กรณีศึกษา เนื้อวากิว สินค้าส่งออก 9,000 ล้าน ของญี่ปุ่น

กรณีศึกษา เนื้อวากิว สินค้าส่งออก 9,000 ล้าน ของญี่ปุ่น

10 เม.ย. 2023
กรณีศึกษา เนื้อวากิว สินค้าส่งออก 9,000 ล้าน ของญี่ปุ่น | BrandCase
“วากิว” คือชื่อเรียก เนื้อวัวระดับพรีเมียม ที่ได้จากวัวสายพันธุ์ที่ถูกเลี้ยงในประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งคำว่า วากิว มาจากพยัญชนะ 2 ตัว
คือ วา ที่แปลว่า ประเทศญี่ปุ่น และ กิว ที่หมายถึง เนื้อวัว
เนื้อวากิวจากประเทศญี่ปุ่น ได้รับการยอมรับจากร้านอาหารทั่วโลก จนในแต่ละปีมีมูลค่าการส่งออก มากกว่า 9,000 ล้านบาท
เรื่องราวของ เนื้อวากิว มีอะไรที่น่ารู้อีกบ้าง ?
BrandCase จะสรุปให้อ่านกัน แบบเข้าใจง่าย ๆ
จริง ๆ แล้ว วัวเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับชาวญี่ปุ่นมามากกว่า 1,000 ปีแล้ว แต่เมื่อก่อนยังนิยมเลี้ยงไว้สำหรับทุ่นแรงในภาคการเกษตรเท่านั้น
โดยคนญี่ปุ่นหันมาบริโภคเนื้อวัว เมื่อประมาณ 155 ปีก่อน ในช่วงยุคปฏิรูปเมจิ
ตอนนั้น ญี่ปุ่น ต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตัวเอง ให้กลายเป็นประเทศที่เจริญทัดเทียมกับประเทศตะวันตก
รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้เปิดประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามา
ไม่ว่าจะเป็น การสร้างรถไฟ, การแต่งกายแบบชาวตะวันตก ไปจนถึงการรับประทานอาหารแบบชาวตะวันตก
ซึ่งการบริโภค เนื้อวัว ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ได้รับมาด้วยเช่นกัน
ด้วยความต้องการบริโภคเนื้อวัวที่เพิ่มมากขึ้น จากทั้งชาวตะวันตกที่เข้ามาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น
รวมถึงชาวญี่ปุ่นที่มองว่าเนื้อวัวเป็นอาหารพรีเมียม ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องนำเข้าเนื้อวัวมาเพื่อบริโภคภายในประเทศ
แต่หลังจากนั้น ญี่ปุ่น ก็เปลี่ยนจากประเทศนำเข้า ไปเป็นประเทศที่ส่งออกเนื้อวัวพรีเมียมแทน..
สาเหตุแรกก็มาจาก เป้าหมายหลักของรัฐบาลในตอนนั้น ที่ต้องการพัฒนาญี่ปุ่นให้มีความทัดเทียมกับชาวตะวันตกในทุก ๆ ด้าน
ซึ่งก็รวมถึงด้าน การผลิตเนื้อวัวคุณภาพด้วยเช่นกัน
รัฐบาลจึงส่งเสริมอุตสาหกรรมการเลี้ยงวัวอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การนำวัวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากยุโรป มาผสมพันธุ์
ไปจนถึงการสร้างโรงฆ่าสัตว์ และสร้างระบบการขนส่งเนื้อวัวไปยังร้านอาหารต่าง ๆ
ส่วนอีกสาเหตุหนึ่ง ที่บีบให้ญี่ปุ่นต้องเน้นเรื่องคุณภาพ มากกว่าปริมาณ ก็เพราะภูมิประเทศที่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด
จึงทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถแข่งขันด้านปริมาณ
