รู้จัก Brain Fog ภาวะสมองไม่สดใส เพราะเร่งรีบทำงาน มากเกินไป

รู้จัก Brain Fog ภาวะสมองไม่สดใส เพราะเร่งรีบทำงาน มากเกินไป

23 ก.ย. 2021
รู้จัก Brain Fog ภาวะสมองไม่สดใส เพราะเร่งรีบทำงาน มากเกินไป | THE BRIEFCASE
เคยสังเกตตัวเองกันไหมว่า ทำไมตั้งแต่เข้าสู่วัยทำงาน ถึงมีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้นมากมาย
เช่น ขี้หลงขี้ลืม นอนไม่ค่อยหลับ บางทีก็กินข้าวไม่ค่อยลง ปวดหัวเรื้อรัง ขาดความคิดสร้างสรรค์ หรือความสดใสที่เคยมี มันหายไป ไม่เหมือนเมื่อก่อน..
หากใครที่มีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เราอาจจะกำลังมีภาวะ Brain Fog หรือภาษาไทยก็คือ “ภาวะสมองล้า”
Brain Fog คืออะไร แล้วเราจะดูแลตัวเอง ไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้อย่างไรบ้าง ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง..
ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า Brain Fog คือ ภาวะที่เราอาจจะเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งเกิดจากการที่สมองเราผ่านการทำงานอย่างหนัก เป็นระยะเวลานาน
เช่น พยายามเร่งรีบทำงานให้เสร็จไว ๆ
การนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน
การตอบสนองต่อทุกงานทันที เช่น ในระหว่างที่กำลังทำงานอยู่ มีแจ้งเตือนอีเมลขึ้นมา ก็รีบกดเปิด และตอบข้อความทันที
หากทำพฤติกรรมเหล่านี้บ่อย ๆ ระบบประสาทของเราก็จะเสียสมดุล เพราะมีการไปรบกวนการหลั่งสารสื่อประสาทในสมอง ส่งผลให้สมองของเราแย่ลงเรื่อย ๆ ซึ่งทางการแพทย์ก็เปรียบเทียบอาการนี้ เหมือนกับมีหมอก (Fog) ลงในสมอง ทำให้สมองเราไม่สดใส และคิดอะไรไม่ออก
อีกทั้งภาวะ Brain Fog ยังกลายเป็นต้นเหตุของโรคอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น โรคอ้วน โรคกระเพาะ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ภาวะซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น
แล้วเราจะดูแลตัวเองไม่ให้เกิด ภาวะ Brain Fog ได้อย่างไร ?
1. พยายามหลีกเลี่ยงการทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน
การเร่งรีบทำทุกงานพร้อมกัน หรือมือหนึ่งกินข้าว อีกมือพิมพ์งาน ก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ
เพราะจะทำให้สมาธิของเราถูกแยกส่วน ส่งผลให้สมองต้องทำงานหนักขึ้น
ดังนั้นควรทำอะไรให้เสร็จทีละอย่าง และจริงจังกับการจัดสรรเวลาให้มากขึ้น
2. พยายามลด การรับทุกงานมาทำในทันที
หากเรากำลังโฟกัสไปที่งานใดงานหนึ่งอยู่ แล้วมีสิ่งรบกวน หรือมีแจ้งเตือนเด้งเข้ามาบ่อย ๆ การที่เราตอบรับตลอดในทันทีทันใด ก็จะทำให้ความสามารถในการโฟกัสของเรา ลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ
ดังนั้น ควรกำหนดเวลาย่อย ๆ ในแต่ละวันว่าจะเช็กแจ้งเตือนในช่วงไหน หรือควรทำงานสำคัญให้เสร็จก่อน ค่อยไปทำงานอย่างอื่น หรือลองพูดคุยกับที่ทำงาน เพื่อช่วยกันหาจุดสมดุล
3. ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และกินอาหารที่มีประโยชน์
ออกกำลังกาย นอนให้พอ และกินอาหารที่ดีมีสารบำรุงสมอง เช่น น้ำมันปลา แปะก๊วย วิตามิน C, A, E, B ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะในสมองได้
และแม้เรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนต่างรู้ว่าสำคัญ แต่กลับละเลยกันอยู่บ่อย ๆ
หากหลีกเลี่ยงการทำงานหนักไม่ได้ ก็ควรจะต้องแบ่งเวลาเพื่อทำเรื่องสำคัญเหล่านี้ให้กับตัวเองด้วย และเราต้องหยุดมองข้ามเรื่องพื้นฐานเหล่านี้
เพราะถ้าเราทำมันได้ไม่ดี ก็เหมือนกับว่าตัวเรานั้น กำลังทำงานหาเงินอย่างหนัก เพื่อเอามารักษาตัวเอง..
References:
-https://www.bangkokhospital.com/content/brain-fog-syndrome
-https://www.medicalnewstoday.com/articles/anxiety-and-brain-fog#anxiety-and-brain-fog
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.