กรณีศึกษา Jeff Bezos ใช้เวลาไม่กี่สิบปี สร้างบริษัทให้ใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก

กรณีศึกษา Jeff Bezos ใช้เวลาไม่กี่สิบปี สร้างบริษัทให้ใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก

22 ธ.ค. 2021
กรณีศึกษา Jeff Bezos ใช้เวลาไม่กี่สิบปี สร้างบริษัทให้ใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก | THE BRIEFCASE
“มีโอกาส 30% ที่ธุรกิจของผมจะประสบความสำเร็จ และมีโอกาสสูงมากที่คุณจะสูญเสียเงินทั้งหมดที่ให้ผมมา” เป็นประโยคที่ เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ Amazon ได้บอกกับพ่อแม่ของเขาในปี 1995
ที่น่าสนใจคือ ในตอนที่พ่อแม่นำเงินมาให้ เจฟฟ์ เบโซส ก่อตั้งธุรกิจนั้น
พวกเขายังไม่ได้เข้าใจคำว่าอินเทอร์เน็ตเลย..
แต่ด้วยความที่เห็น เจฟฟ์สนใจและตั้งใจมากในการทำธุรกิจขายหนังสือออนไลน์ พวกเขาก็พร้อมที่จะสนับสนุนเงินให้แก่ลูกชายของเขา
และก็อย่างที่ทุกคนเห็นกันในวันนี้..
เพราะ 26 ปี จากวันเริ่มต้น วันนี้ Amazon ก็กลายมาเป็น บริษัทผู้ให้บริการเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซรายใหญ่
และมีมูลค่าบริษัทมากเป็นอันดับต้น ๆ ในโลกใบนี้
Amazon ในวันนี้ มีมูลค่าราว 60 ล้านล้านบาท
เทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คิดเป็นมากกว่า 4 เท่า ของ GDP ของประเทศไทย
และ เจฟฟ์ เบโซส ก็กลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของโลก ณ ปัจจุบัน
แล้วเส้นทางของ Amazon กว่าจะยิ่งใหญ่อย่างวันนี้ เป็นอย่างไร ?
ถ้าพูดถึงชื่อบริษัทดัง ๆ ระดับโลก Amazon น่าจะเป็นหนึ่งในชื่อที่หลายคนนึกถึง
เพราะนี่คือเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดของโลก และยังสยายปีกไปทำธุรกิจเทคโนโลยีอื่น เช่น ธุรกิจให้บริการคลาวด์แพลตฟอร์ม Amazon Web Services (AWS)
ลองมาดูสถิติที่น่าสนใจ ของอดีตสตาร์ตอัปรายนี้ ที่ใช้เวลาไม่ถึง 3 ทศวรรษ ในการก้าวมาเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก
- เป็นเว็บไซต์ค้าปลีกที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา
- แต่ละวันมีผู้ใช้งานกว่า 300 ล้านคน ซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ของ Amazon
- กินส่วนแบ่งยอดขายกว่า 49% ของตลาดอีคอมเมิร์ซในสหรัฐอเมริกา
รายได้และกำไรของ Amazon
ปี 2018 รายได้ 7.8 ล้านล้านบาท กำไร 336,000 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 9.4 ล้านล้านบาท กำไร 389,000 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 12.9 ล้านล้านบาท กำไร 717,000 ล้านบาท
แต่รู้ไหมว่า กว่าที่ Amazon จะก้าวมายิ่งใหญ่ขนาดนี้
ช่วงแรก ๆ ผู้ก่อตั้งอย่าง เจฟฟ์ เบโซส ต้องดิ้นรนอย่างมาก เพื่อหาเงินทุน มาใช้ทำธุรกิจ
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในปี 1986 ซึ่งเป็นปีที่เขาเรียนจบมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
หลังเรียบจบเขาเริ่มทำงานเป็นลูกจ้างให้หลายบริษัทเป็นเวลากว่า 8 ปี จนถึงปี 1994
ซึ่งช่วงนี้เขาได้เริ่มทำธุรกิจขายหนังสือออนไลน์ไปด้วย ด้วยความเชื่อที่ว่า อินเทอร์เน็ตกำลังจะเปลี่ยนโลกของทุกคนในอนาคต
แผนธุรกิจของเขาคือ ต้องการที่จะสร้างเว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ให้สามารถเอาชนะร้านขายหนังสือรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง Borders และ Barnes & Noble ให้ได้
ความท้าทายในตอนเริ่มแรกของ เจฟฟ์ เบโซส คือการขอระดมทุนเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อมาก่อตั้งธุรกิจที่คิดไว้
ในช่วงแรกมีเพียงไม่กี่คนที่เห็นด้วย และเข้ามาร่วมหัวจมท้ายกับภารกิจนี้ของเขา
หนึ่งในนั้นคือ พ่อบุญธรรมและแม่ของเขา ที่ได้ให้เงินแก่เขามาจำนวน 245,573 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อมาทำธุรกิจดังกล่าว แม้ว่าทั้งคู่จะไม่มีความรู้เรื่องอินเทอร์เน็ตในเวลานั้นเลยก็ตาม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวของ เจฟฟ์ เบโซส จะเชื่อว่า การเติบโตของโลกอินเทอร์เน็ตจะช่วยให้ธุรกิจของเขาน่าจะไปได้สวย แต่เขาก็ไม่อยากให้พ่อแม่ของเขาคาดหวังกับมันมากนัก
ถึงขนาดที่ตัวเขานั้นบอกว่า “มีโอกาสเพียง 30% ที่ธุรกิจของผมจะประสบความสำเร็จ หรือมีโอกาสถึง 70% ที่ธุรกิจนี้จะล้มเหลว พูดง่าย ๆ ว่ามีโอกาสสูงมากที่คุณจะสูญเสียเงินทั้งหมดที่ให้แก่ผมมา”..
