วิธีทดสอบ ความรู้จริงของพนักงาน สไตล์ Apple

วิธีทดสอบ ความรู้จริงของพนักงาน สไตล์ Apple

22 ม.ค. 2022
วิธีทดสอบ ความรู้จริงของพนักงาน สไตล์ Apple | THE BRIEFCASE
Apple บริษัทที่มีมูลค่าแตะ 100 ล้านล้านบาท เป็นบริษัทแรกในโลก
และเป็นบริษัทที่เป็นแหล่งรวมหัวกะทิ จากทุกซอกทุกมุมโลกมาอยู่ด้วยกัน
แล้ว Apple มีวิธีทดสอบพนักงานของตัวเองอย่างไร ว่าพวกเขากำลังเข้าใจงานที่ตัวเองกำลังทำจริง ๆ
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
มาเริ่มกันที่คนแรกกับ สตีฟ จอบส์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และอดีต CEO ของ Apple
ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่ สตีฟ จอบส์ ใช้ก็คือ การดูตอนประชุมภายในบริษัท
โดยเขาเคยกล่าวว่า เขาเกลียดคนที่เข้ามานำเสนองาน แล้วพกสไลด์การประชุมมาด้วย
แทนที่จะเป็นการคิด และพูดสิ่งที่ตัวเองเข้าใจออกมาจากหัว
และสตีฟ จอบส์ ยังบอกอีกว่าคนที่รู้และเข้าใจสิ่งที่ตัวเองกำลังพูดจริง ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้สไลด์ในการนำเสนอ
แล้วทำไม สตีฟ จอบส์ ถึงชอบใช้การพูดคุยแบบตรง ๆ มากกว่า ?
นั่นก็เป็นเพราะว่า เขาต้องการให้การประชุมเป็นแบบที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้
โดยเขาอยากให้ทุกคนช่วยกันระดมความคิดอย่างละเอียดรอบคอบ จนกว่าจะได้สิ่งที่ดีที่สุดออกมา
แต่พอเป็นการประชุมแบบเปิดสไลด์มาพรีเซนต์แล้ว อาจทำให้ผู้ร่วมเข้าประชุมบางคนนั่งฟังอยู่เฉย ๆ แล้วไม่รู้ว่าเข้าใจสิ่งที่ผู้พูดต้องการเสนอหรือไม่
และสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเวลาผู้พูดใช้สไลด์ในการพรีเซนต์ก็คือ การเหลือบไปอ่านสไลด์บ่อย ๆ
ซึ่งก็อาจหมายความได้ว่า เขาเหล่านั้น ไม่ได้เตรียมตัวไว้จริง ๆ หรือไม่ได้เข้าใจเรื่องที่จะสื่อจริง ๆ จนต้องใช้สไลด์เพื่อจดจำสิ่งที่ต้องการจะพูด
และถ้าเราไปดูการนำเสนอของสตีฟ จอบส์ ก็จะเห็นว่า เขามักจะใช้สไลด์การนำเสนอเฉพาะกับงานใหญ่ ๆ ที่ต้องแสดงต่อหน้าสาธารณชน อย่างเช่น งานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Apple
และในสไลด์ของเขาก็จะเรียบง่ายมาก ๆ ไม่มีข้อมูลมากจนเกินไป ใส่เพียงแต่ประโยคที่จำเป็นเท่านั้น
เป็นข้อความที่สั้น กระชับ ส่วนเนื้อหาอื่น ๆ สตีฟ จอบส์ ก็จะเล่าอย่างละเอียดออกมาจากหัวของเขาเอง
ในขณะที่การประชุมภายในบริษัทเอง สตีฟ จอบส์ มักจะใช้การเดินพูดคุยกับคนอื่น ๆ หรือการใช้ไวต์บอร์ดเขียนถึงหัวข้อ หรือประเด็นต่าง ๆ ที่ต้องการจะมาพูดคุยกัน
เพราะการเขียน หรือจดอะไรสั้น ๆ ลงไปในไวต์บอร์ด มันสื่อถึงบริบท “มาพูดคุย ระดมสมองกันเถอะ”
และทำให้คนที่จะแสดงไอเดียอะไรออกมา ต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจที่ตัวเองมี มาคิดให้รอบคอบและถี่ถ้วนจริง ๆ เพราะเราไม่สามารถเตรียมตัวล่วงหน้าได้เหมือนกับการนั่งทำสไลด์นั่นเอง
