กรณีศึกษา Samsung จากแบรนด์ไม่มีคนซื้อ สู่แนวหน้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์

กรณีศึกษา Samsung จากแบรนด์ไม่มีคนซื้อ สู่แนวหน้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์

8 พ.ค. 2023
กรณีศึกษา Samsung จากแบรนด์ไม่มีคนซื้อ สู่แนวหน้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ | BrandCase
ปี 2022 Samsung ครองส่วนแบ่ง 27.4% ในตลาดสมาร์ตโฟน เป็นอันดับ 1 ของโลก
และครองส่วนแบ่ง 19.6% ในตลาดทีวี เป็นอันดับ 1 ของโลก เช่นกัน..
ตัวเลขส่วนแบ่งทางการตลาดนี้ สะท้อนว่า Samsung คือแนวหน้าของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในทุกวันนี้
แต่รู้หรือไม่ว่าครั้งหนึ่ง เครื่องใช้ไฟฟ้าของ Samsung กลับถูกมองว่าเป็นสินค้าคุณภาพแย่ ที่แทบไม่มีใครอยากซื้อ
แล้ว Samsung เปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวเองอย่างไร ให้กลับมาเป็นที่สนใจของผู้บริโภคได้ ?
BrandCase จะสรุปให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
แรกเริ่มเดิมที Samsung ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากบริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่เริ่มต้นมาจากธุรกิจส่งออกปลาแห้ง ก่อนที่จะขยายมาสู่ธุรกิจ สิ่งทอ, เลี้ยงสัตว์, ค้าปลีก, ประกันภัย
ก่อนที่ในปี 1969 Samsung จะเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการผลิตทีวีขาวดำออกมาขาย
แม้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าของ Samsung จะได้รับความนิยมเป็นอย่างดีในเกาหลีใต้ แต่ในระดับโลกแล้ว แบรนด์ของ Samsung ยังตีตลาดไม่แตก
เนื่องจากราคาสินค้าของ Samsung ในตอนนั้นมีราคาแพงกว่าแบรนด์คู่แข่งจากประเทศญี่ปุ่น เพราะว่าต้นทุนการผลิต ที่ยังควบคุมให้ต่ำกว่าไม่ได้
อีกทั้งคุณภาพของสินค้า ก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น
แต่จุดที่ทำให้ Samsung หันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แบบจริงจัง ก็มาจากการที่ทายาทรุ่นที่ 2 ของ Samsung
“ลีคุณฮี” ได้มาพบความจริงตอนที่เขา เดินทางไปทำธุรกิจที่ ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา และได้เดินสำรวจ ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าในเมือง
เขาพบว่า แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นนั้นถูกวางเรียงรายบนชั้นเป็นอย่างดี
ในขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าของ Samsung กลับเต็มไปด้วยฝุ่น และถูกปล่อยทิ้งไว้ในมุมอับสายตา ที่เมื่อผู้บริโภคเดินผ่านไปผ่านมา ก็จะไม่ได้รับความสนใจ
แล้ว Samsung กลับมาเป็นที่สนใจของผู้บริโภคได้อย่างไร ?
ภายใต้การดูแลของ ลีคุณฮี การที่จะทำให้ Samsung กลายเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือในระดับโลกได้นั้น บริษัทจะต้องเข้าใจเทรนด์ ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และความต้องการของผู้บริโภค
ซึ่ง Samsung ก็รู้ว่า เทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร กำลังจะมีบทบาทมากขึ้น และผู้บริโภคต้องการ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้
Samsung จึงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเต็มที่ ด้วยการเป็นผู้ผลิต ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์, เซมิคอนดักเตอร์ และจอ LCD
และยังแก้ไขโครงสร้างของบริษัทให้การบริหารงานและการดูแลทำได้ง่ายยิ่งขึ้น ด้วยการขายกิจการที่ไม่ทำกำไรทิ้งไป
ในตอนนั้น Samsung มีธุรกิจเยอะแยะ และจับปลาหลายมือมากเกินไป
ทั้งบริษัทรักษาความปลอดภัย, การเงิน, เคมีภัณฑ์ ไปจนถึงธุรกิจในภาคบริการ
และหลายคนคงไม่รู้ว่า Samsung ในตอนนั้น ทำธุรกิจ “ฟาร์มเลี้ยงหมู” ด้วย..
