ร้านนายอินทร์ ทำอย่างไร ในวันที่คนเข้าร้านหนังสือน้อยลง

ร้านนายอินทร์ ทำอย่างไร ในวันที่คนเข้าร้านหนังสือน้อยลง

23 เม.ย. 2022
ร้านนายอินทร์ ทำอย่างไร ในวันที่คนเข้าร้านหนังสือน้อยลง | BrandCase
ถ้าถามว่าหนึ่งในธุรกิจที่ต้องเจอกับความท้าทายอย่างหนัก จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เชื่อว่าต้องมีธุรกิจร้านหนังสือรวมอยู่ด้วย..
เพราะทุกวันนี้คนเราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร บนโลกออนไลน์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จากการที่ทุกคนพกพาสมาร์ตโฟน ทำให้คนส่วนใหญ่หันหลังให้กับร้านหนังสือมากขึ้นเรื่อย ๆ
แล้วพอเป็นแบบนี้ ร้านหนังสือชื่อดังอย่าง “ร้านนายอินทร์” ปรับตัวอย่างไร ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง..
ร้านนายอินทร์ เป็นร้านค้าปลีกหนังสือของ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินการโดยบริษัทลูกที่มีชื่อว่า “อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์”
ร้านนายอินทร์ กำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2537
เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้แก่บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) รวมไปถึงสำนักพิมพ์อื่น ๆ อีกกว่า 500 แห่ง
โดยเปิดสาขาแรกที่ท่าพระจันทร์ หลังจากนั้นร้านหนังสือแห่งนี้ก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้น ขยายสาขามากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าไปเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง
จนทำให้ร้านนายอินทร์กลายมาเป็น ร้านหนังสือชื่อดังที่คนส่วนใหญ่นึกถึง เวลาที่ต้องการไปหาซื้อหนังสือมาอ่าน
แต่แล้วความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้คนจำนวนมาก สามารถเข้าถึงข้อมูลบนโลกออนไลน์ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านของหลายคนไปอย่างสิ้นเชิง
เพราะทุกวันนี้เวลาที่เราจะค้นหาข้อมูล ก็เพียงแค่เข้าอินเทอร์เน็ต เราก็อาจจะได้ข้อมูลที่เราต้องการทั้งหมด โดยที่ไม่จำเป็นต้องออกเดินทางไปร้านหนังสือให้เสียเวลา
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงไม่แปลกที่ทำให้คนมีแนวโน้มเข้าร้านหนังสือลดลงเรื่อย ๆ
ลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้าวันนี้เราลองไปถามบางคนว่า เข้าร้านหนังสือครั้งล่าสุดเมื่อไร หลายคนอาจจะตอบว่า “จำไม่ได้” เลยด้วยซ้ำ
เมื่อความจำเป็นในการเข้าร้านหนังสือน้อยลง จึงทำให้จำนวนสาขาของร้านหนังสือหลายแห่งค่อย ๆ ลดลง
ไม่เว้นแม้แต่ร้านหนังสือที่อยู่มานานเกือบ 3 ทศวรรษ อย่างร้านนายอินทร์ ที่จำนวนสาขาก็ค่อย ๆ ลดลงมาเรื่อย ๆ เช่นกัน
ปี 2561 จำนวนสาขา 145 ร้าน
ปี 2562 จำนวนสาขา 142 ร้าน
ปี 2563 จำนวนสาขา 139 ร้าน
ปี 2564 จำนวนสาขา 131 ร้าน
แล้วรายได้ของ บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด เป็นอย่างไร ?
ปี 2561 รายได้ 2,091 ล้านบาท ขาดทุน 28 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 1,040 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 769 ล้านบาท ขาดทุน 18 ล้านบาท
โดยผลประกอบการที่ขาดทุน ในปี 2563 ส่วนหนึ่งก็มาจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้ห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง ต้องปิดให้บริการในบางช่วงเวลา ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องกระทบกับร้านนายอินทร์ ที่สาขาหลายแห่งนั้นอยู่ในห้างสรรพสินค้า
ดังนั้นแปลว่า อมรินทร์ต้องเจอกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้ต้องปิดหน้าร้าน อีกทั้งพฤติกรรมการอ่านของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ซึ่งก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่า ในอนาคตผู้บริโภคจะกลับมาเข้าร้านหนังสือกันมากมายเหมือนในอดีตอีกครั้งหรือไม่
ร้านนายอินทร์ ที่เจอกับความท้าทายดังกล่าวมาหลายปีแล้ว ทางบริษัทก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามที่จะปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ท่ามกลางความท้าทายนี้
ร้านนายอินทร์จึงได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชัน ที่มีชื่อว่า “Naiin Application” ตั้งแต่ไตรมาส 4 ในปี 2564
ภายใต้แนวคิดร้านหนังสือในมือคุณ ที่สามารถช่วยให้ลูกค้าสั่งซื้อหนังสือ รวมไปถึงอ่านหนังสือที่มีลักษณะเป็น E-book ได้ครบจบในที่เดียว
ซึ่งในแอปพลิเคชันนั้น ก็จะมีหนังสือหลากหลายประเภท ทั้งนิตยสาร นิยายไทย นิยายแปล การ์ตูน และมีการระบุประเภทของหนังสือมาใหม่ หนังสือขายดี โดยที่ลูกค้ายังสามารถเลือกดูตามหมวดที่สนใจ
ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักอ่านในยุคนี้ และยังช่วยให้นักอ่านเข้าถึงหนังสือได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
ซึ่งทางอมรินทร์ก็หวังว่ากลยุทธ์นี้ จะช่วยขยายฐานลูกค้าใหม่ไปในตัว โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆ ที่นิยมใช้เวลาบนโลกออนไลน์ หรือชอบการค้นหาข้อมูลมากกว่าการเดินทางไปที่ร้านหนังสือ
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า การเดินเกมในครั้งนี้ของร้านนายอินทร์จะช่วยให้ธุรกิจร้านค้าปลีกหนังสือในเครือของอมรินทร์ กลับมาเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน..
References:
-https://www.naiin.com/about-us
-http://www.thaismescenter.com/ร้านหนังสือ-นายอินทร์-ยังมีสาขาแฟรนไชส์-แต่ชะลอขายแฟรนไชส์/
-แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2561-2563, บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
-แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2564, บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
-https://www.set.or.th/set/pdfnews.do?newsId=15973606014041&sequence=2020094283
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.