โมเดล สถานีรถไฟกลางไทเป มีห้างข้างใน 5 แบรนด์ ดึงคนมาใช้ วันละ 600,000 คน

โมเดล สถานีรถไฟกลางไทเป มีห้างข้างใน 5 แบรนด์ ดึงคนมาใช้ วันละ 600,000 คน

2 พ.ย. 2023
โมเดล สถานีรถไฟกลางไทเป มีห้างข้างใน 5 แบรนด์ ดึงคนมาใช้ วันละ 600,000 คน | BrandCase
สถานีรถไฟกลางของไทยเรา คือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งตอนนี้เป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีผู้ใช้บริการเฉลี่ย วันละ 136,000 คน
แต่รู้หรือไม่ ถ้าเทียบกับ จำนวนผู้มาใช้บริการสถานีรถไฟกลางไทเป หรือ Taipei Main Station ที่อยู่ในไต้หวัน เราจะเทียบเขาไม่ติดเลย
เพราะสถานีรถไฟกลางไทเป มีคนมาใช้บริการ เฉลี่ยวันละ 600,000 คน คิดเป็นกว่า 4 เท่า ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
ที่เจ๋งอีกเรื่องคือ ข้างในสถานีรถไฟกลางไทเป ถูกสร้างให้มีห้างอยู่ข้างใน ถึง 5 ห้างด้วยกัน
แล้ว Taipei Main Station ฮับการขนส่งทางราง ที่มีห้างพ่วงถึง 5 แห่งข้างใน มีอะไรน่าสนใจบ้าง ?
BrandCase สรุปให้ แบบเห็นภาพ เข้าใจง่าย ๆ
Taipei Main Station หรือ สถานีกลางไทเป อยู่ภายในไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน
ข้างในสถานีแห่งนี้ เป็นศูนย์รวมของระบบขนส่งมวลชนทุกประเภทในไต้หวัน ตั้งแต่
-สถานีรถไฟใต้ดินในเมืองไทเป หรือ MRT 2 สาย
-สถานีรถไฟฟ้า เชื่อมสนามบินนานาชาติเถาหยวน 2 สาย
-สถานีรถไฟ Local Train
-สถานีรถไฟความเร็วสูง หรือ High Speed Rail
-สถานีรถบัสวิ่งข้ามเมือง หรือ Bus Station
แล้วจุดเริ่มต้นของสถานี Taipei Main Station เป็นอย่างไร ?
ทำไมถึงกลายเป็นเส้นเลือดหลัก ของระบบขนส่งมวลชนในไต้หวัน
Taipei Main Station ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1891
ซึ่งถ้าเทียบไทม์ไลน์กับบ้านเรา ก็คือสร้างก่อนสถานีหัวลำโพงได้เพียง 19 ปี เท่านั้น
หลังจากนั้น Taipei Main Station ก็ได้มีการปรับปรุงและสร้างสถานีใหม่ อยู่หลายครั้ง
เพื่อให้สถานีสามารถรองรับการใช้งานของคนไต้หวัน ที่มีมากขึ้นทุกปี
จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1980s เป็นปีที่เศรษฐกิจของไต้หวัน เติบโตถึงขีดสุด
มีคนมาใช้บริการสถานีรถไฟ Taipei Main Station หนาแน่นมากขึ้น
ทำให้ในปี 1985 รัฐบาลไต้หวัน จึงตัดสินใจรื้อสถานีรถไฟเก่า และสร้างสถานีรถไฟแห่งใหม่ที่บริเวณเดิม
พร้อมกับวางโครงสร้างของระบบรางรถไฟ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ใหม่ ไม่ว่าจะเป็น
-ย้ายรางรถไฟ ภายในเมืองไทเปทั้งหมด ไปไว้ใต้ดิน
-ออกแบบตัวสถานี ให้สามารถเชื่อมกับโครงการรถไฟใต้ดิน และรถไฟความเร็วสูงในไทเป
ซึ่งเป็นโครงการ ที่รัฐบาลไต้หวันและรัฐบาลท้องถิ่น ได้วางแผนเอาไว้ว่าจะสร้างต่อจากนี้
หลังจากที่ Taipei Main Station สถานีใหม่ ได้ก่อสร้างเสร็จในปี 1989 ก็มีระบบรถไฟต่าง ๆ เข้ามาเชื่อมต่อกับ Taipei Main Station โดยเริ่มจาก
-รถไฟฟ้าใต้ดินเมืองไทเป หรือ Taipei Metro สายแรกของไต้หวัน เปิดให้บริการปี 1996
ซึ่งต่อมา Taipei Metro ก็มีระบบรถไฟฟ้าใต้ดินเชื่อมต่อกับ สถานี Taipei Main Station สำเร็จในปี 1997
ที่น่าสนใจคือ รถไฟฟ้าใต้ดินเมืองไทเป เปิดให้บริการก่อนรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ซึ่งเป็นสายแรกในประเทศไทย เพียง 3 ปีเท่านั้น
-รถไฟความเร็วสูง หรือ High Speed Rail เปิดให้บริการปี 2007
โดยมีเส้นทางจากเมืองไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน ไปยังเมืองเกาสง เมืองใหญ่อันดับ 2 ของไต้หวัน
-สถานีรถบัสวิ่งข้ามเมือง หรือ Taipei Bus Station (คล้าย ๆ สถานีขนส่งหมอชิต 2 บ้านเรา) เปิดให้บริการปี 2009
ซึ่งภายใน Taipei Bus Station ก็มีศูนย์การค้าชื่อว่า Q Square
-รถไฟฟ้า Taoyuan Metro ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน เปิดให้บริการปี 2017
ซึ่งระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดนี้ ต่างก็มีฮับการขนส่ง ที่สถานีเดียวกัน นั่นคือ Taipei Main Station
