาร์ตอัปหัวใส ผลิตเนื้อแซลมอน จากเซลล์ไข่ปลา

กรณีศึกษา Wildtype สตาร์ตอัปหัวใส ผลิตเนื้อแซลมอน จากเซลล์ไข่ปลา

3 มิ.ย. 2022
กรณีศึกษา Wildtype สตาร์ตอัปหัวใส ผลิตเนื้อแซลมอน จากเซลล์ไข่ปลา | BrandCase
เมื่อพูดถึง ปลาดิบ หลายคนคงนึกถึง “ปลาแซลมอน”
แล้วรู้หรือไม่ว่า เนื้อแซลมอนที่เรากิน บางครั้งอาจไม่ได้มาจากปลาแซลมอนตามธรรมชาติ
แต่มาจาก เซลล์ที่ถูกเพาะเลี้ยงในห้องแล็บ
และรู้หรือไม่ว่า มีสตาร์ตอัปสัญชาติอเมริกันที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ
สตาร์ตอัปรายนี้ มีชื่อว่า Wildtype
แล้วสตาร์ตอัปรายนี้ น่าสนใจอย่างไร ?
ทำไมถึงต้องใช้วิธีการเพาะเลี้ยงจากเซลล์ ? แล้วขั้นตอนในการเพาะเลี้ยงเซลล์เป็นอย่างไร
รสชาติที่ได้ จะต่างหรือเหมือนปลาแซลมอนจริง ๆ หรือไม่ ?
Wildtype ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 โดยคุณ Aryé Elfenbein และคุณ Justin Kolbeck
ทั้งสองเห็นว่า ความต้องการบริโภคปลาแซลมอนในสหรัฐอเมริกา เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
รวมถึงยังเห็นปัญหาการตกค้างของไมโครพลาสติก จากอวนที่ใช้ในการทำประมง
มากไปกว่านั้น การทำฟาร์มแซลมอน ยังก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จากการตกค้างของสารเคมี
และโลหะหนักในเนื้อปลา จากการใช้สารเร่งโต และยาปฏิชีวนะ
เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ก็เลยเกิดเป็นไอเดียในการทำธุรกิจ
ที่ต้องการจะสร้างทางเลือกใหม่ของอาหารทะเล ที่สะอาด ยั่งยืน และลดการทำลายสิ่งแวดล้อม
จึงเกิดเป็นบริษัทที่ชื่อว่า “Wildtype” ขึ้นมา
โดย Wildtype หยิบเอานวัตกรรมเพาะเลี้ยงเนื้อแซลมอนขึ้นมาจากเซลล์ มาสร้างเป็นธุรกิจ
ด้วยภูมิหลังของคุณ Elfenbein ที่มีความรู้ และประสบการณ์ในการสร้างโปรตีน จากการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิด
หรือที่เรามักได้ยินว่า “สเต็มเซลล์”
ซึ่งเซลล์เหล่านี้ สามารถแบ่งตัว เพิ่มจำนวน และเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ได้เกือบทุกชนิดในร่างกาย เช่น เซลล์กล้ามเนื้อ
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ Wildtype เลือกใช้องค์ความรู้ในด้านนี้ มาใช้เพาะเลี้ยงแซลมอนเทียม
คำถามสำคัญคือ ขั้นตอนการทำเนื้อแซลมอนเทียมนั้น เป็นอย่างไร ?
