วิธีบริหารองค์กรของ ชายผู้กอบกู้ เจแปนแอร์ไลน์ จากการล้มละลาย

วิธีบริหารองค์กรของ ชายผู้กอบกู้ เจแปนแอร์ไลน์ จากการล้มละลาย

30 ก.ค. 2021
วิธีบริหารองค์กรของ ชายผู้กอบกู้ เจแปนแอร์ไลน์ จากการล้มละลาย | THE BRIEFCASE
“เกือบ 700,000 ล้านบาท” คือ มูลค่าหนี้ที่ครั้งหนึ่งเคยทำให้สายการบินเจแปนแอร์ไลน์เข้าสู่ภาวะล้มละลาย เรื่องนี้จึงทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามตามหาคนที่ใช่ เพื่อมาช่วยแก้ปัญหาสายการบินแห่งนี้
ที่สุดแล้วในปี 2009 รัฐบาลญี่ปุ่นก็ติดต่อไปยังชายที่ชื่อว่า Kazuo Inamori ที่มีอายุกว่า 77 ปีในตอนนั้น
ว่าแต่ คุณ Kazuo Inamori คือใคร ?
แล้วทำให้สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ที่กำลังโคม่า ฟื้นตัวกลับมาได้อย่างไร ?
ย้อนกลับไปในปี 1951 สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ ถูกก่อตั้งขึ้นครั้งแรกโดยรัฐบาลญี่ปุ่น
เพื่อทำหน้าที่เป็นสายการบินแห่งชาติ รองรับการขนส่งในยุคที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
นับจากนั้น เจแปนแอร์ไลน์ ก็เจริญเติบโตเรื่อยมา..
- ปี 1954 เริ่มทำการบินไปยังต่างประเทศเป็นครั้งแรกคือ ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
- ปี 1961 เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นโตเกียว
- ปี 1987 รัฐบาลญี่ปุ่นทำการปฏิรูปเจแปนแอร์ไลน์จากรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชนแบบเต็มรูป เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน และสร้างกำไรให้แก่องค์กรมากยิ่งขึ้น
ซึ่งในช่วงปี 1980-1990 นั้น ถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยมีตัวเลข GDP เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ภายในระยะเวลาแค่ 10 ปี
ช่วงนั้นเอง หลากหลายธุรกิจในญี่ปุ่นมีรายได้และกำไรเติบโตอย่างมาก และเรื่องนี้ก็ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นอย่าง เจแปนแอร์ไลน์ ได้รับผลดีตามไปด้วย
พอเรื่องเป็นแบบนี้ เจแปนแอร์ไลน์ จึงทำการขยายธุรกิจมากขึ้น
และสิ่งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งหายนะในเวลาต่อมา..
- การขยายฝูงบินที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งตามมาด้วยค่าใช้จ่ายคงที่ที่สูง เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าซ่อมบำรุง
- การแตกไลน์ธุรกิจไปลงทุนในโรงแรม ที่แม้จะเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสายการบิน แต่ก็ไม่ได้ทำผลกำไรให้เจแปนแอร์ไลน์มากนัก
ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ เจแปนแอร์ไลน์ ใช้เงินลงทุนไปอย่างมหาศาล จนทำให้เงินสดในบริษัทค่อย ๆ ลดลง
ซ้ำร้าย.. เมื่อวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์เกิดขึ้นในปี 2007-2008 เข้ามาเร่งจุดชนวนระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่ในสายการบินแห่งนี้ให้กลับมาปะทุเร็วขึ้น
เพราะทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมกับการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจการบิน ทำให้รายได้และกำไรของเจแปนแอร์ไลน์ลดลง สวนทางกับภาระหนี้สินที่พุ่งสูงเฉียด 700,000 ล้านบาท
เหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้หุ้นของเจแปนแอร์ไลน์ (JAL) ถูกถอดออกจากตลาดหุ้นโตเกียวในปี 2010 รวมไปถึงการประกาศเข้าสู่ประกาศล้มละลาย และนับเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นที่เกิดกับบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่น เข้ามาช่วยเหลือ เจแปนแอร์ไลน์ ในตอนนั้นอย่างไร ?