แต่ไฮไลต์สำคัญอีกเรื่อง ของแผนปรับปรุงพื้นที่ชั้นใต้ดินของสถานี
คือการพัฒนาเป็น “ศูนย์การค้าใต้ดิน” เชื่อมกับสถานีรถไฟ
โดยหลังจากที่ Taipei Main Station ได้สร้างเสร็จ ในปี 1989
รัฐบาลไต้หวัน ได้ตัดสินใจทุบตลาด Chunghwa ซึ่งเคยเป็นอดีตตลาดนัดขายของยอดนิยมในไทเป
แล้วได้สร้างศูนย์การค้าใต้ดินติดกับ Taipei Main Station ทั้งหมด 2 แห่ง
คือ Taipei City Mall และ Station Front Metro Mall ไว้รองรับพ่อค้าแม่ค้า ที่เคยขายของในตลาดนัด Chunghwa
นอกจากนี้ ก็ยังมีศูนย์การค้า K Underground Mall และ Zhongshan Metro Mall ซึ่งเป็นศูนย์การค้าใต้ดินเชื่อมต่อกับสถานี Taipei Main Station อีกด้วย
การทำแบบนี้ ก็ถือเป็นการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี
หรือก็คือ การพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบ Transit Oriented Development (TOD) อีกรูปแบบหนึ่ง
เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นได้ทำกับเมืองใหญ่ ๆ อย่างโตเกียวและโอซากา จนประสบความสำเร็จ
ซึ่งนอกจากสถานี Taipei Main Station จะเป็นจุดเชื่อมต่อของระบบคมนาคม ที่เชื่อมถึงทั้งรถไฟ รถบัส และสนามบินแล้ว
ปัจจุบัน Taipei Main Station ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าใต้ดิน ทั้งหมด 4 แห่ง นั่นคือ
-Taipei City Mall
-Station Front Metro Mall
-K Underground Mall
-Zhongshan Metro Mall
ซึ่งสินค้าที่นำมาขาย ก็จะมีทั้งร้านอาหาร ร้านเครื่องแต่งกาย ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า
ไปจนถึงร้านของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว อย่างร้านเครื่องราง สำหรับสายมู
ร้านขายหนังสือการ์ตูนอานิเมะ ร้านขายเกม ฟิกเกอร์ และของสะสม
นอกจากนี้ Taipei Main Station ก็ยังเชื่อมกับศูนย์การค้า Q Square
ซึ่งเป็นแหล่งช็อปปิงสินค้าแบรนด์เนม และเป็นที่ตั้งของ Taipei Bus Station อีกด้วย
สรุปคือถ้ารวมกันแล้ว ใน Taipei Main Station เป็นสถานีรถไฟ ที่มีห้างด้านใน ทั้งหมด 5 ห้าง เลยทีเดียว
จากการเป็นทั้งฮับระบบขนส่ง และศูนย์การค้า ภายในที่เดียว
ทำให้ Taipei Main Station กลายเป็นสถานีที่มีรถไฟเข้าออก มากกว่า 5,000 ขบวนต่อวัน
และมีผู้ใช้บริการมากกว่าวันละ 600,000 คน
ซึ่งถ้าหากย้อนกลับมา ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ของไทย
ที่ปัจจุบัน เป็นจุดหมายปลายทาง ของเส้นทางรถไฟจากทั่วทุกภูมิภาค แทนที่สถานีรถไฟหัวลำโพง
แถมยังเป็นจุดเปลี่ยนรถ ของรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ 3 สาย นั่นคือ
-รถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงเข้ม ที่วิ่งจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปรังสิต
-รถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงอ่อน ที่วิ่งจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปตลิ่งชัน
-และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน
ทำให้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีคนมาใช้บริการมากขึ้นทุกปี
โดยปัจจุบัน ก็มีผู้ใช้บริการประมาณ วันละ 136,000 คน
ซึ่งถ้าเทียบกับ สถานีรถไฟกลางไทเป ที่มีคนมาใช้บริการ เฉลี่ยวันละ 600,000 คน
โดยผู้มาใช้บริการสถานีรถไฟกลางไทเป คิดเป็นกว่า 4 เท่า ของผู้มาใช้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ในบ้านเรา
ในขณะที่จำนวนประชากรของประเทศไทย มากเป็น 3 เท่า เทียบกับ จำนวนประชากรของไต้หวัน
นี่เป็นโจทย์ที่สำคัญมาก สำหรับผู้ดูแลสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
ว่าจะทำอย่างไร ให้สามารถดึงคนเข้ามาใช้บริการให้ได้มากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ได้มาก ๆ แบบไม่เสียพื้นที่ไปเปล่า ๆ
เพื่อให้สมกับการเป็น Main Station ที่ยิ่งใหญ่ของไทย และของอาเซียน ให้ได้..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.