กรณีศึกษา กลยุทธ์ของ “ไทยออยล์” เพื่อก้าวสู่การเป็น องค์กร 100 ปี

กรณีศึกษา กลยุทธ์ของ “ไทยออยล์” เพื่อก้าวสู่การเป็น องค์กร 100 ปี

18 เม.ย. 2022
กรณีศึกษา กลยุทธ์ของ “ไทยออยล์” เพื่อก้าวสู่การเป็น องค์กร 100 ปี | BrandCase
เทรนด์พลังงานสะอาดและการรักษาสิ่งแวดล้อมที่กำลังมาแรง
ทำให้บริษัทพลังงานทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ทั้งในและต่างประเทศ ต่างต้องปรับตัวกันขนานใหญ่
ซึ่งเรื่องนี้ก็รวมไปถึง “ไทยออยล์” บริษัทพลังงานชั้นนำของไทยที่ดำเนินธุรกิจ มากว่า 60 ปี
แล้วไทยออยล์ มีกลยุทธ์อย่างไร เพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กร 100 ปี ภายใต้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต
BrandCase จะสรุปให้ฟัง
ไทยออยล์ก่อตั้งขึ้นในปี 2504 เพื่อทำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
โดยไทยออยล์ถือเป็นโรงกลั่นน้ำมันเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย
จากโรงกลั่นเล็ก ๆ เมื่อ 6 ทศวรรษที่แล้ว
ไทยออยล์ก้าวจากการเป็นโรงกลั่นขนาดที่มีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบเพียง 35,000 บาร์เรลต่อวัน มาเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่มีกำลังการกลั่นสูงถึง 275,000 บาร์เรลต่อวัน
ซึ่งถือเป็นโรงกลั่นที่มีความสามารถในการผลิตหลากหลายผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
โดยในปี 2564 ไทยออยล์ มีสัดส่วนในการผลิตปริมาณน้ำมันปิโตรเลียม คิดเป็นสัดส่วน 28% ของปริมาณที่ผลิตได้ในประเทศ
มากที่สุดในบรรดาโรงกลั่นทุกแห่งในประเทศไทย ที่มีอยู่จำนวน 6 แห่ง
อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมา บริษัทพลังงานหลายแห่งได้เผชิญกับความท้าทายในเรื่องของกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions)
พอเรื่องเป็นแบบนี้ เทรนด์ในเรื่องของการใช้พลังงานสะอาด การตื่นตัวเรื่องการใช้รถไฟฟ้าจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้ความต้องการใช้พลังงานฟอสซิลมีแนวโน้มที่จะลดลงเร็วยิ่งขึ้น
ยังไม่รวมความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน
เช่น โรคระบาด จนส่งผลกระทบต่อทั้งอุปสงค์และอุปทานของธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ปัจจัยต่าง ๆ ที่ว่ามานั้น ทำให้ไทยออยล์มองว่า
อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทในระยะยาว เนื่องจากรายได้หลักของบริษัทนั้นมาจากธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี
ดังนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไทยออยล์ได้พยายามที่จะกระจายพอร์ตการลงทุน และแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ เพื่อให้บริษัทเตรียมพร้อมรับกับความท้าทายของอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต
ดังนั้น ไทยออยล์ จึงได้นำ 2 กลยุทธ์ การกระจายรายได้เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจของบริษัท คือ
1. เข้าไปลงทุนในธุรกิจที่มีความมั่นคงด้านรายได้
ไทยออยล์มีการเข้าไปลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า และธุรกิจพลังงานทดแทน เพื่อสนับสนุนความมั่นคงในด้านรายได้ให้แก่กลุ่มบริษัท
ตัวอย่างบริษัทที่ทำธุรกิจไฟฟ้า ที่กลุ่มไทยออยล์เข้าไปลงทุน เช่น
- ถือหุ้น 20.8% ในบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC บริษัทที่ทำธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้า ของกลุ่ม ปตท.
- ถือหุ้น 100% ในบริษัท ท็อป เอสพีพี จำกัด หรือ TOP SPP บริษัทที่ทำธุรกิจผลิตและจำหน่าย ไฟฟ้าและไอน้ำ
- ถือหุ้น 12.4% ในบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE บริษัทผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เอทานอล
2. การแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ (New S-curve)
กลุ่มไทยออยล์มีกลยุทธ์การลงทุนผ่าน Corporate Venture Capital (CVC) และธุรกิจใหม่ (Step Out Business) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่พอร์ตการลงทุนของกลุ่มบริษัท
ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปลงทุนใน
- เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มสมรรถนะด้านการผลิต ต่อยอดเป็นสินค้าและบริการให้กับอุตสาหกรรมอื่นในอนาคต
- เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
- เทคโนโลยีด้านการเดินทาง การขนส่ง (Mobility) และพลังงานรูปแบบใหม่
ตัวอย่างเช่น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัท ท็อป เวนเจอร์ส จำกัด
ซึ่งเป็นบริษัทลูกของไทยออยล์ ที่ลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ มีการเข้าไปลงทุนธุรกิจใหม่ด้านเฮลท์แคร์ ที่ผลิตนวัตกรรมแผ่นแปะเข็มระดับไมโครชนิดละลายได้
ขณะที่อีกหนึ่งโครงการขนาดใหญ่ ที่จะช่วยผลักดันการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่กลุ่มไทยออยล์
นั่นก็คือ โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 138,000 ล้านบาท
ซึ่งเมื่อดำเนินการเสร็จ โครงการนี้จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ให้สามารถผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
และยังช่วยเพิ่มกำลังการกลั่นของไทยออยล์ จาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน
ทำให้ไทยออยล์จะกลายมาเป็นหนึ่งในโรงกลั่นที่ยิ่งใหญ่ และทันสมัยมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
จะเห็นว่า ผู้บริหารของไทยออยล์ ตั้งเป้าที่จะขับเคลื่อนบริษัทให้เป็นองค์กร 100 ปี ด้วยการสร้างความเจริญเติบโตทางธุรกิจ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ว่ามานี้
แม้ว่าจะมีความท้าทายต่าง ๆ รออยู่ข้างหน้า
แต่ต้องถือว่า ไทยออยล์ ก็ดูมีความพร้อมในการปรับตัวอย่างเต็มที่ และน่าจะช่วยให้บริษัทเติบโตต่อไปในอนาคตได้ ไม่มากก็น้อย..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นตัวนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
References:
-แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2564, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
-https://www.newsdirectory3.com/thaioil-restructures-through-3-strategies-to-invest-in-new-business-new-s-curve/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.