กรณีศึกษา วิธีปลดล็อกมูลค่าธุรกิจ ด้วยกลยุทธ์ “Spin-off” ของปูนซิเมนต์ไทย

กรณีศึกษา วิธีปลดล็อกมูลค่าธุรกิจ ด้วยกลยุทธ์ “Spin-off” ของปูนซิเมนต์ไทย

20 ม.ค. 2022
กรณีศึกษา วิธีปลดล็อกมูลค่าธุรกิจ ด้วยกลยุทธ์ “Spin-off” ของปูนซิเมนต์ไทย | THE BRIEFCASE
ปัจจุบัน กลยุทธ์ที่บริษัทแม่ใช้เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทในเครือนั้นมีหลากหลายวิธี
หนึ่งในนั้นก็คือการ “Spin-Off”
ซึ่งเครือ “ปูนซิเมนต์ไทย” หรือ SCC ที่ผ่านมา ก็เป็นกรณีศึกษาที่ดี ในการนำวิธีนี้มาสร้างการเติบโต
แก่องค์กร
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
การ Spin-Off อธิบายง่าย ๆ คือ
การที่บริษัทแม่ แยกส่วนธุรกิจบางส่วนของตนเองออกมา โดยส่วนที่แยกออกมาเป็นบริษัทใหม่นั้น จะอยู่ในรูปของบริษัทย่อย หรือบริษัทร่วม ที่มีผู้บริหารคนละชุดกับบริษัทแม่
ซึ่งเมื่อบริษัทถูก Spin-Off ออกมาจากบริษัทแม่แล้ว บริษัทลูกก็จะเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างภายในบริษัท รวมทั้งเสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรก (Initial Public Offering: IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
แล้วประโยชน์ของการ Spin-Off แยกบริษัทแม่-ลูก แบบนี้ มันมีข้อดีอะไร ?
ที่ผ่านมาก็มีหลายบริษัทที่ทำวิธีนี้ เนื่องจากมีประโยชน์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
- ช่วยให้รับรู้มูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจที่ถูก Spin-Off ออกมา
- ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่หุ้นของบริษัทแม่
- การระดมทุนของบริษัทลูก ยังช่วยลดภาระ หรือการช่วยเหลือทางการเงินจากบริษัทแม่
- ทำให้บริษัทลูกที่ถูก Spin-Off เป็นที่รู้จักในหมู่นักลงทุนมากขึ้น
- ช่วยเพิ่มอิสระในการบริหารงานของบริษัทลูก
เพื่อให้เข้าใจภาพชัดมากยิ่งขึ้น
ลองมาดูเคสของบริษัทที่นำกลยุทธ์นี้มาใช้ หนึ่งในนั้นคือ เครือปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC ที่มีการ Spin-Off บริษัทลูกออกมาทั้งช่วงที่ผ่านมา และรวมไปถึงแผนในอนาคต
ก่อนอื่นเรามาดูภาพรวมธุรกิจของ SCC กันก่อน
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC นั้นทำธุรกิจการลงทุน (Holding Company) โดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพ็กเกจจิง
โดยผลการดำเนินงานของ SCC ในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2562 รายได้ 446,827 ล้านบาท กำไร 32,014 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 407,217 ล้านบาท กำไร 34,144 ล้านบาท
9 เดือนแรก ปี 2564 รายได้ 394,902 ล้านบาท กำไร 38,867 ล้านบาท
ปัจจุบัน เมื่อแยกสัดส่วนรายได้ของ SCC จาก 3 ธุรกิจหลักนั้น จะมาจาก
- ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 33%
- ธุรกิจเคมิคอลส์ 45%
- ธุรกิจแพ็กเกจจิง 22%
ซึ่งจะเห็นว่า ธุรกิจเคมิคอลส์และธุรกิจแพ็กเกจจิงของ SCC นั้น มีสัดส่วนรายได้ไม่น้อยเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับรายได้รวมของทั้งเครือ SCC
อย่างกรณีของธุรกิจแพ็กเกจจิงที่ SCC ได้ Spin-Off บริษัทลูกชื่อ “SCGP” หรือ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปลายปี 2563
มาวันนี้มูลค่าของธุรกิจแพ็กเกจจิงที่อดีตเคยถูกซ่อนอยู่ในบริษัทแม่ ก็มีมูลค่าบริษัท (Market Capitalization) มากกว่า 270,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ การที่ SCC นั้น ถือหุ้นอยู่ใน SCGP กว่า 72% ก็ทำให้มูลค่าหุ้น SCGP ที่ SCC ถืออยู่นั้นมีมูลค่าสูงกว่า 190,000 ล้านบาท
ซึ่งถ้าหาก SCC ไม่ทำการ Spin-Off ธุรกิจแพ็กเกจจิงออกมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เราอาจไม่ได้เห็นการปลดล็อกมูลค่าของธุรกิจนี้ ที่มีมูลค่าเป็นหลักแสนล้านบาท
โดยเหตุผลหลักที่ SCC ต้องการ Spin-Off ธุรกิจแพ็กเกจจิง เพราะต้องการเพิ่มความแข็งแกร่งเพื่อให้บริษัทลูกอย่าง SCGP มีความได้เปรียบคู่แข่งในเรื่องของการเงิน
ขณะที่ในอนาคตบริษัทก็กำลังวางแผนที่จะ Spin-Off ธุรกิจเคมิคอลส์ ให้เข้ามาระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
เนื่องจาก SCC มองว่า กลยุทธ์นี้จะทำให้ ธุรกิจเคมิคอลส์ มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และพร้อมสำหรับรองรับโอกาสในการขยายธุรกิจเคมิคอลส์ในอนาคต
ไม่ว่าจะเป็นขยายกำลังการผลิตในภูมิภาคอาเซียน และการเข้าไปลงทุนถือหุ้นหรือซื้อกิจการอื่น ๆ
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังจากที่ SCC ประสบความสำเร็จในการทำ Spin-Off ธุรกิจแพ็กเกจจิงเรียบร้อยแล้ว การ Spin-Off ธุรกิจเคมิคอลส์ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเครือ SCC มากแค่ไหนในอนาคต..
References
-สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน SCC, https://www.set.or.th/
-แบบแสดงรายการข้อมูลปี 2563, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
-https://scgnewschannel.com/th/scg-news/scgp-ipo/
-https://scc.listedcompany.com/misc/presentations/20211130-scc-virtual-ndr-and-conference.pdf
-https://www.set.or.th/th/regulations/simplified_regulations/common_shares_p1.html?printable=true
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.