สรุป 5 กลยุทธ์สร้าง Shopee จากไม่มีใครรู้จัก สู่แอปช็อปปิงชื่อดัง

สรุป 5 กลยุทธ์สร้าง Shopee จากไม่มีใครรู้จัก สู่แอปช็อปปิงชื่อดัง

30 ก.ย. 2021
สรุป 5 กลยุทธ์สร้าง Shopee จากไม่มีใครรู้จัก สู่แอปช็อปปิงชื่อดัง | THE BRIEFCASE
“ย้อนกลับไป 7 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่ค่อยเข้าใจเลยว่า Cashless Society คืออะไร
วงการช็อปปิงออนไลน์ก็ยังเป็น PC Based ทำกิจกรรมกันด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
และก็ยังไม่ได้มีใครพัฒนาแพลตฟอร์มช็อปปิงออนไลน์บนสมาร์ตโฟนกันอย่างจริงจัง”
นี่เป็นประโยคบางส่วนสะท้อนถึงโอกาสของการทำธุรกิจในช่วงเวลานั้นของ คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ CEO ของบริษัท Sea (ประเทศไทย) พร้อมกับเล่าต่อว่า..
“ช่วงเวลานั้น เรามองเห็นภาพ Mobile First คือเชื่อว่าสมาร์ตโฟนจะเข้ามามีบทบาทสร้างความสะดวกสบายในชีวิตคนเรามากขึ้น ช่องว่างตลาดมีอยู่แล้ว เราเลยเข้ามาพัฒนาแอปพลิเคชันช็อปปิงออนไลน์เป็นเจ้าแรกชื่อว่า Shopee ที่เรียกได้ว่าเป็น Nobody ของตลาดเลยในตอนนั้น”
แล้วจากแอปพลิเคชัน Nobody ในวันนั้น..
Shopee กลายมาเป็นแอปพลิเคชันอันดับต้น ๆ ของวงการช็อปปิงออนไลน์ได้อย่างไร ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
ย้อนกลับไปที่ Day 1 จุดเริ่มต้นของธุรกิจเมื่อปี 2014
Shopee พยายามตีโจทย์การเป็นแอปพลิเคชันช็อปปิงออนไลน์ให้แตกด้วย 2 หลักสำคัญนั่นคือ
1. Define Unmet Need คือการค้นหาความต้องการที่ยังไม่มีใครตอบสนองให้
2. User Experience คือทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่าใช้ของเราแล้วจะมีความสุขที่สุด
และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น กลายมาเป็น 5 กลยุทธ์ที่ปลุกปั้น Shopee จนประสบความสำเร็จ นั่นก็คือ..
1. Shopee ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานด้วย สมาร์ตโฟน อย่างแท้จริง
เมื่อเชื่อว่าเทรนด์ “Mobile First” ต้องมาแน่นอน Shopee จึงถูกออกแบบด้าน User Experience (UX) และ User Interface (UI) เพื่อให้ใช้งานบนมือถือเป็นหลักมาตั้งแต่แรก จึงง่ายในการพัฒนาแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน
2. Shopee ถูกพัฒนาให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานทั้งฝั่งผู้ซื้อ และผู้ขาย
ขณะที่เจ้าอื่นในตลาดกำลังให้ความสำคัญในฝั่งผู้ซื้อ
Shopee กลับมองเห็นความสำคัญของผู้ใช้งานทั้ง 2 ฝั่งคือ ผู้ซื้อและผู้ขาย
และเลือกตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อให้เกิดผลกระทบด้านเครือข่ายที่ดีต่อธุรกิจ
จึงไม่แปลกใจ หากจะเห็นฟีเชอร์ต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือทั้งในฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย
ฟีเชอร์ฝั่งผู้ซื้อ เช่น
- Shopee Guarantee เพื่อสร้างความมั่นใจว่า หากไม่ได้รับสินค้า เรายินดีคืนเงินให้
- ฟีเชอร์ Chat เพื่อให้ผู้ซื้อคุยตรงกับผู้ขายได้เลย โดยไม่ต้องออกจากแอปพลิเคชัน
- ระบบการจ่ายชำระเงิน ShopeePay เพื่อปิดธุรกรรมการซื้อขายได้ภายในแอปพลิเคชัน เพิ่มความสะดวกให้มากขึ้น
ฟีเชอร์ฝั่งผู้ขาย เช่น
- เปิดสอนการขายออนไลน์ การใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพในการขายมากที่สุด
หลังจากนั้น แอปพลิเคชัน Nobody ที่มีชื่อว่า Shopee ก็กลายเป็นแอปพลิเคชันชื่อดังที่มีฐานผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ
