เช็กให้ครบ ! ลงทุนอะไร ลดหย่อนภาษีปี 64 ได้บ้าง ?

เช็กให้ครบ ! ลงทุนอะไร ลดหย่อนภาษีปี 64 ได้บ้าง ?

7 พ.ย. 2021
เช็กให้ครบ ! ลงทุนอะไร ลดหย่อนภาษีปี 64 ได้บ้าง ?
หนึ่งหน้าที่สำคัญของการเป็นประชาชนคนไทย
ก็คือ การยื่นภาษีเงินได้เป็นประจำในทุก ๆ ปี
แต่ก็ไม่ได้แปลว่า รายได้รวมทั้งปีที่เราได้รับ จะนำมาคำนวณภาษีเลยทั้งก้อน
เพราะโดยปกติแล้ว มักจะมี “ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว” มาหักออกไปเสียก่อน
เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาทต่อปี, ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดา 30,000 บาทต่อคน
ซึ่งนอกจากค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว ที่กล่าวมาข้างต้น
รู้หรือไม่ว่า เรายังสามารถลดหย่อนภาษีจากการลงทุนของเราได้ด้วย
คำถามก็คือ แล้วการลงทุนแบบไหน ที่จะช่วยลดหย่อนภาษีได้บ้าง ?
1. กลุ่มประกัน
หลายคนเลือกทำประกันสุขภาพ หรือประกันชีวิต ก็เพราะต้องการความอุ่นใจ
ว่าหากเราเจ็บป่วยหรือเป็นอะไรไป เราก็ยังจะมีวงเงินในการรักษาตัว ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลต่อฐานะการเงินของเรา
รวมทั้งยังไม่เป็นการรบกวนหรือสร้างความกังวลใจให้กับครอบครัวในวันที่เราเจ็บป่วย
ซึ่งนอกจากการทำประกันจะช่วยลดความเสี่ยงของตัวเราแล้ว
รัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน จึงสนับสนุนให้คนไทยที่ทำประกันสุขภาพและประกันชีวิตสามารถนำเบี้ยประกันที่จ่าย มาหักลดหย่อนภาษีได้
โดยปัจจุบันนี้ เบี้ยประกันที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ก็คือ
- เบี้ยประกันชีวิต (ระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป) ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพ ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท
ทั้งนี้ ยอดรวมของเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันสุขภาพ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
ทั้งนี้ เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกับเงินสะสมของ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน, กองทุนรวม RMF, กองทุนรวม SSF และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
นอกจากนี้ หากเราทำประกันสุขภาพให้บิดามารดาที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
เรายังสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา มาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี ได้อีกด้วย
พูดง่าย ๆ ว่า หากเราจะเลือกลงทุนเพื่อจะลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของชีวิตที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ ก็สามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไขข้างต้น นั่นเอง
2. กลุ่มกองทุนรวม
กองทุนรวม เป็นหนึ่งช่องทางลงทุนที่เหมาะสมสำหรับใครก็ตามที่ต้องการลงทุน แต่อาจจะไม่มีเวลามานั่งศึกษาหรือตัดสินใจลงทุนด้วยตัวเอง
ซึ่งหากเราเลือกลงทุนในกองทุนรวม ก็เท่ากับว่า การลงทุนของเราก็จะมีผู้เชี่ยวชาญมาคอยบริหารการลงทุนให้กับเรา
วัตถุประสงค์ของการลงทุน นอกจากจะเป็นการสร้างผลตอบแทนให้กับตัวเราแล้ว
รัฐบาลยังสนับสนุนให้เราลงทุนในกองทุนบางประเภท เพื่อจะได้มีเงินออมระยะยาว หรือมีเงินรองรับในวัยเกษียณ
โดยเรายังสามารถนำเงินสะสมเข้ากองทุนรวมเหล่านี้มาลดหย่อนภาษีได้ด้วย
ปัจจุบันนี้ ประเภทกองทุนรวม ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ นั่นคือ
- กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund หรือ SSF) ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF) ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท
ทั้งนี้ ยอดเงินสะสมเข้ากองทุนทั้งหมดข้างต้น เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ จะนำมาลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
ทีนี้ ประโยคที่ใครหลายคนอาจเคยได้ยินมาว่า “ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว”
ก็น่าจะคล้ายกับประโยชน์ของการลงทุนในกลุ่มประกันและกลุ่มกองทุนรวมข้างต้น
เพราะนอกจากเราจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว
เบี้ยประกันหรือเงินสะสมเข้ากองทุนที่เราจ่ายไป ก็ยังสามารถเอามาลดหย่อนภาษีได้ด้วย นั่นเอง..
References
-https://www.rd.go.th/557.html
-https://www.itax.in.th/pedia/%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.