หลังจากนั้น Samsung ก็เร่งพัฒนาคุณภาพของสินค้า และควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
เพราะแม้ว่าตัวเองจะสามารถผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมากแล้ว แต่ปัญหาคือ คุณภาพที่ยังด้อยกว่า แถมยังมีต้นทุนที่สูงกว่าคู่แข่งแบรนด์ญี่ปุ่น
Samsung จึงได้นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของแบรนด์คู่แข่งมาแยกชิ้นส่วนเพื่อศึกษา และปรับปรุงพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของ Samsung ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
และก็ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองขึ้นมา ชื่อว่า “Samsung Research”
เรื่องถัดมาคือ ต้องแก้ดิไซน์สินค้าของ Samsung ให้มีรูปทรงที่สวยงามและโดดเด่นจนมองแค่แวบเดียวก็รู้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของ Samsung
อีกทั้งยังสร้างภาพจำให้ Samsung กลายเป็นแบรนด์แห่งนวัตกรรมผ่านสินค้าต่าง ๆ
เช่น
ปี 2010 เปิดตัวทีวี 3 มิติ รุ่นแรกของโลก
ปี 2013 เปิดตัวทีวีจอโค้ง รุ่นแรกของโลก
ปี 2018 เปิดตัวทีวี ความชัดระดับ 8K
ปี 2019 เปิดตัวทีวีแบบหมุนจอได้ 90 องศา
Samsung ยังออกแบบทั้งรูปลักษณ์ และประสบการณ์การใช้งาน ที่คำนึงถึงการใช้งานของผู้บริโภคด้วย เช่น
-การวางตำแหน่งปุ่ม เปิด-ปิด ให้สามารถกดได้สะดวก
-แผงรูปแบบฟังก์ชันที่เมื่อเห็นก็เข้าใจทันที ใช้งานง่าย
ไม่นานหลังจากจริงจังกับเรื่อง R&D
Samsung ก็กลายเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้นมาเป็นบริษัทระดับโลกอย่างแท้จริง
พวกเขามีแบรนด์สมาร์ตโฟนที่เบียดตำแหน่ง แย่งกันครองตลาดโลกกับแบรนด์ดังอีกฝั่งของโลก อย่าง Apple
พวกเขามีธุรกิจพัฒนาชิปคุณภาพสูง ป้อนให้แบรนด์สมาร์ตโฟนของตัวเองและผลิตให้แบรนด์อื่น
ซึ่งมีซีรีส์ชิปชื่อดังเป็นของตัวเอง อย่าง Exynos
พวกเขามีธุรกิจผลิตหน้าจอแสดงผล ที่เป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลก ทำได้ทั้งหน้าจอทีวี และจอสมาร์ตโฟน
จะจอโค้ง จองอ หรือจอพับ ทำได้หมด
แม้แต่หน้าจอ Super Retina XDR ของ iPhone 14 ที่เป็นคู่แข่งในตลาดสมาร์ตโฟนของ Samsung
ก็ใช้หน้าจอ OLED จาก Samsung..
เรื่องสำคัญสุดท้ายคือ ความหลากหลายของสินค้า
Samsung ทำตั้งแต่สมาร์ตโฟน, ทีวี, ตู้เย็น, แอร์ ไปจนถึงสินค้า Internet of things อื่น ๆ ที่เชื่อมเข้าหากันได้จนเป็นระบบนิเวศของตัวเอง
และ Samsung ก็ทำสินค้าหลายระดับช่วงราคา ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม
เช่น สมาร์ตโฟนที่มีให้เลือกตั้งแต่รุ่นที่มีราคาย่อมเยา อย่าง Galaxy A Series ที่เริ่มต้นเพียงหลักพันบาทต้น ๆ
ไปจนถึงรุ่นเรือธง อย่าง Galaxy S และจอพับได้อย่าง Galaxy Z ในราคาหลักหลายหมื่นบาท
ถึงตรงนี้ก็จะเห็นว่าแม้ Samsung จะอยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มานานกว่า 54 ปีแล้วก็ตาม
แต่ในช่วงแรกนั้นสินค้าของ Samsung กลับไม่ได้รับความนิยมในระดับโลกเท่าที่ควร
ก่อนที่ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา บริษัทจะหันมาใส่ใจกับดิไซน์ และภาพลักษณ์
และที่สำคัญคือเรื่อง “คุณภาพ” ด้วยการทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง จนสร้างความแตกต่างได้
และกลายเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า และเทคโนโลยี อันดับต้น ๆ ของโลก อย่างในปัจจุบัน..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.