กับประเทศคู่แข่งอย่าง บราซิล สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ที่เป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อวัวอันดับต้น ๆ ของโลกได้
ชาวญี่ปุ่นจึงต้องโฟกัสกับการเพิ่มมูลค่า ของเนื้อวัวเป็นหลัก
ซึ่งวิธีที่ญี่ปุ่นทำ ก็อย่างเช่น
-ไม่เน้นเลี้ยงจำนวนมาก ๆ คือเลี้ยงเพียงแค่หลักสิบถึงหลักร้อยตัวต่อฟาร์ม เพื่อให้สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง
-เน้นให้อาหารที่ให้พลังงานสูง และใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 2-3 ปี เพื่อให้เนื้อวัวมีไขมันแทรกในเนื้อได้อย่างเต็มที่
-กรรมวิธีการให้อาหาร ที่จะแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคหรือจังหวัด ที่วัวเหล่านั้นถูกเลี้ยงมา
ตั้งแต่ รำข้าว, ข้าวโพด, ถั่วเหลือง, ข้าวบาร์เลย์ ไปจนถึงเบียร์ และสาเก
ตัวอย่างเช่น “โอลีฟวากิว” จากเกาะโชโดะ ในจังหวัดคางาวะ
โดยโอลีฟวากิว จะถูกเลี้ยงด้วยผลมะกอกซึ่งปลูกในเกาะนั่นเอง
โดยปกติแล้ว วัวจะไม่กินผลมะกอกสด เนื่องจากรสชาติที่ฝาด เกษตรกรจึงต้องนำผลมะกอกไปคั้นน้ำมันออก และตากแห้ง ก่อนที่จะนำไปเป็นอาหารวัว
ซึ่งผลลัพธ์ของการเลี้ยงวัวด้วยผลมะกอกป่น ก็คือ ลายเนื้อของเนื้อวากิวที่ได้ จะมีไขมันแทรกอยู่ในเนื้อมากกว่าเนื้อวากิวชนิดอื่น ๆ
โดยเราสามารถวัดความพรีเมียมของเนื้อวัววากิวได้ ผ่านคะแนน Beef Marbling Score
ซึ่งแบ่งออกเป็น 12 ระดับ ตามลักษณะของไขมัน ที่แทรกอยู่ในเนื้อ
ระดับ 1-4 คือไขมันแทรกอยู่น้อย จนแทบจะไม่มีลวดลายบนเนื้อ
ระดับ 5-7 หรือก็คือเนื้อ A4 ซึ่งไขมันแทรก จนสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน
ระดับ 8-12 หรือก็คือเนื้อ A5 ที่มีไขมันแทรกเป็นจำนวนมาก จนเราสามารถเห็นได้เป็นลายหินอ่อน
ซึ่งโอลีฟวากิวที่ว่าไปนั้น จัดอยู่ในระดับเนื้อวากิว A5
โดยความนุ่มและรสสัมผัสของเนื้อ ก็ยังมีความโดดเด่นมากกว่าเนื้อ A5 ชนิดอื่น ๆ
จนทำให้ เนื้อชนิดนี้มีราคาสูงถึง กิโลกรัมละประมาณ 37,500 บาท เลยทีเดียว
ซึ่งต้องบอกว่า เนื้อวากิวในแต่ละภูมิภาค หรือแต่ละจังหวัดก็มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปอีก
เช่น “เนื้อโกเบ” ก็คือเนื้อวากิวที่ได้จากวัวที่ถูกเลี้ยงในโกเบ จังหวัดเฮียวโกะ
ที่จะอยู่ในระดับประมาณ A4-A5 ไขมันแทรกเนื้อสวยงามกำลังดี ให้ความนุ่มละมุนลิ้น กินแล้วเหมือนละลายในปาก
จากทั้งหมดนี้เองจะเห็นว่า
แม้จุดเริ่มต้นของการบริโภคเนื้อวัวในญี่ปุ่น จะได้รับอิทธิพลมาจากชาวตะวันตก
แต่ชาวญี่ปุ่นก็สามารถพัฒนาสายพันธุ์และวิธีการเลี้ยงวัว ที่มีรสชาติและรสสัมผัส เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้อย่างชัดเจน
จนกลายเป็นเนื้อวัวพรีเมียม ที่ได้รับการยอมรับ
และสร้างมูลค่าส่งออกไปทั่วโลก กว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี อย่างในปัจจุบัน..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.