ธุรกิจแบบไหน ไม่เหมาะกับ โมเดล Subscription

ธุรกิจแบบไหน ไม่เหมาะกับ โมเดล Subscription

24 มี.ค. 2022
ธุรกิจแบบไหน ไม่เหมาะกับ โมเดล Subscription | BrandCase
ถ้าพูดถึงการทำธุรกิจในยุคสมัยนี้
“Subscription Model” น่าจะเป็นโมเดลธุรกิจยอดนิยม ที่หลาย ๆ ธุรกิจนำมาปรับใช้กัน
ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้โมเดลนี้แล้วเวิร์ก ก็อย่างเช่น Netflix
ซึ่งข้อสังเกตของธุรกิจประเภทนี้ คือ มีต้นทุนแปรผันตามการใช้งาน ที่ไม่ได้มากจนมีนัยสำคัญ
ยกตัวอย่างเช่น Netflix แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงออนไลน์
ต้นทุนส่วนใหญ่ของ Netflix คือต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) หรือต้นทุนที่ไม่ว่าการให้บริการจะมากหรือน้อย บริษัทก็ต้องจ่ายเท่าเดิม
ตัวอย่างต้นทุนคงที่ของ Netflix เช่น ค่าพัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาให้บริการ
หรือค่าพัฒนาคอนเทนต์ Original ซึ่งมองได้ว่าเป็นต้นทุนคงที่ในระยะเวลานั้น ๆ เพราะไม่ว่าคนจะเข้ามาดูมากหรือน้อย บริษัทก็ยังต้องจ่ายเงินส่วนนี้อยู่ดี
ในขณะที่ต้นทุนแปรผันตามการให้บริการ (Variable Cost) นั้นอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมากจนมีนัยสำคัญ
โดยต้นทุนแปรผันตามการให้บริการของ Netflix เช่น ค่าแทรฟฟิก ค่าเซิร์ฟเวอร์ต่าง ๆ ที่ต้องจ่ายเพิ่ม เมื่อมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มมากขึ้น
พูดง่าย ๆ ว่า ไม่ว่าจะมีสมาชิก 100 คน หรือ 1,000 คน ที่เข้ามาชมภาพยนตร์หรือซีรีส์
Netflix จะยังมีโครงสร้างต้นทุนหลักคล้ายเดิม
Netflix จึงไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม จากจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น และสามารถเก็บค่าบริการได้ในราคาเหมาจ่าย ไม่ต้องยุ่งยากเก็บค่าบริการหลายเรตราคา
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า Subscription Model จะตอบโจทย์กับทุกธุรกิจ
แล้วธุรกิจแบบไหน ที่ไม่เหมาะกับ โมเดล Subscription ?
คำตอบก็คือ ธุรกิจที่มี “ต้นทุนแปรผันตามการให้บริการสูง”
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจขนส่งพัสดุ
ที่ยิ่งเราส่งของไปปลายทางไกล ๆ ค่าบริการก็จะยิ่งแพง
เพราะยิ่งรถขนส่งของบริษัทต้องวิ่งไปไกล ก็ยิ่งมีต้นทุนค่าน้ำมันที่แปรผันตามระยะทางที่เพิ่มขึ้น
ซึ่งต้นทุนค่าน้ำมัน ถือเป็นต้นทุนที่สำคัญของธุรกิจขนส่งพัสดุ
หรือบริการฟูดดิลิเวอรี ที่แม้หลัง ๆ จะมีบริการ Subscription สำหรับให้ได้ส่วนลดหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการเก็บค่าบริการ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะทางที่ให้บริการ
เพราะระยะทางในการจัดส่งที่ไกลขึ้น
จะทำให้ไรเดอร์ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก ทั้งค่าน้ำมันและเวลาที่ต้องเสีย
ค่าตอบแทนที่บริษัทจะเก็บจากผู้ใช้งาน เพื่อไปจัดสรรให้ไรเดอร์ก็ต้องเพิ่มตาม
สรุปคือ จะดูว่าธุรกิจแบบไหน เหมาะ หรือ ไม่เหมาะกับโมเดล Subscription
“โครงสร้างต้นทุน” ถือเป็นหนึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญ
เพราะถ้าธุรกิจไหน ที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นมากตามการให้บริการ
ธุรกิจนั้นก็อาจไม่เหมาะนัก
กับโมเดลเก็บค่าสมาชิกแบบเหมาจ่าย หรือ Subscription Model..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.