ทำไม “บอนไซ” บางต้นถึงมีราคา หลายสิบล้านบาท

ทำไม “บอนไซ” บางต้นถึงมีราคา หลายสิบล้านบาท

29 มี.ค. 2022
ทำไม “บอนไซ” บางต้นถึงมีราคา หลายสิบล้านบาท | BrandCase
43.7 ล้านบาท คือราคาของบอนไซ “Old Pine Bonsai”
บอนไซสนขาวญี่ปุ่น อายุ 800 ปี ที่มีการซื้อขายในงาน International Bonsai Convention ครั้งที่ 11 ปี 2012 ซึ่งถูกจัดขึ้นที่เมืองทากามัตสึ ประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า “บอนไซ” มีคนให้ความสนใจ และมีมูลค่าในระดับที่ไม่ธรรมดา..
เพราะอะไรที่ทำให้บอนไซมีราคาสูงได้ถึงหลักสิบล้านบาท ?
BrandCase จะเล่าให้ฟัง
“บอนไซ” คำนี้มีที่มาจากภาษาญี่ปุ่น
โดยคำว่า “บอน” แปลว่า ชามขนาดเล็กหรือกระถาง และ “ไซ” ที่แปลว่า ต้นไม้
เมื่อนำมารวมกันจะมีความหมายว่า ต้นไม้ที่ปลูกในกระถาง หรือมีความหมายว่าสวนกระถางนั่นเอง
หรือพูดได้ว่า การทำบอนไซ
ก็คือการย่อส่วนต้นไม้ขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง และปลูกลงในกระถาง
จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของการทำบอนไซนั้นมาจากประเทศจีน และได้มีการกล่าวไว้ว่า บอนไซ มาจากคำว่า “Pen-Tsai” ตั้งแต่สมัยราชวงศ์จิ้น หรือราว ๆ ปี พ.ศ. 808-963
ที่ชาวจีนได้คิดค้นการปลูกต้นไม้และเลี้ยงให้เติบโตในภาชนะที่จำกัด
แต่กลับกลายเป็นว่า ประเทศญี่ปุ่น กลายมาเป็นผู้เผยแพร่และมีส่วนสำคัญ ในการสร้างชื่อเสียงให้กับการปลูกบอนไซ..
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อตอนสมัยปี พ.ศ. 1337-1728 ในช่วงนั้น เป็นยุคที่วัฒนธรรมของจีนเริ่มแพร่หลายเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งรวมถึงการรับวัฒนธรรมการปลูกบอนไซเข้ามา
ไม่นานการปลูกบอนไซก็เป็นที่นิยมมากขึ้นในญี่ปุ่น
จนสามารถจัดการประกวดไม้แคระประจำปีขึ้นที่กรุงเกียวโต ในช่วงปี พ.ศ. 2324-2331
เมื่อการเล่นบอนไซแพร่หลายและเป็นที่นิยมมากขึ้น จึงทำให้เกิดธุรกิจเกี่ยวกับบอนไซขึ้นมา รวมไปถึงมีการส่งออกบอนไซไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและฝั่งยุโรปด้วย
นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะบอนไซโอมิยะ ในปี พ.ศ. 2553
ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของโลก ที่จัดแสดงศิลปะบอนไซแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นโดยเฉพาะ
จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรนัก หากเมื่อนึกถึงบอนไซเราก็มักจะนึกถึงประเทศญี่ปุ่น
แล้วอะไรที่ทำให้บอนไซมีราคาแพง ?
โดยปกติแล้วราคาของบอนไซนั้นมักจะขึ้นอยู่กับ 3 องค์ประกอบหลัก นั่นก็คือ
1. ความสวยงาม
ว่ากันว่าเทคนิคการปลูกบอนไซนั้นมีมากถึง 100 แบบ ซึ่งมีชื่อเรียกและวิธีทำที่แตกต่างกันออกไป
และในการดัดไม้ของบอนไซนั้นจะต้องดูทั้ง รูปทรงของต้นหลัก ทิศทางการแตกกิ่ง ไปจนถึงองศาระหว่างช่อในแต่ละกิ่งก้าน ที่ต้องเห็นชั้นของกิ่งเหมือนต้นตามธรรมชาติ
ซึ่งส่วนใหญ่บอนไซที่เราเห็นจะเป็นในรูปแบบ ไม้ทรงลำต้นเดี่ยวไม่ตรง (Informal Upright) โดยลำต้นจะมีลักษณะโค้งไปมาคล้ายกับตัว S
หากต้นบอนไซที่ได้รางวัลชนะการประกวดด้านความสวยงามมา ก็จะยิ่งทำให้มันมีราคาที่มากขึ้นไปอีก
และถึงแม้ว่าการดัดแปลงความสวยงามของต้นไม้ จะเป็นไปตามจินตนาการของผู้เลี้ยง แต่ก็ล้วนอ้างอิงจากธรรมชาติของต้นไม้นั้น ๆ
เพราะการดัดต้นไม้ในการทำบอนไซคือการทำให้เหมือนธรรมชาติมากที่สุด
2. อายุ
ในสมัยก่อนมีการขุดตอของต้นไม้เก่าจากในป่า เพื่อมาทำการดัดแปลงลงในกระถางให้เกิดความสวยงาม