พอทำไปเรื่อย ๆ แล้วเริ่มเห็นว่าไปต่อได้
เจฟฟ์ เบโซส ก็เริ่มคิดถึงเรื่องการลาออกจากงานประจำ ที่แม้ว่าจะมั่นคงและรายได้ดี เพื่อมาทุ่มเทให้กับธุรกิจขายหนังสือออนไลน์
แม้ว่าตอนนั้นทางครอบครัวเขาไม่ค่อยเห็นด้วย ถึงขนาดที่แม่ของเขาแนะนำว่า ควรจะทำธุรกิจขายหนังสือออนไลน์แค่ในช่วงวันหยุดหรือหลังเลิกงานดีกว่า
อย่างไรก็ตาม เขาก็เลือกที่จะลาออกและมาก่อตั้งบริษัท Amazon อย่างเป็นจริงเป็นจัง โดยเริ่มต้นจากในโรงรถที่บ้านของตัวเองในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 1994
ก่อนหน้าที่จะตั้งชื่อว่า Amazon นั้น เจฟฟ์ เบโซส เคยใช้ชื่อบริษัทว่า Cadabra, Inc. ซึ่งมาจาก “abracadabra” ที่เป็นคาถาเวทมนตร์ชื่อดัง แต่สุดท้ายเปลี่ยนใจเพราะได้แรงบันดาลใจจากชื่อแม่น้ำ Amazon ซึ่งเป็นสายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งก็สอดคล้องกับเป้าหมายของเขา ที่ต้องการเป็นร้านขายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน
นอกจากนี้ การที่ชื่อตัวอักษรนั้นขึ้นต้นด้วยตัว “A” จะช่วยให้ลูกค้าสามารถหาเว็บไซต์ของเขาได้ง่ายขณะที่ค้นหา
แม้ว่าช่วงแรกนั้น Amazon จะขายเพียงแค่หนังสือออนไลน์เท่านั้น แต่ในหัวของเจฟฟ์นั้น เขาวางแผนที่จะขายสินค้าอื่น ๆ ด้วยอยู่ตลอดเวลา
จากร้านหนังสือออนไลน์ ก็ค่อย ๆ ขยับไปขายสินค้าอื่น และบริการด้านอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ ตามมาอีกมากมายในเวลาต่อมา
จนวันนี้ มีการกระจายธุรกิจหลากหลาย เช่น ธุรกิจให้บริการคลาวด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึง ธุรกิจบริการสตรีมมิงเพลง วิดีโอ
ในปี 1997 ที่ เจฟฟ์ เบโซส ได้นำ Amazon เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้น NASDAQ ซึ่งในเวลานั้นมูลค่าบริษัท อยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท
มาวันนี้มูลค่าบริษัทของ Amazon มีมูลค่าประมาณ 60 ล้านล้านบาท และก้าวมาเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดของโลกในวันนี้
คิดง่าย ๆ ว่า ถ้าเราลงทุนในหุ้น Amazon ด้วยเงิน 10,000 บาท ในวันแรกที่บริษัทเข้าตลาดหุ้น มาวันนี้เงินลงทุนก้อนนั้นของเรา จะเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านบาท เลยทีเดียว
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้ไหมว่า เดิมนั้น Jeff Bezos นามสกุล Jorgensen ไม่ใช่ Bezos
ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่าพ่อแท้ ๆ ของเขานั้น มีชื่อว่า Ted Jorgensen ซึ่งเป็นชาวเดนมาร์กที่ครอบครัวอพยพมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
ในเวลาต่อมา Ted Jorgensen ได้แต่งงานกับ Jacklyn ก่อนที่ทั้งคู่จะมีลูกด้วยกันชื่อว่า Jeff Jorgensen อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ตัดสินใจเลิกรากันเมื่อตอนที่ลูกชายของพวกเขานั้นมีอายุเพียง 4 ขวบ
หลังจากนั้น Jacklyn ได้แต่งงานใหม่กับ Miguel Bezos ที่ซึ่งเป็นวิศวกรชาวคิวบาที่อพยพเข้ามาทำงานในสหรัฐอเมริกา
และเมื่อ Miguel Bezos พา Jeff Jorgensen มาอยู่ด้วย เขาก็เปลี่ยนนามสกุลลูกชายบุญธรรมคนนี้ให้เหมือนของเขา จนกลายมาเป็น Jeff Bezos นั่นเอง..
References
-https://www.cnbc.com/2020/09/03/jeff-bezos-thought-there-was-a-30percent-chance-amazon-would-succeed.html
-https://companiesmarketcap.com/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Amazon_(company)
-https://finance.yahoo.com/quote/AMZN/
-https://www.statista.com/statistics/264875/brand-value-of-the-25-most-valuable-brands/
-https://safeatlast.co/blog/amazon-statistics/#gref
-https://www.timesnownews.com/business-economy/companies/article/how-jeff-bezos-started-amazon-became-the-worlds-richest-man/780636
-https://www.cnbc.com/2019/05/16/how-jeff-bezos-dad-who-came-from-cuba-alone-at-16-inspires-him.html
-https://www.businessinsider.com/amazon-jeff-bezos-chose-company-name-2018-5
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.