สรุปเทคนิค เริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ จาก 0 จนเข้าใจ ของนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล

สรุปเทคนิค เริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ จาก 0 จนเข้าใจ ของนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล

17 พ.ย. 2021
สรุปเทคนิค เริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ จาก 0 จนเข้าใจ ของนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล | THE BRIEFCASE
การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เป็นเรื่องที่ดี แต่หลายคนก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน
เพราะเมื่อเป็นศาสตร์ที่เราไม่ได้เชี่ยวชาญหรือเข้าใจ การเริ่มต้นใหม่จาก 0 จึงอาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก
แล้วถ้าหากเราอยากจะเรียนอะไรใหม่ ๆ เราจะเริ่มต้นอย่างไร ?
วันนี้ THE BRIEFCASE ได้หยิบเอาเทคนิคชื่อแปลก ๆ ที่ชื่อว่า “Feynman Technique” ที่ถูกอธิบายโดย Richard Feynman นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง
และเคยได้รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปี 1965
ที่น่าสนใจก็คือ Bill Gates ยังเคยพูดถึง Feynman Technique ไว้ในวิดีโอ
“The Greatest Teacher I Never Had” ว่าเทคนิคนี้ ช่วยย่อยหัวข้อที่ซับซ้อน ออกเป็นข้อย่อย ๆ ที่เข้าใจง่ายได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้เราเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ
หลักการของ Feynman Technique คือ การแบ่งข้อมูลเป็นข้อย่อย ๆ เพื่อให้จัดการได้ง่าย
จากนั้นก็ใช้วิธีมโนภาพขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจข้อมูลเหล่านั้น
โดยการใช้เทคนิค Feynman จะแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน
1. เลือกหัวข้อที่สนใจ และเริ่มศึกษา
ไม่ว่าจะเป็นการเรียนภาษาใหม่ แนวคิดใหม่ หรืออะไรก็แล้วแต่ ให้ดูภาพรวมของเรื่องที่อยากศึกษา
และแยกส่วนต่าง ๆ ออกมาเป็นหัวข้อย่อย ๆ และอธิบายแต่ละหัวข้อว่าคืออะไรแบบง่าย ๆ
หลังจากนั้นจะเป็นหัวใจสำคัญ คือลองพยายามทำความเข้าใจหัวข้อย่อย ๆ เหล่านั้นว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างไร เพื่อให้สามารถมองภาพใหญ่ได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
2. ลองเอาไปอธิบายให้เด็กฟัง
Richard Feynman เคยใช้วิธีนี้ในตอนที่เขากำลังเรียนวาดรูป โดยเขาได้พยายามเอาสิ่งที่เขาเรียนรู้ ไปถ่ายทอดให้เด็ก ๆ อีกที เพื่อดูว่าเขาเข้าใจและนำไปถ่ายทอดให้คนที่ไม่รู้อะไรเลยอย่างเด็ก ๆ ได้หรือไม่
นั่นหมายความว่าการที่เราสามารถอธิบายเรื่องที่เราศึกษาให้คนอื่นเข้าใจได้ง่าย
ก็จะยิ่งช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เราศึกษาได้มากขึ้นไปอีก เพราะเรามีการ “ทำความเข้าใจ”
ข้อมูลที่ได้รับมาและพยายามสื่อสารออกไปในวิธีที่ง่ายที่สุด
3. เช็กให้แน่ใจ ว่าเราเข้าใจข้อมูลชุดนั้นจริง ๆ
หลายครั้งเรามักจะยังใช้คำศัพท์เทคนิคเพื่ออธิบายหัวข้อบางอย่าง
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น อาจหมายความว่าเราไม่ได้เข้าใจจริง ๆ ก็ได้
สิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่ศึกษาได้มากขึ้นอีก คือการที่เราสามารถอธิบายคำศัพท์เทคนิคนั้นออกมาให้กลายเป็นภาษาง่าย ๆ ได้ ให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ๆ ไม่ใช่พูดไปแล้วเราเข้าใจเองอยู่คนเดียว
ซึ่งนอกจากจะสร้างความเข้าใจที่มากขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยเติมเต็มช่องว่างในเรื่องที่เรากำลังศึกษาได้อีกด้วย
4. จัดระเบียบข้อมูลและวิเคราะห์ เพื่อลดความซับซ้อนลง
นำเอาข้อมูลที่เราทำในข้อ 1-3 มาจัดระเบียบให้เป็นระบบที่เหมาะกับตัวเอง
เช่น ถ้าใครถนัดใช้วิธีวาดแผนภาพความคิด (Mind Mapping) ก็อาจใช้การเขียนแผนภาพนั้น เข้ามาช่วย
ให้เห็นความเชื่อมโยงของข้อมูล
หลังจากนั้นก็ลองเปลี่ยนคำศัพท์เทคนิคต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น หรือรูปภาพเพื่อให้เราเข้าใจคำศัพท์เหล่านั้นมากขึ้น ซึ่งการทำแบบนี้ จะมีส่วนทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องที่สนุก เพื่อให้เราไม่ท้อ หรือเบื่อในการศึกษาเรื่องใหม่ ๆ ไปเสียก่อนอีกด้วย
สรุปแล้วเทคนิคของ Feynman ก็คือการที่เราย่อยข้อมูลที่มีจำนวนมาก ๆ ออกเป็นข้อย่อย และค่อย ๆ ทำความเข้าใจไปทีละข้อ
จากนั้นจึงนำข้อมูลย่อยเหล่านั้น มาเชื่อมโยงกันเพื่อทำความเข้าใจข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กันให้มากขึ้น
และนำเอาภาพเข้ามาเป็นตัวช่วยอธิบายในสิ่งที่เข้าใจได้ยาก ก็ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องใหม่ ๆ ได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ความตั้งใจและกระตือรือร้น” ที่จะศึกษาและเรียนรู้สิ่งใหม่
เพราะหากขาดสิ่งเหล่านี้ไป ก็จะทำให้การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น หรือสำเร็จได้ยากอยู่ดี..
References
-https://www.entrepreneur.com/article/379613
-https://medium.com/taking-note/learning-from-the-feynman-technique-5373014ad230
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.