เรียนรู้ทฤษฎี X ในโลกการทำงาน ผ่านเหตุการณ์ประท้วง ของพนักงาน Amazon

เรียนรู้ทฤษฎี X ในโลกการทำงาน ผ่านเหตุการณ์ประท้วง ของพนักงาน Amazon

15 ต.ค. 2021
เรียนรู้ทฤษฎี X ในโลกการทำงาน ผ่านเหตุการณ์ประท้วง ของพนักงาน Amazon | THE BRIEFCASE
รู้หรือไม่ว่า พนักงานของบริษัท Amazon เคยออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิของตัวเองด้วยเหตุผลที่บริษัทให้สวัสดิการไม่ดีพอ หรือให้ค่าจ้างที่ไม่สมเหตุสมผล
คำถามก็คือ ทำไมบริษัทระดับโลกอย่าง Amazon ที่มีเจ้าของอย่าง เจฟฟ์ เบโซส มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก ถึงได้บริหารองค์กรให้พนักงานรู้สึกเช่นนั้น..
กรณีศึกษานี้ สามารถอธิบายได้โดย ทฤษฎี X และ ทฤษฎี Y โดย Douglas McGregor ศาสตราจารย์ด้านการบริหารธุรกิจ ของสหรัฐอเมริกา
แล้ว ทฤษฎี X คืออะไร ?
การบริหารแบบ ทฤษฎี X คือการบริหารแบบผู้นำมีสิทธิ์เด็ดขาด และเข้าไปจัดการทุกเรื่องราวของพนักงาน ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็น การบริหารพนักงานแบบยิบย่อย หรือ “Micro Management”
พอเป็นเช่นนี้ ผู้นำที่มีแนวคิด ทฤษฎี X หลายครั้งมักจะมองเห็นประสิทธิภาพของพนักงานลดลง
เขาเลยต้องหมั่นตรวจสอบพนักงานอยู่ตลอดเวลา ใครทำดีก็ให้รางวัล ใครทำไม่ดีก็โดนทำโทษ
ในแง่ของสถานการณ์การทำงานจริง เรามักจะเห็นผู้นำที่ใช้ทฤษฎี X ในบริษัทที่มีพนักงานจำนวนมาก และต้องทำงานเป็นกระบวนการทำงานเดิม ๆ ที่ซ้ำไปซ้ำมา
โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นองค์กรที่มีรูปแบบการบริหารตามลำดับขั้น ระดับผู้จัดการ ระดับหัวหน้าฝ่าย
พูดง่าย ๆ ทฤษฎี X ก็คล้ายกับรูปแบบผู้นำในยุคเก่าที่เราพบเห็นกันอยู่บ่อย ๆ นั่นเอง
แล้ว ทฤษฎี Y คืออะไร และมีความแตกต่างจาก ทฤษฎี X อย่างไร ?
การบริหารแบบ ทฤษฎี Y คือการบริหารที่เปิดโอกาส และให้อิสระต่อพนักงาน
ไม่ว่าจะเป็นการออกความคิดเห็น วิธีการทำงาน หรือการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง
จึงไม่แปลกใจ หากผู้นำที่มีแนวคิด ทฤษฎี Y มักจะมีความไว้ใจพนักงานของตนเองในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อมั่นว่า พนักงานทุกคนล้วนมีทักษะที่ดีในการทำงาน และมีแรงจูงใจที่ดีในการทำงาน
ดังนั้น พนักงานที่ถูกบริหารโดยทฤษฎี Y จึงไม่จำเป็นต้องมีรางวัลใด ๆ มาคอยกระตุ้นการทำงาน หรือสร้างแรงจูงใจในการทำงาน เพราะพนักงานกลุ่มนี้ต้องการทำงานให้ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว และยังมีความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในงานที่ทำ อีกด้วย
ในแง่ของสถานการณ์การทำงานจริง ทฤษฎี Y มักถูกนำไปใช้กับบริษัทที่มีการบริหารองค์กรแบบ Agile หรือ การบริหารที่จะเน้นความคล่องตัว ไม่ค่อยมีลำดับขั้นซ้ำซ้อน
ทีนี้ หากย้อนกลับมาดู กรณีศึกษาของ Amazon ที่มีพนักงานมากกว่า 770,000 คน
ต้องยอมรับว่าพอเป็นการทำงานในรูปแบบของโรงงานที่มีกระบวนการทำงานเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมา
จึงทำให้การบริหารแบบทฤษฎี X ที่มีความเด็ดขาด และมักจะให้รางวัลเพิ่มเมื่อจบภารกิจ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่สร้างผลลัพธ์แบบ Win-Win สำหรับทั้งสองฝ่าย
แต่สาเหตุที่มีการประท้วงเกิดขึ้น ก็เพราะรางวัลหรือผลตอบแทนที่เขาได้รับ ยังไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ จึงต้องทำการประท้วงเรียกร้อง เพื่อให้ผู้บริหารมองเห็นปัญหาส่วนนี้ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า Amazon กำลังปรับตัวเข้าไปหาการบริหารแบบทฤษฎี Y มากขึ้น
แม้แต่ตัวของ เจฟฟ์ เบโซส เองพอได้เห็นเหตุการณ์การประท้วงและรับรู้ความรู้สึกของพนักงานมากขึ้น
ก็เริ่มประกาศว่าจะเข้าไปดูแลพนักงานอย่างทั่วถึง และพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างให้พนักงานทุกคน อีกด้วย..
References
-https://www.mindtools.com/pages/article/newLDR_74.htm
-https://www.breakingviews.com/columns/edward-hadas-amazons-ultra-xy-management-style/
-https://www.businessinsider.com/jeff-bezos-amazon-worker-earns-more-than-millions-of-americans-2020-4
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.