ภายหลังจากที่ สตีฟ จอบส์ ได้จากโลกนี้ไปแล้ว ทิม คุก ก็ได้เข้ามาสานต่อตำแหน่ง CEO ของ Apple
ซึ่งเขาก็มีวิธีทดสอบทีมงานของตัวเองโหดไม่แพ้กัน
ภายใต้บุคลิกสุขุม และเงียบขรึม ไม่เคยตะโกนด่าใคร แต่ก็พร้อมที่จะฉีกทีมงานเป็นชิ้น ๆ ด้วยวิธีการตั้งคำถามของเขา และทีมงานก็มักจะลนลาน เมื่อต้องเข้าไปคุยงานกับ ทิม คุก
ซึ่งความรู้สึกก็คงไม่ต่างจากตอนเด็ก ๆ ที่โดนสุ่มเลขที่ตอบคำถามในชั้นเรียน
แล้วการตั้งคำถามของ ทิม คุก นั้นโหดขนาดไหน ? ลองมาดูตัวอย่าง
ทิม คุก มักจะถามถึงส่วนงานที่พนักงานคนนั้น ๆ ดูแลอยู่ โดยคำถามเหล่านั้น จะลงลึกไปถึงประเด็นปัญหา ให้มั่นใจว่าพนักงานของเขารู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่
ซึ่งคุณสตีฟ ดอยล์ ที่เข้ามาร่วมงานกับ Apple ตั้งแต่ปี 1998 ได้เล่าว่า
ถ้าคุณตอบคำถามของ ทิม คุก ได้ถูกต้อง เขาจะถามต่ออีก 10 คำถาม และถ้าคุณสามารถตอบถูกได้ตลอดทั้งปี จำนวนคำถามอาจลดลงเหลือ 9 คำถาม
แต่ถ้าตอบผิด ทิม คุก จะถามไปอีก 20-30 คำถามเลยทีเดียว
เรียกได้ว่า ทิม คุก ขอรายละเอียดจากทีมงานมากมายจนไม่น่าเชื่อ
แต่การที่ ทิม คุก สร้างกระบวนการนี้ขึ้นมา นั่นก็เป็นเพราะ ต้องการทำให้พนักงานรู้ตัวว่า พวกเขาเข้าใจงานที่ทำจริง ๆ หรือยัง และใส่ใจรายละเอียดได้เพียงพอหรือไม่
นอกจากที่จะเป็นการทดสอบว่าพนักงานเข้าใจงานที่กำลังทำอยู่จริงหรือไม่
วิธีนี้ยังช่วยให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย
เพราะเมื่อ ทิม คุก ถามคำถามเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วพนักงานไม่สามารถตอบได้อย่างละเอียดยิบย่อย
นั่นแสดงว่าเราก็ยังไม่เข้าใจปัญหาจริง ๆ
แล้วเมื่อเราไม่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ๆ เราจะแก้ไขมันถูกได้อย่างไร ?
ซึ่งวิธีนี้ก็ได้ผลมาก ๆ เพราะจะทำให้พนักงานสำนึกอยู่เสมอว่า ต้องรู้หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบของตัวเองให้ดีที่สุดอยู่เสมอ เพราะไม่รู้ว่าจะถูกสุ่มเรียกไปถามเมื่อไร และถ้าหากตอบผิด ก็คงรู้สึกไม่ต่างอะไรกับการโดนเชือดทั้งเป็น
ซึ่งทั้งวิธีของสตีฟ จอบส์ และ ทิม คุก ก็ทำให้เห็นว่า การที่พนักงานสามารถเข้าใจสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่
มันมีส่วนทำให้ Apple สามารถเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคได้ดี
และสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาจนครองใจผู้ใช้ได้ทั่วโลก..
References
-https://www.inc.com/geoffrey-james/steve-jobs-hated-powerpoint-you-should-too-heres-what-to-use-instead.html
-หนังสือ Tim Cook: The Genius Who Took Apple to the Next Level เขียนโดย Leander Kahney
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.