ทำไม ราเม็น แพงกว่า ก๋วยเตี๋ยว ทั้งที่เมนูคล้ายกัน

ทำไม ราเม็น แพงกว่า ก๋วยเตี๋ยว ทั้งที่เมนูคล้ายกัน

17 มี.ค. 2022
ทำไม ราเม็น แพงกว่า ก๋วยเตี๋ยว ทั้งที่เมนูคล้ายกัน | BrandCase
หลายคนชอบตั้งคำถามว่า ทำไมราเม็นดัง ๆ บางร้าน ต้องมีราคาที่สูงถึงชามละ 200-300 บาท ทั้งที่ก็เป็นเมนูเส้น มีซุป มีหมู ไม่น่าจะต่างจากเมนูก๋วยเตี๋ยวชามละ 40-50 บาท ที่หลายคนกินกันบ่อย ๆ
ถ้าเมื่อก่อน คนอาจจะคิดว่าที่ราเม็นมีราคาแพง
เพราะราเม็นเป็นอาหารญี่ปุ่น ต้องใช้วัตถุดิบนำเข้า สูตรมีความเป็นต้นตำรับ มีขั้นตอนการทำน้ำซุปที่ซับซ้อน หาทานได้ยาก อีกทั้งต้องอาศัยเชฟที่มากประสบการณ์จากญี่ปุ่น
แต่เอาจริง ๆ ต้นทุนวัตถุดิบของร้านราเม็นส่วนใหญ่ก็หาจากแหล่งวัตถุดิบในประเทศไทย และเชฟส่วนมากก็ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่น
รวมไปถึงเรื่องกรรมวิธีที่ปรุงอาหาร ก็อาจจะไม่ได้ซับซ้อนกว่าการทำก๋วยเตี๋ยวเท่าไรนัก
เหตุผลสำคัญของเรื่องนี้ ในเหตุผลแรกก็คือ “ค่าเช่าสถานที่”
ยกตัวอย่างถ้าเราเช่าที่ในห้าง 100 ตารางเมตร ด้วยค่าเช่าตารางเมตรละ 2,000 บาท ก็จะทำให้เรามีภาระค่าเช่าสูงถึง 200,000 บาทต่อเดือน..
ถ้าเราขายได้วันละ 200 ชาม หรือเดือนละ 6,000 ชาม แปลว่าต้นทุนค่าเช่าที่ก็คิดเป็น 33.3 บาทต่อชามแล้ว.. ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะขายก๋วยเตี๋ยวในห้างราคา 50 บาท
ดังนั้นราเม็นร้านดัง ๆ ที่ตั้งราคาสูง มักจะตั้งอยู่ตามทำเลทองที่มีค่าเช่าพื้นที่สูง ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า หรือคอมมิวนิตีมอลล์ชื่อดัง
ยกตัวอย่าง เชนราเม็นในห้าง เช่น Ippudo Ramen, Chabuton Ramen ซึ่งเชนร้านราเม็นเหล่านี้ ก็จะมีราคาต่อชามอยู่ที่ประมาณ 200 บาท ซึ่งเป็นราคาต่อมื้อที่เป็นปกติของการรับประทานอาหารในห้าง
และราเม็นที่เป็นเจ้าดัง แต่ไม่ได้ขึ้นห้าง
ก็มักจะไปตั้งอยู่ที่ทองหล่อ พร้อมพงษ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นย่านที่มีค่าเช่าพื้นที่ ที่มีราคาสูง
ต่างจากร้านก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ก๋วยเตี๋ยวเรือ ที่มักจะเห็นได้ตามสถานที่ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นตึกแถว หรือริมถนน
สาเหตุที่ราเม็นจำเป็นต้องตั้งอยู่ในทำเลเหล่านี้
เพราะกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบการทานอาหารญี่ปุ่น ส่วนใหญ่มักจะมีไลฟ์สไตล์ที่ชอบกิน ชอบเที่ยว และมักจะเข้าห้าง หรืออาศัยอยู่ใกล้กับคอมมิวนิตีนั้นเป็นประจำอยู่แล้ว
นอกจากนั้นพออยู่ในทำเลดี ๆ การตกแต่งร้าน การออกแบบบริการให้ออกมาดูดี ก็ย่อมต้องทุ่มทุนสูงขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ร้านราเม็นเหล่านี้ จะมีต้นทุนที่สูงจากการจ่ายค่าเช่าพื้นที่ การตกแต่งร้าน และการให้บริการ ซึ่งร้านขายก๋วยเตี๋ยวส่วนใหญ่จะไม่มี
ถ้าเราลงทุนตกแต่ง ร้านราเมน 2 ล้านบาท ตัดค่าเสื่อม 3 ปี ขายได้วัน 200 ชาม เราจะมีต้นทุนค่าตกแต่งอยู่ในราเมน อีกชามละ 10 บาท.. แค่ค่าเช่ากับค่าตกแต่งก็รวมกันเป็น 43 บาทต่อชามแล้ว..
นอกจากนั้นยังอาจมีการออกแบบเมนูให้ดูมีความพรีเมียมขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น เส้นที่เหนียวนุ่มแตกต่าง รสชาติน้ำซุปที่เข้มข้น หมูชาชูที่นุ่มละมุนลิ้น ปริมาณราเม็นที่ให้เยอะแบบจุใจ การลงทุนตกแต่งร้านและบริการที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นญี่ปุ่น
สุดท้าย เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนที่สูงทั้งหมดที่พูดมา
ราคาที่ขายต่อชาม ก็จำเป็นต้องตั้งให้สูง ๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ร้านจะขายราเม็นราคาแพง ชามละหลายร้อยบาท
แต่ด้วยร้านอยู่ในย่านทำเลทอง การบริการและบรรยากาศในร้านที่ดูดี แบรนด์ก็จะมีคุณค่ามากพอ ที่จะทำให้ลูกค้า พร้อมที่จะจ่ายแพงได้อยู่ดี
ซึ่งต้องบอกว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่ราเม็นอย่างเดียว
เมนูก๋วยเตี๋ยวของไทยที่ขายกันทั่วไปชามละ 40-50 บาท
พอไปอยู่ในห้าง ก็สามารถตั้งราคาสูงได้เหมือนกัน
เหมือนอย่างที่ ทองสมิทธ์ ขายก๋วยเตี๋ยวชามละ 200-500 บาทได้
อย่างไรก็ตามการทำก๋วยเตี๋ยวขึ้นห้าง ก็อาจจะยากกว่าราเม็น เพราะว่าลูกค้ามีตัวเลือกในการกินก๋วยเตี๋ยวราคาถูกและอร่อยนอกห้างอยู่เต็มไปหมด ถ้าก๋วยเตี๋ยวในห้างไม่ได้อร่อยหรือบริการดีจริง ลูกค้าก็จะคิดว่าแพงเกินไป ซึ่งต่างจากราเม็นที่ไม่ได้มีขายตามนอกห้างเท่าไรนัก
สรุปแล้ว เคล็ดลับสำคัญของเรื่องนี้ คือจะสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไร
ให้ราเม็น หรือก๋วยเตี๋ยวมีคุณค่า
และมีกลุ่มลูกค้าที่ยอมจ่าย ไม่ว่าจะแพงแค่ไหน..
หากเพิ่มกระบวนการทำที่พิถีพิถัน ใส่ใจรายละเอียดตั้งแต่การตกแต่งร้านให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้า ไปจนถึงลงลึกเรื่องรสชาติอาหาร เมนูก๋วยเตี๋ยวของไทยก็ตั้งราคาสูงแบบราเม็นได้ เช่นกัน..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.