ในตอนนั้น รัฐบาลญี่ปุ่น พยายามหาทางช่วยแก้ปัญหาของเจแปนแอร์ไลน์หลายวิธี
เช่น การพยายามนำสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ ไปควบรวมกับสายการบินออลนิปปอนแอร์เวย์ส (ANA)
ก็ต้องถูกพับไป เนื่องจากผู้ถือหุ้นของ ANA ไม่เห็นด้วย เพราะการควบรวมจะทำให้ผลประกอบการ ANA แย่ลง
ในตอนนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นเชื่อว่า ถ้าปัญหาของเจแปนแอร์ไลน์ไม่ได้รับการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
เรื่องนี้จะส่งผลวงกว้าง อาทิ สายการบินเอง ผู้ถือหุ้น หน่วยงานราชการ สถาบันการเงินหลายแห่ง
รวมไปถึงความน่าเชื่อถือของผู้โดยสารที่มีต่อสายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่น อีกด้วย
พอเรื่องเป็นแบบนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ไปเชิญคุณ Kazuo Inamori อายุ 77 ปี ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานของบริษัท เพื่อช่วยแก้วิกฤติในครั้งนี้ของเจแปนแอร์ไลน์
ซึ่งคุณ Inamori คือผู้ก่อตั้งบริษัท เคียวเซร่า (Kyocera) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์เซรามิกที่มีชื่อเสียงระดับโลกของญี่ปุ่น
แล้วคุณ Inamori พลิกฟื้น เจแปนแอร์ไลน์ ได้อย่างไร ?
สิ่งแรก ๆ ที่เขาทำคือ การปรับโครงสร้างองค์กร และองค์ประกอบการทำงานในหลายส่วน เช่น
- การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร
- การปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องบินให้ประหยัดน้ำมันมากขึ้น
- การตัดลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอื่น ๆ เช่น การลดจำนวนพนักงาน, การตัดลดเส้นทางการบินที่ไม่สร้างกำไร, การลดค่าใช้จ่ายเงินบำนาญ
นอกจากนี้ คุณ Inamori ยังมองว่า ผู้บริหารและพนักงานของสายการบินแห่งนี้ มีจุดอ่อนในเรื่องการขาดความใส่ใจและขาดความรับผิดชอบด้านต้นทุนการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานในองค์กร
เขาจึงนำวิธีการที่เรียกว่า “การบริหารจัดการแบบอะมีบา” (Amoeba Management) เข้ามาใช้กับเจแปนแอร์ไลน์ด้วย
การบริหารจัดการแบบอะมีบา ก็คือการแบ่งองค์กรออกเป็นหน่วยย่อย มีการดูแลงานกันเอง แต่ละหน่วยย่อยมีการบริหารจัดการงานของแต่ละฝ่ายอย่างมีอิสระ ที่สำคัญแต่ละฝ่ายมีการดูแลบริหารจัดการต้นทุน และแสวงหาผลกำไรของแต่ละฝ่ายของตัวเอง
วิธีการนี้ประสบความสำเร็จดีทีเดียว เพราะทำให้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เคยถูกใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยก่อนหน้านี้ค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ รัฐบาลและธนาคารต่าง ๆ ยังให้ความสนับสนุนเรื่องเงินช่วยเหลือ ด้านเจ้าหนี้ของเจแปนแอร์ไลน์ ตกลงที่จะลดหนี้บางส่วนให้ด้วย
เจแปนแอร์ไลน์ จึงเริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปี หลังจากที่คุณ Inamori เข้ามาแก้ไขปัญหา
และในปี 2012 เจแปนแอร์ไลน์ก็เริ่มกลับมาทำกำไรอีกครั้ง เป็นเงินกว่า 62,000 ล้านบาท พร้อมกลับมาเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว และฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ นับแต่นั้นเป็นต้นมา..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ รู้ไหมว่า วันนี้มูลค่ากิจการ (Market Cap) ของเจแปนแอร์ไลน์ อยู่ที่ 309,000 ล้านบาท ซึ่งใหญ่กว่า การบินไทยที่มีมูลค่า 7,200 ล้านบาท อยู่ถึง 43 เท่า..
References:
-https://en.wikipedia.org/wiki/Japan_Airlines#Restructure_and_bankruptcy
-https://www.jal.com/en/outline/history/index_1961s.html
-https://data.worldbank.org/country/JP
-https://www.japantimes.co.jp/news/2020/01/19/business/corporate-business/10-years-japan-airlines-bankruptcy-bailout/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Kyocera
-https://www.reuters.com/article/jal-bailout/japan-airlines-to-get-7-6-bln-financial-aid-kyodo-idINTFA00654820100106
-https://www.globalasia.org/v5no2/feature/the-real-story-of-the-problems-at-japan-airlines_kazuhiko-toyama
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.