ในขั้นตอนการทำเนื้อแซลมอนเทียมนั้น
เริ่มจากการเก็บเซลล์จากไข่ปลาแซลมอนแปซิฟิก สายพันธุ์โคโฮ ที่พบได้ในมหาสมุทรแปซิฟิก และตามชายฝั่งอะแลสกา ไปจนถึงแคลิฟอร์เนียตอนกลาง หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ซิลเวอร์แซลมอน
จากนั้นนำเซลล์ที่ได้ มาเพาะเลี้ยงในถังที่ถูกสร้างให้มีภาวะเดียวกันกับปลาในธรรมชาติ รวมทั้งให้สารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
และใช้โครงสร้างจากพืชเป็นตัวยึดเซลล์ต่าง ๆ เพื่อสร้างรูปทรงให้เหมือนกับเนื้อแซลมอนจริง ๆ
ความน่าสนใจก็คือ กระบวนการที่ว่านี้ใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ในการเพาะเลี้ยง
ซึ่งจะต่างจากการเลี้ยงปลาแซลมอนจริง ที่อาจใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะได้บริโภค
นอกจากเวลาในการเลี้ยงที่รวดเร็วกว่าปลาแซลมอนจริง ๆ แล้ว
รสชาติ กลิ่น เนื้อสัมผัส และความมันของแซลมอนเทียม เมื่อเปรียบเทียบกับของจริงแล้ว ก็เรียกว่าค่อนข้างคล้ายกัน และสามารถทดแทนกันได้ดีเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้ Wildtype จะประสบผลสำเร็จในการเพาะเลี้ยงแซลมอนเทียม จากเซลล์ไข่ปลา
แต่ยังมีปัญหาใหญ่ ที่ท้าทายพวกเขาอยู่..
ปัญหาที่ว่าคือ ปัจจุบันการขายอาหารที่ได้จากเซลล์เพาะเลี้ยง ยังไม่ถูกรับรองด้วยกฎหมายในสหรัฐอเมริกา
รวมถึงองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ก็ยังคงหาวิธีควบคุมการผลิตอาหารในลักษณะนี้อยู่
อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตในตอนนี้ ที่ยังคงสูงอยู่
อย่างไรก็ตาม Wildtype ก็เพิ่งระดมทุนรอบ Series B ได้ราว 3,400 ล้านบาท
ซึ่งการระดมทุนในครั้งนี้ มีทั้งสถาบันและนักลงทุนชื่อดังร่วมลงทุนด้วย
เช่น L Catterton ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ LVMH, บริษัท Bezos Expeditions ของคุณ Jeff Bezos, กองทุน FootPrint Coalition ของคุณ Robert Downey Jr. และนักแสดงชื่อดังอย่างคุณ Leonardo DiCaprio
ซึ่งเงินระดมทุนในครั้งนี้ ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งคือ เพื่อนำไปขยายระบบการผลิต และคิดค้นระบบการผลิตที่ช่วยลดต้นทุนลง
รวมถึงวิจัยและพัฒนา การเพาะเลี้ยงแซลมอนเทียมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อม สำหรับการเปิดตัว อย่างเป็นทางการในอนาคต
แต่มาถึงตอนนี้ Wildtype ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งสตาร์ตอัป ที่น่าจับตามอง
ทั้งในเรื่องของไอเดีย และเป้าหมายในการสร้างทางเลือกใหม่ ของแหล่งโปรตีนจากสัตว์ โดยไม่ต้องฆ่าสัตว์
ซึ่งตอนนี้ก็กำลังเป็นเทรนด์ที่หลายคนให้ความสำคัญ
และก็ไม่แน่ว่า อีกไม่นาน
เราอาจจะได้กินปลาแซลมอน ที่ไม่ได้มาจากปลาแซลมอนจริง ๆ กันมากขึ้น..
References
-https://www.businesswire.com/news/home/20220223005064/en/Wildtype-Sets-Course-to-Bring-Cultivated-Seafood-to-Market-with-100-Million-Series-B-Funding-Round
-https://www.youtube.com/watch?v=OWRwrQI3XOY
-https://edition.cnn.com/2022/04/07/business/cultivated-salmon-wildtype-climate-scn-hnk-spc-intl/index.html
-https://jewishinsider.com/2021/08/arye-elfenbein-wildtype-fish/
-https://shorturl.asia/Wvuyr
-https://www.wildtypefoods.com/our-salmon
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.