รู้จักเทคนิคบริหาร แบบปลาดาวกลับหลัง ที่ช่วยให้เรา บริหารงานได้ดีขึ้น

รู้จักเทคนิคบริหาร แบบปลาดาวกลับหลัง ที่ช่วยให้เรา บริหารงานได้ดีขึ้น

27 ต.ค. 2021
รู้จักเทคนิคบริหาร แบบปลาดาวกลับหลัง ที่ช่วยให้เรา บริหารงานได้ดีขึ้น | THE BRIEFCASE
หลาย ๆ ครั้งที่เราทำงานเสร็จ เราอาจจะปล่อยผ่านบ้าง เพราะเราคิดว่าเราทำได้ดีแล้ว
หรือบางครั้ง เราก็ยังรู้สึกว่า งานของเรายังทำให้ดีได้มากกว่านี้
แต่ก็ไม่รู้จะบริหารจัดการอย่างไร ให้งานของเราออกมาดีขึ้น
วันนี้ THE BRIEFCASE จะพามารู้จักกับวิธีบริหารงานแบบ ปลาดาวกลับหลัง
ที่จะทำให้เราบริหารงานในองค์กรได้ดีขึ้น
แล้ววิธีบริหารงานแบบปลาดาวกลับหลัง คืออะไร ?
วิธีบริหารงานแบบปลาดาวกลับหลัง หรือ “The Starfish Retrospective” ถูกพัฒนาขึ้นโดย คุณ Patrick Kua
ซึ่งเขาคิดค้นมาเพื่อต้องการให้ทีมงานได้ไตร่ตรองถึงคุณภาพของงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ มากกว่าแค่การรับรู้ว่า สิ่งไหนที่เราทำดีแล้ว สิ่งไหนที่ยังทำได้ไม่ดี
ดังนั้นแทนที่จะระบุสิ่งที่เกิดขึ้นในการทำงานว่า ส่วนนี้ดีแล้ว ตรงนี้ยังไม่ดี
ก็ให้ทีมระบุความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ว่างานตรงนี้ที่ทำดีแล้ว มันดีเพราะอะไร
หรืองานไหนที่ไม่ดี เราผิดพลาดตรงไหน
ซึ่งวิธีบริหารงานแบบปลาดาวกลับหลัง เราจะต้องแบ่งงานออกเป็น 5 ประเภท ด้วยกัน
จากนั้นระบุลงไปว่า งานที่เรามีอยู่ในมือ เป็นข้อไหน
และเขียนออกมาเป็นแผนภาพที่มีลักษณะ 5 แฉก คล้ายกับรูปร่างของ “ปลาดาว”
โดยงาน 5 ประเภทของการบริหารแบบปลาดาวกลับหลัง คือ
1. สิ่งที่ดี ก็ทำต่อไป
งานไหนที่ทีมทำได้ดีแล้ว ก็ให้สมาชิกในทีมให้ความสำคัญกับสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้น
หรือสิ่งที่สมาชิกในทีมชอบเกี่ยวกับโครงการที่ทำ
แล้วเราได้คุณค่าอะไรจากการทำงานนี้
เช่น ถ้าเราไม่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างหนัก งานนี้ก็จะไม่ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดีเลย
ดังนั้น จงภูมิใจในตัวเองที่อดทนฝึกฝนอย่างหนักเข้าไว้
2. ลดการทำงานบางอย่างลง
งานบางประเภทอาจต้องใช้กำลังคนมาก หรือใช้เวลานานมากในการทำ
แต่ผลงานที่ได้นั้น กลับไม่ได้ยิ่งใหญ่ หรือคุ้มกับเวลาที่เสียไป
ดังนั้น เราควรลดงานประเภทนี้ลง เพื่อให้ไปทำงานอย่างอื่นได้มากขึ้น
เช่น ถ้าต้องประชุมทุกวัน เป็นเวลานาน ๆ แต่กลับไม่มีเป้าหมายหรือข้อสรุปที่ชัดเจน ว่าการประชุมในแต่ละครั้งเราต้องการอะไร
อาจลองลดการประชุมลง และลองไปกำหนด หัวข้อหรือผลสรุปการประชุมให้ชัดเจนมากขึ้น
3. งานไหน หรือกิจกรรมไหน ที่ส่งผลดี ก็ให้ทำเพิ่ม
งานบางงาน หรือกิจกรรมบางอย่างขององค์กร ที่เราทำแล้วรู้สึกว่าเป็นผลดี หรือทำให้องค์กรดีขึ้น เราก็ควรทำสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น
เช่น ถ้าในองค์กรมีการจัดอบรมความรู้ให้พนักงาน
แล้วทำให้พนักงานเก่งขึ้น เราก็ควรจัดอบรมให้มากขึ้น
หรือการคุยงานข้ามทีม ทำให้เราเห็นว่างานของเราเชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง และทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น ก็ให้คุยกันมากขึ้นนั่นเอง
4. งานบางชิ้น ต้องหยุดทำ
งานบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อแนวทางการพัฒนาองค์กร
หรือเป็นงานที่ไม่ได้สร้างมูลค่าอะไรออกมาเลย เราก็ควรหยุดและเลิกทำ
เช่น สำหรับบางองค์กร ที่งานของพนักงานแต่ละคนออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน เช่น งานเขียน 1 บทความ
ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาเขียนอีเมลสรุปว่าแต่ละวันพนักงานทำอะไรไปบ้าง จะได้ไม่เสียเวลา
เพราะมีผลงานออกมาให้เห็นชัดเจนอยู่แล้ว
5. เริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ
การเริ่มทำงานใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่เคยทำมาก่อน จะเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ
เพื่อให้การทำงานมีชีวิตชีวาและสนุกสนานมากขึ้น
ซึ่งการทำสิ่งใหม่ ๆ ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นงานที่เราไม่เคยรับผิดชอบมาก่อน
แต่อาจเป็นการทำกิจกรรมนอกเวลา หรือทำงานอดิเรก ที่ไม่เคยทำมาก่อน
เช่น ปกติแล้ว เรามักเคยนำเสนองานผ่านโปรแกรม PowerPoint ก็อาจจะหันมาลองใช้การพรินต์ใส่กระดาษให้พนักงานทุกคนอ่านและแสดงความคิดเห็นลงไปแทน
ก็ไม่แน่ว่า การทำแบบนี้ อาจทำให้เราได้ไอเดียใหม่ ๆ ก็เป็นได้
การแยกงานออกเป็น 5 ส่วน ตามเทคนิคปลาดาวกลับหลังนี้
จะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของงานโดยรวมได้ลึกซึ้งกว่า
และทำให้พนักงานเข้าใจปัญหาหรือคุณภาพของงานได้ดีกว่าการพูดแค่ว่า งานนี้ดี งานนี้ไม่ดี นั่นเอง..
References
-https://www.teamretro.com/retrospectives/starfish-retrospective/
-https://www.thekua.com/rant/2006/03/the-retrospective-starfish/
-https://www.scatterspoke.com/retrospective-library/starfish-retrospective
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.