แต่เมื่อมีการขุดกันมากขึ้น ส่งผลให้พันธุ์ไม้บางสายพันธ์ุ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการสูญพันธ์ุได้ ถึงขั้นที่ประเทศญี่ปุ่นได้มีการออกกฎหมายห้ามขุดตอไม้ในป่า เพื่อมาทำบอนไซกันเลยทีเดียว
ปัจจุบันจึงนิยมหันมาเพาะเมล็ดกันแทน
ทำให้ต้นไม้ที่ขุดมาจากป่า และมีอายุมาก ถูกมองว่าเป็นของแรร์ไอเทม โดยเฉพาะบอนไซที่มีอายุหลายร้อยหลายพันปี จึงทำให้บางต้นมีราคาที่สูง ถึงหลักสิบล้านบาท
แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนเริ่มเพาะเมล็ดกันมากขึ้น
บางครั้ง ก็ทำให้ราคาของมันขึ้นอยู่กับความสวยงามเป็นหลัก ได้เช่นกัน
3. สายพันธุ์
ในประเทศไทย สายพันธ์ุที่นิยมก็คงหนีไม่พ้นไม้ใหญ่ อายุยืน เหมือนประเทศอื่น ๆ และสายพันธุ์ที่นิยมนำมาทำบอนไซก็อย่างเช่น ต้นโพ ต้นโมก หรือต้นมะขาม
แต่ก็มีบางส่วนที่นิยมนำไม้ญี่ปุ่นอย่าง สนดำ (Kuromatsu Bonsai) และสนจูนิเปอร์ (Shimpaku Bonsai) มาปลูกเป็นบอนไซด้วย
แต่เนื่องจากไม้ต่างถิ่นเมื่อนำมาทำบอนไซ จะต้องมีการดูแลที่สม่ำเสมอ และใส่ใจมากเป็นพิเศษ
เพราะบางสายพันธุ์ไม่ค่อยทนต่อสภาพอากาศในประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้ต้นไม้ที่นำมาทำบอนไซนั้นตายได้ง่าย
เรื่องนี้จึงส่งผลให้ราคาของบอนไซที่ใช้ต้นไม้จากต่างประเทศ มักมีราคาที่สูงกว่าต้นไม้ภายในประเทศนั่นเอง
แต่ไม่ใช่ว่าต้นไม้ในไทยเมื่อนำมาทำบอนไซจะราคาไม่ดี เพราะอย่างบอนไซที่ทำจากต้นโพ ก็สามารถขายได้มากถึงหลักแสนบาท กันเลยทีเดียว
แต่สุดท้ายแล้วเงินก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะสามารถซื้อบอนไซได้
เพราะผู้ที่นิยมเลี้ยงบอนไซส่วนใหญ่แล้ว มองบอนไซเป็นเหมือน “ศิลปะที่มีชีวิต”
เพราะกว่าจะสร้างบอนไซที่สวยงามได้หนึ่งต้น
ล้วนมาจากเรื่องราวและการดูแลเอาใจใส่ของผู้เลี้ยง ถ้าหากขายให้กับคนที่เลี้ยงบอนไซไม่เป็น หรือไม่ใส่ใจกับมันมากพอ ก็ดูจะเป็นสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้สร้างอยู่ไม่น้อย
ในบางต้นที่ผู้เลี้ยงมีความผูกพันมาก ๆ ก็ไม่สามารถที่จะตัดใจขายให้กับผู้อื่นได้อีกเช่นกัน
หรือในประเทศญี่ปุ่น บอนไซบางต้นก็เป็นมรดกที่ตกทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น เพราะฉะนั้นแล้วบางครั้ง การมีเงินอย่างเดียว ก็ไม่ได้ทำให้เราสามารถครอบครองบอนไซและเรื่องราวของมันได้
อย่างเช่น แบงค์ วง CLASH นักร้องไทยที่มีชื่อเสียง ที่หันมาปลูกบอนไซเป็นงานอดิเรก ก็เคยเปิดเผยว่าการเลี้ยงบอนไซ เป็นเหมือนงานอดิเรก ที่ทำให้ได้ฝึกความอดทน มีจิตใจที่สงบมากขึ้น และค้นพบความสุขที่แท้จริงของชีวิต
จึงสรุปได้ว่าแท้จริงแล้ว บอนไซ นั้นเกิดมาจากคนมีความรักที่จะทำงานศิลปะที่มีชีวิตนี้ให้สวยงาม
การจำลองสวนในกระถางนี้ เป็นเหมือนกับการเฝ้าดูความสวยงามที่เป็นธรรมชาติของมัน
และเมื่อมีผู้คนที่เห็นและรับรู้ได้ถึงเรื่องราวของมัน เมื่อนั้นมันจึงมีค่าขึ้นมา
และบางต้น บางกระถาง ก็มีมูลค่าได้มหาศาล เลยทีเดียว..
References
-https://www.japan-bonsai.jp/en/aboutbonsai/jukei/
-https://www.jnto.or.th/newsletter/bonsai-living-art/
-https://www.facebook.com/Bonsaihuntergallery
-https://www.bonsaiempire.com/blog/expensive-bonsai
-https://theplanthunter.com.au/culture/bonsai-and-the-cult-of-cute/
-หนังสือบ้านและสวน เรื่อง บอนไซ
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.