และอาจเรียกได้ว่าเป็นอีกแอปพลิเคชันที่ต้องเจอบนหน้าจอสมาร์ตโฟนของใครหลายคน
3. Shopee สามารถปรับตัวทันต่อโอกาสที่เข้ามาเสมอ
หลังจากทำธุรกิจไปได้ 2 ปี Shopee สังเกตเห็นความต้องการของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไป
เช่น ผู้ใช้งานไม่ได้ต้องการแค่สินค้าราคาถูก แต่ยังต้องการสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน
ทำให้ Shopee ปรับรูปแบบบริการจากเดิมที่เป็น Marketplace แบบ C2C
เริ่มขยับขยายช่องทางช็อปปิงออนไลน์แบบ B2C ที่เรียกว่า “Shopping Mall”
ซึ่งก็สอดรับกับความต้องการของผู้ประกอบการสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น
ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ขาย SME ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
Shopee ก็กลับมาตั้งคำถามว่า ควรจะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้งานกลุ่มนี้ได้อีกบ้าง
คำตอบก็คือ รูปแบบบริการคลังเก็บสินค้า และบริการบริหารสินค้าคงเหลือ
เพื่อให้ธุรกิจค้าขายดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นมากที่สุด
สังเกตไหมว่าทั้งหมดนี้ Shopee กำลังพยายามสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ
เพื่อตอบโจทย์สิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการให้ได้มากที่สุด นั่นเอง
4. Shopee สร้าง Engagement กับผู้ใช้งานเสมอ
โจทย์ของ Shopee คือพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งาน
ให้เป็นเสมือนเพื่อนที่สามารถพบเจอกันได้ตลอดเวลา ใครที่ว่าง ๆ ก็เข้ามาเล่นในแอปพลิเคชันได้
ไม่จำเป็นว่าจะต้องเข้าแอปพลิเคชัน Shopee แค่การซื้อขายสินค้าเพียงเท่านั้น
จึงไม่แปลกใจ หาก Shopee จะมีสิ่งยั่วยวนต่าง ๆ ให้ผู้ใช้งานเข้าแอปพลิเคชันตลอดเวลา
เช่น Shopee Game, Shopee Coins, Shopee Free หรือ Shopee Live
จนทำให้ใครหลายคนในตอนนี้ ต้องเข้าแอปพลิเคชัน Shopee ในยามว่างไปเรียบร้อยแล้ว
5. Shopee เจาะตลาดแต่ละประเทศแบบ Deep Localization
ปัจจุบัน Shopee ให้บริการไปแล้วใน 7 ประเทศ
นั่นคือไทย, ไต้หวัน, สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์
แต่รู้หรือไม่ว่า แอปพลิเคชัน Shopee ในแต่ละประเทศเป็นเอกเทศ และไม่ได้เกี่ยวข้องกัน
เท่ากับว่าปัจจุบัน Shopee มีทั้งหมด 7 แอปพลิเคชันนั่นเอง
ทั้งนี้ ก็เพื่อการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานในแต่ละประเทศจริง ๆ
เช่น ถ้า Shopee ในประเทศไทย ต้องการลบหรือเพิ่มฟีเชอร์ ก็สามารถทำได้ทันที
โดยที่ไม่ต้องไปกังวลว่าจะไปกระทบกับ Shopee ในประเทศอื่นหรือไม่
ตัวอย่างฟีเชอร์ยอดนิยมในบ้านเราก็คือ Shopee Live
เพราะนอกจากจะเป็นฟีเชอร์ที่ถูกอกถูกใจฝั่งผู้ซื้อในยุคนี้แล้ว
Shopee Live ยังช่วยเพิ่มยอดขายให้ผู้ขายบางรายสูงถึง 30 เท่าเลยทีเดียว
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตอบโจทย์เรื่อง Engagement ที่ผู้ซื้อผู้ขายสามารถโต้ตอบกันได้เลยทันที นั่นเอง
มาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 กลยุทธ์สำคัญที่ก่อให้เกิดความสำเร็จของ Shopee มาถึงทุกวันนี้ได้
ก็คือ การมองไปข้างหน้า และปรับตัวเข้าหาโอกาสอยู่เสมอ
ภายใต้แนวคิดสำคัญ 2 ประการที่ไม่มีวันตกยุคก็คือ Define Unmet Need และ User Experience นั่นเอง..
References
-บทสัมภาษณ์ คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ CEO ของ Sea (ประเทศไทย) -https://www.youtube.com/watch?v=c4MfwI5kuj4
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.